7 ธันวาคม 2557

สนามบินในเมืองไทย...ที่ไหนบินยาก ( ภาคแรก )

สนามบินในเมืองไทย...ที่ไหนบินยาก ( ภาคแรก )

ตั้งแต่เป็นนักบินการบินไทยมาได้เกือบจะครบยี่สิบปี มีประสบการณ์ในการนำเครื่องขึ้นลงมาหลายสนาม ความยากง่ายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพสนาม อุปสรรคที่อยู่รอบๆสนามอันได้แก่ภูเขา ทะเล ตึกสูง เสาไฟฟ้า รวมไปถึงทิศทางของรันเวย์ และทิศทางลมที่พัดผ่านสนามบิน เลยจะลองมาเรียบเรียงให้อ่านกันพอขำนะครับ เอาเฉพาะสนามบินในประเทศที่ผมเคยบินมาแล้วสักห้าสนามก่อน และไม่ได้เรียงลำดับความยากง่ายนะครับ

ปล. ข้อความต่อจากนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆเพื่อความบันเทิง มิได้มีเจตนาให้เกิดวิตกจริตแต่อย่างใด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ผู้อ่านอายุไม่ควรต่ำกว่า 13 ปี เพราะอ่านแล้วจะงง

1.สนามบินสุวรรณภูมิ( VTBS,BKK) พี่ใหญ่สุดในประเทศ เปิดมาได้พักใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องระบบนำร่อง (Navigation Aids) ต่างๆ เพราะครบสมบูรณ์ มีระบบ ILS (Instrument Landing System) ที่นักบินสามารถตามสัญญาณบอกทิศทางเข้าหาสนามคือ Localizer และสัญญาณไฟฟ้าบอกแนวร่อนคือ Glideslope ลงไปได้เลย และในกรณีหมอกลงจัด ทัศนวิสัยต่ำมากๆ ประมาณ 300เมตร ก็ยังสามารถทำการลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ ในปัจจุบันมีสองรันเวย์ คือ 01L/19R กับ 01R/19L รันเวย์ที่อยู่ทางตะวันออกจะยาวกว่ารันเวย์ด้านตะวันตก จึงเน้นใช้วิ่งขึ้นเป็นหลัก แต่จะมีสลับไปวิ่งขึ้นทางรันเวย์ฝั่งตะวันตกบ้างเพราะปัญหาเรื่องมลภาวะเสียงในพื้นที่รอบๆสนามบิน ความยากของสุวรรณภูมิอยู่ตรงที่เครื่องบินขึ้นลงเยอะมาก กว่าจะวิ่งขึ้นหรือลงจอดได้นานพอสมควร โดยเฉพาะช่วงเวลายอดนิยม และเนื่องจากปัญหาของการเวคเตอร์ (Vectoring)เครื่องบินให้ไม่ผ่านพื้นที่หวงห้ามในบริเวณรอบๆสนามบิน เลยทำให้เดาได้ยากว่าเราจะได้บินลงตอนไหน บางทีก็เร็ว บางทีก็ช้า นักบินไทยคุ้นเคยอยู่แล้วเลยไม่เท่าไหร่ แต่นักบินต่างชาติค่อนข้างกังวลกันมาก จึงได้รับการจัดอันดับจากนักบินให้เป็นสนามบินที่มีความยากในการลงจอดเป็นลำดับต้นๆในเอเซียเลยทีเดียวเชียว 

2.สนามบินภูเก็ต (VTSP,HKT) ไข่มุกแห่งเอเซีย งดงามแอบเสียว มีรันเวย์อยู่เส้นเดียวคือ 09/27 รันเวย์ที่ทิศทางลงไปทางตะวันตกคือรันเวย์ 27 มีสัญญาณ ILS แบบอ๊อฟเซ็ต (Offset) คือไม่ตรงเป๊ะ เอียงนิดๆ ทำให้ใช้ระบบ AUTOLAND ไม่ได้ แต่ก็ง่ายมากสำหรับนักบินเพราะปกติจะปลด Autopilot บินลงเองกันอยู่แล้ว แต่รันเวย์ 09 ซึ่งแนวร่อนจะเป็นทะเล อันนี้ไม่มี ILS แต่จะมีสัญญาณ VOR (Very high Omnidirectional Range) ซึ่งจะเป็นสัญญาณนำร่องบอกทิศทางสนามเท่านั้น ไม่มีมุมร่อนให้บินตาม และต้องการทัศนวิสัยในการลงจอดมากกว่าแบบ ILS นักบินต้องคำนวณแนวร่อนเอง ไม่งั้นจะสูงหรือต่ำไป  ถ้าเราบินมาลงรันเวย์09 นักบินมักจะขอบินแบบ Visual คือใช้สายตามองหารันเวย์แล้วขออนุญาตทางหอบังคับการบินลงไปเองโดยไม่ตามสัญญาณ VOR เพื่อลดเวลาบินและประหยัดน้ำมัน บางครั้งจะเหวอๆเพราะร่อนผ่านทะเลก่อนแตะพื้น จะมีอาการแบบว่าเห็นน้ำแล้วคิดว่าสูง ทิ่มหัวลงไปต่ำเกินจนจะไปเขี่ยพื้นน้ำ ก็มีบ้างครับ ซึ่งก็ต้องมาเน้นกันบ่อยๆถ้าจะบินลงรันเวย์นี้แบบ Visual

อุปสรรคอีกอันคือภูเขาลูกเตี้ยๆข้างรันเวย์ทางฝั่งทิศเหนือ ถ้ากระแสลมแรงๆเนื่องจากพายุ มันจะทำให้เกิดกระแสอากาศรบกวนเครื่องบินอย่างมาก เป็นลมแบบกระชากกระชั้นไร้ทิศทาง ทำให้ควบคุมเครื่องบินได้ยากนิดนึง ถ้าไม่ระวังมีสิทธิ์หลุดรันเวย์เหมือนกัน มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในอดีต

3.สนามบินเชียงใหม่ (VTCC,CNX) สนามบินนานาชาติอีกแห่งที่มีเครื่องขึ้นลงเยอะจนแย่งกันหาที่จอดเครื่อง มีรันเวย์วางตัวในแนวเหนือ-ใต้คือรันเวย์ 18/36 โดยที่รันเวย์ 36 มีสัญญาณ ILS   ปกติจะให้บินลงรันเวย์ 36 และวิ่งขึ้นรันเวย์ 18 ยกเว้นช่วงเครื่องเยอะๆจะให้วิ่งขึ้นรันเวย์ 36 ไปทางเหนือแล้วค่อยบินหันหัวลงใต้กลับกรุงเทพ อุปสรรคใหญ่ของการบินคือดอยสุเทพทางตะวันตกของสนาม นักบินต้องระวังไม่บินหันหัวเครื่องไปทางตะวันตกเมื่อวิ่งขึ้นจากรันเวย์36 รันเวย์เชียงใหม่ยาวและใหญ่ ไม่มีปัญหาสำหรับการวิ่งขึ้นหรือลงจอดครับ ปัญหาหนักตอนนี้ที่เชียงใหม่คือแย่งหลุมจอด สายการบินใหม่ๆมากันเยอะมาก รอคิววิ่งขึ้นนานหน่อย แต่ยังงัยก็เร็วกว่าสุวรรณภูมิอยู่แล้ว เขียนถึงเชียงใหม่แล้วอยากไปแอ่วเหนือแล้วก๊ะ อากาศเย็นๆ ไส้อั่ว แคบหมู ข้าวซอย ลาบเมือง 
ข้าวเหนียวร้อนๆ เบียร์เย็นๆ และสาวๆหน้าแฉล้ม อิอิ


4.สนามบินหาดใหญ่ (VTSS,HDY) มีรันเวย์เดียววางตัวแนวตะวันออก-ตะวันตกคล้ายๆภูเก็ต คือ 08/26 โดยที่รันเวย์ 26 มีสัญญาณ ILS ส่วนรันเวย์ 08 ไม่มี ILS  ปกติจะลงรันเวย์ 26 ครับ บินจากกทม เข็มบินทิศใต้ เลียบฝั่งทะเล ตัดผ่านทะเลสาบสงขลา เลี้ยวขวาเข้าอินเตอร์เซ๊ปท์( Intercept) สัญญาณ ILS สบายๆ แต่มีที่ต้องระวังคือ ช่องเขาตรงไฟนอล ( Final approach) ซึ่งกระแสลมมักจะเปลี่ยนทิศเป็นลมมาจากทิศตะวันออกแป๊บนึง ทำให้ความเร็วเครื่องบินเร็วขึ้น เป็นปัญหาในการแต่งตัว (Aircraft configuration) เอาแฟล็บ(Flaps)ออกเพื่อเตรียมลงจอด ดังนั้นนักบินต้องรู้ตรงนี้และลดความเร็วเครื่องบินโดยการแต่งตัวแต่เนิ่นๆครับ บริเวณที่เครื่องแตะพื้นตรงรันเวย์ 26 มันจะเป็นลาดเอียงลง(Slope down) ถ้านักบินไม่แม่นเป้า มันจะลอยเท้งเต้งไปพักใหญ่ เสียระยะทางลงจอดไปหน่อย แต่ก็ไม่เท่าไหร่สำหรับนักบินแอร์ไลนส์ไทยแลนด์ครับ ส่วนรันเวย์ 08 ไม่นิยมบินลงถ้าไม่จำเป็นเพราะเขาสูงทางฝั่งตะวันตกของสนามทำให้การบินยากขึ้น ต้องบินแบบ Visual โดยใช้สายตามองหารันเวย์เอง การบินลงจะมาจากทางตะวันตกตามแนวรันเวย์ 26 ก่อน หรือมาจากทางเหนือ แล้วเลี้ยวออกไปบินขนานกับรันเวย์ 26 จากนั้นจะต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปหารันเวย์ 08 ครับ มีให้ลุ้นเล็กๆสำหรับนักบินที่ไม่ค่อยได้บินอย่างนี้บ่อยๆ แต่ไม่ต้องห่วงนะครับนักบินจะฝึกบินแบบนี้กันทุกครั้งในซิมูเลเตอร์ 

ที่ได้เสียวอีกอย่างที่นี่คือถ้าฝนตกลมแรง มันน่ากลัวใช่ย่อย ไม่รู้เป็นยังไง ฟ้าฝนภาคใต้นี่เกรี้ยวกราดน่าดูชม 

5.สนามบินสมุย (VTSM,USM) สนามบินหลักของสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ เป็นอะไรที่ยากในลำดับต้นๆสำหรับเมืองไทย มีรันเวย์เดียวคือ 17/35 เครื่องช่วยเดินอากาศมีแต่ VOR ที่สามารถบินแบบ Non-Precision Approachได้ รันเวย์ค่อนข้างสั้นสำหรับเครื่องบินลำใหญ่ๆ จึงมีเครื่องบินไม่กี่แบบที่สามารถลงจอดได้ ที่ใหญ่สุดตอนนี้คือ B737-400 ของการบินไทยกับ Airbus A319 ของบางกอกแอร์เวยส์ สภาพรอบๆสนามบินเป็นทะเลกับภูเขา โดยที่แนวร่อนรันเวย์17 จากทางทิศเหนือจะต้องเจออุปสรรคใหญ่คือเขาสูงบนเกาะพะงัน จึงทำให้แนวร่อนลงสำหรับการบินแบบ Instrument Approach ต้องบินเหนือภูเขาที่มีเมฆก่อตัวบ่อยครั้งให้นักบินทั้งหนุ่มและไม่หนุ่มต้องแต๋วแตกเวลามองไม่เห็นรันเวย์ระหว่างทำการร่อนลง แต่ก็ดีกว่าไปลงจอดรันเวย์35 จากทางใต้ ซึ่งบินเลียบแนวเขาทางตะวันตกบนเกาะสมุย ถ้าวันไหนลมแรงและพัดขวางสนามผ่านแนวเขาเหล่านี้ ลมมันจะวูบๆวาบๆ ทำให้ควบคุมความเร็วและการร่อนลงจอดยากมาก นักบินต้องมีประสบการณ์พอสมควรถึงจะเอาอยู่ และถ้าวันไหนฝนตกหนัก ก็เลิกคิดจะลงจอดเลย ไม่คุ้มแน่นอน 

———————————————

อธิบายศัพท์แสง: 

ความหมายของชื่อรันเวย์ อย่างเช่นรันเวย์ 01L/19R คือเป็นรันเวย์เส้นเดียวแต่วิ่งขึ้นหรือลงจอดได้สองข้างในทิศทางตรงข้าม โดยที่ 01L คือจะวิ่งขึ้นหรือลงจอดโดยหัวเครื่องชี้ไปทางเหนือ ซึ่งจะตรงข้ามกับ 19R ซึ่งจะวิ่งขึ้นหรือลงจอดโดยหัวเครื่องบินชี้ไปทางใต้ อย่างนี้เป็นต้น

Vectoring/การที่เจ้าหน้าที่หอบังคับการบินสั่งให้นักบินบินเครื่องบินไปในทิศทางที่กำหนดชั่วคราว
VOR/ เครื่องช่วยเดินอากาศชนิดหนึ่งที่สามารถบอกทิศทางให้นักบินนำเครื่องลงจอดและวิ่งขึ้นได้ โดยการลงจอดมันจะบอกเฉพาะทิศทางให้เท่านั้น ไม่สามารถกำหนดมุมร่อนที่เหมาะสมในการลงจอดให้เครื่องบินได้ครับ จึงเป็นหน้าที่ของนักบินเองที่ต้องคำนวณอัตราการร่อนลงจอด

VTBS,BKK/รหัสเรียกชื่อสนามบิน โดยรหัสสี่ตัวถูกกำหนดโดย ICAO ส่วนรหัสสามตัวถูกกำหนดโดย IATA ซึ่งเป็นองค์กรการบินระหว่างประเทศ

Intercept/ในบทความนี้หมายถึง เครื่องบินบินเข้าไปหาสัญญาณนำร่องลงจอดในช่วงสุดท้ายเพื่อตามสัญญาณดังกล่าวบินเข้าหาสนามและลงจอด

Final Approach/ แนวร่อนสุดท้ายภายในระยะทางไม่กี่ไมล์ก่อนลงจอด ซึ่งเครื่องบินจะต้องมีความเร็วที่เหมาะสมที่จะหยุดเครื่องบินบนรันเวย์ได้

Visual Approach/ วิธีการบินเข้าสู่สนาม นักบินมองเห็นรันเวย์ลงจอด และมั่นใจว่าสามารถควบคุมทิศทางและมุมร่อนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องการสัญญาณนำร่อง โดยนักบินจะขออนุญาตทางเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินก่อนทำการบินแบบ Visual ซึ่งความรับผิดชอบทั้งหมดจะมาตกอยู่กับนักบิน

Aircraft Configuration/ ได้แก่พื้นบังคับการบินต่างๆที่จะช่วยเครื่องบินวิ่งขึ้นหรือร่อนลงจอดได้ ณ ความเร็วและอัตราไต่หรือร่อนที่เหมาะสม อันได้แก่ แฟล็บ (Leading edge and Trailing edge Flaps ) และแลนดิ้งเกียร์หรือฐานล้อ( Landing Gear) โดยเครื่องบินแต่ละแบบจะมี Aircraft Configuration ที่ไม่เหมือนกัน 

AUTOLAND/ เครื่องบินใช้ Autopilot นำเครื่องบินลงจอดเองโดยนักบินเพียงแค่เฝ้าระวังและกลับมาควบคุมเครื่องบินเองในกรณีที่ AUTOLAND ทำงานได้ไม่ปลอดภัย AUTOLAND จะควบคุมเครื่องบินให้เงยหัว(Flare) และผ่อนเครื่องยนต์เองตอนที่กำลังจะแตะพื้น (Touchdown) รวมไปถึงการควบคุมให้เครื่องบินอยู่บนรันเวย์หลังจากสัมผัสพื้นแล้ว (Aircraft Rolling) ระบบ AUTOLAND ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยนักบินให้สามารถนำเครื่องลงจอดในสภาพอากาศที่มีทัศนวิสัยต่ำๆแบบที่แทบจะไม่เห็นรันเวย์หรือส่วนของรันเวย์หรือไฟทางวิ่งเลย

Non-Precision Approach/ วิธีการบินแบบที่มีระบบนำร่องพาเครื่องลงจอดเฉพาะในแนวทิศทางเท่านั้น( Directional) ไม่มีมุมร่อนให้ นักบินต้องควบคุมเอาเอง ตัวอย่างเช่น VOR Approach หรือ NDB Approach  เป็นต้น

Instrument Approach/ การบินแบบที่นักบินต้องบินตามอุปกรณ์นำร่อง นักบินจะต้องปฏิบัติให้ได้ตาม Approach Chart ที่ถูกกำหนดความสูง ความเร็วและอัตราร่อนที่แนะนำเอาไว้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น