Pilot Documents
ตั้งแต่ทำการบินในฐานะนักบินแอร์ไลนส์มาเป็นเวลายี่สิบปี สิ่งสำคัญที่สุดที่ห้ามพลาดเลยก็คือ ต้องนำเอกสารสำคัญติดตัวไปทำการบินด้วย เอกสารดังกล่าวได้แก่ 1.พาสปอร์ต 2.ไลเซ่นส์นักบิน(Pilot License) 3.เมดิคอลไลเซ่นส์ (Medical License) 4.บัตรประจำตัวที่ออกโดยบริษัทหรือที่เรียกกันง่ายๆว่าไอดี (ID หรือ Identity card) และ 5.Crew Member Certificate (CMC)
พาสปอร์ต เป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการเดินทางเข้าออกประเทศ การบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศต้องพกพาสปอร์ตไปด้วยตลอดครับ เดินทางออกจากประเทศ ต้องแสดงพาสปอร์ตให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบ และเมื่อเดินทางเข้าประเทศอื่น ก็มักจะต้องแสดงพาสปอร์ตให้ตม.ของที่นั่นตรวจสอบและลงบันทึกการเข้าออกเช่นกันตามธรรมเนียม บางประเทศเช่นเมืองจีน ตัวเราแค่บินลงไปสนามบินบ้านเค้าแล้วก็บินกลับเลย ไม่ได้ลงไปพักก็ยังต้องรวบรวมพาสปอร์ตของลูกเรือทั้งหมดเอาไปให้เจ้าหน้าที่ตม.จีนตรวจสอบและลงบันทึกการเข้าออก สำหรับพาสปอร์ตของนักบินหรือลูกเรือก็เหมือนกับของบุคคลทั่วไปครับ ไม่ต่างกัน
ตามมาด้วย ไลเซ่นส์นักบิน หรือ Pilot License อันนี้จะแยกย่อยออกเป็นสองประเภทหลักๆสำหรับนักบินแอร์ไลนส์ ถ้าได้ผ่านการฝึกเป็นนักบินจากโรงเรียนการบินที่มีอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ เค้าเรียกว่าหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี หรือ Commercial Pilot License (CPL) ก็จะสามารถนำไปใช้ทำงานได้แล้ว แต่ต้องอยู่ในสังกัดสายการบินใดสายการบินหนึ่งที่มีใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือ AOC ที่ออกโดยกรมการบินพลเรือน
ยกตัวอย่างตัวผมเอง จบหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีจากโรงเรียนการบินของสถาบันการบินพลเรือนหัวหิน ซึ่งผมได้ทุนจากการบินไทยในการเรียน แต่ก่อนนี้ใช้เงินประมาณหนึ่งล้านสองแสนบาท เดี๋ยวนี้กลายเป็นสองล้านกว่าไปแล้ว ยี่สิบปีขึ้นมาถึงสองเท่า ไม่รู้แพงอะไรเพราะราคาน้ำมันก็ขึ้นๆลงๆอย่างที่เห็น สงสัยเงินเฟ้อ การเรียนบินที่หัวหินใช้เวลาประมาณหนึ่งปีครับ ฝึกบินสองร้อยห้าสิบชั่วโมงบิน และมีการเรียนวิชาภาคพื้นด้วย จากนั้นก็ย้ายตัวเองเข้ามาฝึกบินเครื่องบินที่ใช้รับส่งผู้โดยสารจริงอีกเกือบปีกว่าจะได้เป็นนักบินตัวจริง ตอนที่ฝึกบินที่การบินไทยนี่แหละที่ต้องมี Commercial Pilot License อยู่แล้วครับ และใช่ว่าได้ไลเซ่นส์นี้แล้วจะใช้ได้ตลอด ต้องมีการต่ออายุด้วย ซึ่งเมืองไทยไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องสอบอะไรเพิ่มเติมเพื่อต่อไลเซ่นส์นี้ครับ พอครบห้าปี กำเงินเดินไปที่กรมการบินพลเรือน พร้อมกับหลักฐานยืนยันชั่วโมงบินในช่วงปีที่ผ่านมาที่เซ็นยืนยันโดยหัวหน้านักบิน และใบคำร้องขอต่ออายุ แค่นี้ก็สามารถต่ออายุใบอนุญาตได้แล้ว
จากนั้นเมื่อชั่วโมงบินและอายุงานมากพอ ก็ถึงโอกาสขยับวิทยฐานะ เปลี่ยนจากใบอนุญาตแบบ Commercial Pilot License(CPL) หรือนักบินพาณิชย์ตรี ไปเป็นนักบินพาณิชย์เอก หรือ Airline Transport Pilot License( ATPL) ที่ต้องสอบเพราะว่าถ้าอยากจะเป็นกัปตันจะต้องมีไลเซ่นส์นี้ให้ได้ก่อนครับ ขั้นตอนเริ่มด้วยต้องไปสมัครสอบวิชาภาคพื้นเกี่ยวกับความรู้ทางการบินต่างๆราวๆเจ็ดหรือแปดวิชา เช่น อุตุนิยมวิทยา การวางแผนการบิน เครื่องวัดเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งต้องสอบให้ผ่านทั้งหมดก่อน ไปสอบที่กรมการบินพลเรือนครับ สอบตกรายวิชาใดก็ต้องสอบซ่อมใหม่ พอผ่านขั้นตอนนี้ไปก็ถึงการสอบภาคอากาศ โดยสายการบินต้องประสานงานให้เจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือนทำการตรวจสอบนักบินโดยไปดูการทำงานจริงบนอากาศ เจ้าหน้าที่ของกรมที่ทำหน้าที่ดังกล่าวมีน้อยมากครับ รอคิวนานจนเกือบจะถอดใจไปหลายคน พอไปดูเสร็จก็ถือได้ว่าสิ้นสุดกระบวนการสอบ และได้รับการบันทึกศักย์การบินใหม่ เป็นนักบินพาณิชย์เอกหรือ ATPL รอจ่อคิวเทรนกัปตันต่อไป เมื่อได้ ATPL แล้ว บางบริษัทเช่นการบินไทย มีขั้นตอนเพิ่มเติมคือต้องทำการตรวจสอบการบินโดยครูการบินของบริษัทเอง เพื่อดูมาตรฐานการบินของนักบิน แล้วจึงอัพเกรดขึ้นเป็น Senior Copilot ซึ่งจะได้รับการเพิ่มขีดบนบ่าจากข้างละสองขีดครึ่งเป็นสามขีดเต็มครับ รวมถึงได้รับการเพิ่มค่าไลเซ่นส์ด้วย พร้อมกับสิทธิ์บางอย่าง เช่นสิทธิ์ในการจองตั๋วเดินทางและได้นั่งในชั้นธุรกิจ(เมื่อว่างเท่านั้น ต้องขอคอนเฟิร์ม เดี๋ยวจะเข้าใจผิด)
ใน Pilot License จะมีการประทับความสามารถในการใช้วิทยุในการบินหรือ Flight Radiotelephony Operator และความสามารถทางภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างบินหรือ Language Proficiency Requirementซึ่งจะแบ่งออกเป็นสามระดับ คือ 4 ,5 และ 6 ซึ่งถ้าได้ระดับ6 นี่คือขั้นเมพขิงครับ สอบได้ครั้งเดียวใช้ได้ตลอดอายุการบินจนเกษียณเลย แต่ถ้าเป็นระดับ4หรือ5 ต้องกลับมาสอบต่ออายุอีกทุกสามปีและหกปีตามลำดับ
เมดิคอลไลเซ่นส์ หรือใบแพทย์ นักบินต้องทำการตรวจสุขภาพประจำปีจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากกรมการบินพลเรือน อย่างน้อยหนึ่งปีต้องตรวจหนึ่งครั้ง สถาบันที่เราตรวจกันประจำก็คือ เวชศาสตร์การบิน ตรงโรงพยาบาลภูมิพลครับผม เดี๋ยวนี้มีเพิ่มมาหลายโรงพยาบาลแล้ว เช่น บำรุงราษฏร์ กรุงเทพ เป็นต้น แต่ต้องนัดหมายล่วงหน้าครับ แต่ถ้าเป็นที่เวชศาสตร์การบินนี่ เค้าเปิดทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ เว้นวันหยุดราชการและเสาร์อาทิตย์ขั้นตอนการตรวจสุขภาพของผู้ทำการในอากาศนี่ก็คล้ายๆการตรวจสุขภาพทั่วไปครับ ใช้เวลาไม่นานในการตรวจ คืนก่อนไปตรวจต้องงดอาหารหลังเที่ยงคืน พอตอนเช้าห้ามทานอาหารครับ พุ่งตรงไปที่เวชศาสตร์การบิน รีบยื่นเอกสารขอตรวจ เสร็จแล้วจ่ายเงิน เดินกระไดขึ้นไปปิดตาเจาะเลือดเพราะกลัวเป็นลม เสร็จแล้วเดินหนีบแขนที่เพิ่งเจาะเลือดเสร็จไปเอ๊กซเรย์ปอดต่อเลย ตามด้วยตรวจสายตา ตรวจการได้ยิน ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจฟัน จบด้วยการวัดน้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน และพูดคุยกับคุณหมอที่จะสรุปให้เราฟังแบบสั้นๆถ้าไม่เจออะไรผิดปกติในขั้นต้น แต่ถ้าเจออะไรนี่ก็มีหนาวเหมือนกัน อาชีพนักบินต้องการคนที่สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ครับ ต้องรักษาสุขภาพให้ดีพอสมควร ถ้าคุณหมอไม่ออกใบแพทย์ให้นี่ จบเลยครับพี่น้อง
บัตรประจำตัวที่บริษัทออกให้หรือไอดี นักบินและลูกเรือต้องหนีบติดกระเป๋าเสื้อทำงานตลอดเวลาครับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สนามบินและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่สนามบิน อนุญาตให้เดินผ่านหรือเข้าสู่เขตเฉพาะภายในสนามบิน อย่างที่การบินไทยนี่ วันไหนลืมเอาไอดีมา กลับบ้านอย่างเดียวครับ หมดสิทธิ์ไปบินแน่นอน
สุดท้ายก็คือ Crew Member Certificate ซึ่งถ้าบินไปประเทศแถวยุโรป เช่นที่เยอรมัน เค้าต้องให้เราแสดงบัตรอันนี้แทนพาสปอร์ตครับ คือแทนที่จะโชว์พาสปอร์ตให้เค้าดูตอนเข้าหรือออกประเทศเค้า ลูกเรือเพียงแค่แสดงบัตรนี้ให้เค้าเห็นก็โอเคครับ แต่อย่างไรก็ตาม พาสปอร์ตยังคงต้องมีอยู่เหมือนเดิมครับ
นอกจากนี้ยังมีใบอนุญาตบางประเภทที่นักบินต้องพกพาติดตัวในกรณีที่ทำหน้าที่แตกต่างออกไป เช่นใบอนุญาตครูการบิน หรือใบอนุญาตศิษย์การบิน ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย สาธยายไม่จบสิ้น แต่หลักๆแล้ว ต้องมีเอกสารทั้งห้าประเภทเสมอเมื่อทำหน้าที่ในการบิน ยกเว้นเฉพาะพาสปอร์ตที่หากบินภายในประเทศ ไม่จำเป็นต้องนำไปครับ แต่นักบินเราก็จะพกติดตัวไว้เสมอ เคยมีเคสที่ต้องถูกเปลี่ยนเที่ยวบินกระทันหันจากเที่ยวบินในประเทศไปเป็นเที่ยวบินที่ต้องบินออกนอกประเทศ นักบินจะปฏิเสธว่าไม่มีพาสปอร์ตไม่ได้ครับ อันนี้บริษัทมีเคือง อาจถูกลงโทษฐานที่ประมาทไปหน่อย และทำให้ต้องเสียเวลาเรียกนักบินท่านใหม่มาบินแทน
นักบินอย่างผม กว่าจะย่างเท้าออกจากบ้านเพื่อไปบิน ต้องตรวจแล้วตรวจอีก กลัวจะลืม ลืมที่เมืองไทยยังพอทำเนา อย่างมากก็ถูกไล่กลับบ้านพร้อมกับอาจถูกลงโทษเล็กน้อยโดยบริษัท แต่ถ้าไปถึงที่หมายที่ต่างประเทศแล้วไม่มีเอกสารสำคัญให้ตรวจนี่ บอกได้คำเดียวครับ
เละ
——————
ขอขอบคุณรูปสวยๆจาก
http://cdn.airplane-pictures.net/…/upl…/2014/9/21/460278.jpg
http://cdn.airplane-pictures.net/…/upl…/2014/9/21/460278.jpg
ติดตามอ่านเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น