6 ธันวาคม 2557

Aviation myth episode two

Aviation myth episode two

คราวก่อนเขียนไปเรื่องเกี่ยวกับคำถามที่คนทั่วไปอยากรู้เกี่ยวกับเครื่องบินและนักบินแอร์ไลนส์ ได้รับความนิยมพอสมควร นั่นแสดงให้เห็นว่ามีหลายท่านสนใจเรื่องการบิน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ในโลกปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารมันเยอะมาก มีทั้งจริงและเท็จ พิจารณาให้ดีๆก่อนเสพนะครับ รวมทั้งข้อมูลจากโพสต์นี้ด้วย

ผมมีความปรารถนาที่จะให้ทุกท่านหันมาหาความรู้และสนใจเรื่องการบินกันให้เยอะๆ เพราะนั่นหมายถึงการช่วยกันผลักดันให้ธุรกิจการบินพัฒนาขึ้นเรื่อยๆโดยไม่ต้องรอให้ภาครัฐมาผลักดันแต่ฝ่ายเดียว หันไปมองเพื่อนบ้านรอบๆไทย เค้ากำลังสปีดอัพกันยกใหญ่ ถ้าไม่มีภาคเอกชนรวมถึงชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆช่วยกันผลักดัน คงเจริญเติบโตต่อยาก เผลอๆเพื่อนบ้านที่การบินพัฒนาหลังเราเยอะจะแซงเราในที่สุด จะทำให้บ้านเมืองเราสูญเสียโอกาสดีๆไปซะเพราะไม่มีเจ้าภาพนี่แหละ เอาอย่างงี้ดีกว่า เรามาเป็นเจ้าภาพด้วยกัน ช่วยกันสร้างสังคมการบินพาณิชย์บ้านเราให้ใหญ่และเข้มแข็ง สักพักก็จะดีขึ้นเรื่อยๆเอง วิธีการที่ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาได้ก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินพาณิชย์โดยผ่านการแชร์ข้อมูลอย่างที่ผมทำอยู่ครับ

งั้นวันนี้เรามาเสพข้อมูลกันต่อสักนิสนุงนะ

1.เครื่องบินลอยอยู่บนอากาศได้อย่างไร ทำไมมันไม่ตกลงมา?

ตอบ: มีแรงสี่ชนิดที่กระทำต่อเครื่องบินขณะอยู่บนอากาศ ได้แก่ แรงต้าน(drag) แรงขับ(thrust) แรงยก(lift) และน้ำหนักเครื่องบิน(weight)

แรงต้านกับแรงขับจะเป็นแรงที่กระทำกับเครื่องบินในทิศทางตรงข้ามกันและขนานกับพื้นโลก เช่นเดียวกับแรงยกและน้ำหนักเครื่องบิน ถ้าแรงต้านกับแรงขับกระทำกับเครื่องบินเท่ากันจะทำให้เครื่องบินบินด้วยความเร็วคงที่ ถ้าจะเร่งความเร็วเครื่องบินจะต้องเพิ่มแรงขับให้มากกว่าแรงต้าน ส่วนแรงยกกับน้ำหนัก ถ้ากระทำกับเครื่องบินเท่ากัน เครื่องบินจะลอยตัวอยู่ได้ที่ระยะสูงคงที่ ถ้าจะทำให้เครื่องบินไต่ขึ้นสูง จะต้องเพิ่มแรงยกให้มากกว่าน้ำหนักเครื่องบินนั่นเอง

2.ผมนั่งอยู่ที่นั่งตรงโคนปีก สงสัยว่าทำไมปีกเครื่องบินลำโตๆมันดูเหมือนลู่ไปข้างหลังอะฮับ?

ตอบ: เค้าเรียกว่า Swept wing ครับ เป็นความตั้งใจที่ทำให้มันลู่ไปด้านหลังเหมือนนกนางแอ่นกางปีกบิน มีข้อดีคือช่วยให้เพิ่มความเร็วได้มากขึ้นกว่าปีกที่ตั้งฉากกับลำตัวเครื่องบินแบบเครื่องบินลำเล็กๆซึ่งมีข้อจำกัดคือทำความเร็วได้ไม่สูงเพราะมันจะเกิดแรงต้านที่ปีกเร็วกว่าแบบSwept wing และอีกเหตุผลนึงที่ Swept wing ดีกว่าคือทนต่อกระแสอากาศแปรปรวนได้ดีกว่า ไม่ทำให้เครื่องบินส่ายไปมาบ่อยๆระหว่างบินจนทำให้ผู้โดยสารอยากแหวะออกมา

3.วันนั้นเครื่องบินบินลงหลังฝนตกหนัก ผมรู้สึกว่าตอนนักบินเบรคหลังเครื่องแตะพื้นมันไม่สมูท แบบว่าจับๆปล่อยๆหลายครั้งกว่าจะหยุด มันเป็นอะไร?

ตอบ: เหมือนรถยนต์รุ่นใหม่ๆสมัยนี้เลยครับ ระบบ ABS หรือ Antiskid braking system นั่นเอง ซึ่งจะทำงานอย่างหนักระหว่างลงจอดที่รันเวย์ที่มีความลื่นอย่างเช่นฝนตกหรือมีน้ำแข็งเกาะครับ เหตุผลที่มันกึ๊กๆกั๊กๆตอนเบรคก็เพราะมันจะปล่อยและคายเบรคเป็นจังหวะโดยเปรียบเทียบความเร็วที่ล้อหมุนกับความเร็วของเครื่องบินจริงๆขณะที่วิ่งอยู่บนรันเวย์ ถ้าความเร็วล้อน้อยกว่าความเร็วเครื่อง แสดงว่าล้ออาจจะล๊อคหรือไถลไปกับพื้นโดยไม่สัมผัสพื้น เราเรียกอาการนี้ว่า Aquaplaning หรือ Hydroplaning ดังนั้นระบบ ABS จึงต้องจับๆปล่อยๆเบรคไปเรื่อยๆเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรคและทำให้เครื่องบินหยุดได้โดยยางไม่แตกและไม่หลุดออกนอกรันเวย์ครับ

4.หน้ากากอ๊อกซิเจนของนักบินเหมือนกับของผู้โดยสารมั๊ย?

ตอบ:ไม่เหมือนครับ ของนักบินจะมีระบบอ๊อกซิเจนแยกจากของผู้โดยสาร โดยจะมีถังอ๊อกซิเจนอยู่ใต้ท้องเครื่อง ส่งอ๊อกซิเจนที่ปรับความดันให้เหมาะสมกับการหายใจแล้วกระจายส่งให้นักบินในแต่ละตำแหน่ง ถ้าในห้องนักบิน(Cockpit)มีเก้าอี้ให้นั่งสี่ตัว ก็มีหน้ากากอ๊อกซิเจน(Oxygen mask)สี่อัน โดยที่หน้ากากอ๊อกซิเจนจะถูกเก็บไว้ในกล่องเหลี่ยมๆข้างๆเก้าอี้นักบิน พร้อมให้ดึงออกมาใช้งานทันทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ในหน้ากากมีไมโครโฟนสำหรับติดต่อสื่อสารกับหอบังคับการบินและคุยกันระหว่างนักบินได้ด้วย พอนักบินดึงหน้ากากออกมา ระบบอ๊อกซิเจนจะทำงานทันที

เสียงนักบินที่พูดวิทยุกับหอบังคับการบินตอนที่สวมหน้ากากอ๊อกซิเจนจะซู้ดซ้าดๆคล้ายๆกับเสียงดาร์ทเวเดอร์(Darth Vader)ในสตาร์วอร์สมิมีผิด นักบินสามารถเลือกใช้อ๊อกซิเจนแบบที่ผสมกับอากาศภายนอกเพื่อประหยัดอ๊อกซิเจน(Normal) หรือจะใช้อ๊อกซิเจนร้อยเปอร์เซ็นต์(100%)ก็ได้ นักบินไม่จำเป็นต้องสวมอ๊อกซิเจนตลอดเวลาที่บิน ยกเว้นกรณีบินสูงเกินความสูงหนึ่งตามที่ระบุไว้ในคู่มือการบินซึ่งจะต้องมีนักบินคนหนึ่งต้องสวมหน้ากากอ๊อกซิเจนไว้ตลอด เพื่อความปลอดภัยในกรณีเครื่องบินเกิดสูญเสียความดันอากาศอย่างกระทันหันครับ

5.น้ำมันเครื่องบินลำใหญ่ๆเค้าใช้น้ำมันอะไร แล้วเติมน้ำมันยังงัย?

ตอบ: สำหรับเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์แก็สเทอร์ไบน์( Gas turbine engine) จะใช้น้ำมันอยู่สามชนิด ได้แก่ Jet A1 ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันแพร่หลายในโลก มีอุณหภูมิที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำแข็งหรือ Freezing point ที่ -47 องศาเซลเซียส ชนิดที่สองคือ น้ำมัน Jet A ที่มีใช้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งมี Freezing point ที่ -40 องศาเซลเซียส และชนิดที่สามคือ Jet B ซึ่งจะใช้ในประเทศที่มีอากาศหนาวจัดเพราะน้ำมันชนิดนี้ไวไฟกว่าสองแบบข้างต้น

สำหรับการเติมน้ำมันเครื่องบิน วิธีที่หนึ่งคือจะใช้รถเติมน้ำมันแบบที่บรรจุน้ำมันมาในรถที่เรียกว่า Fuel bowser แล้วต่อท่อส่งน้ำมันเข้าไปในถังน้ำมันเครื่องบินที่อยู่บริเวณปีกและลำตัวเครื่องบิน วิธีนี้จะใช้กันในสนามบินต่างจังหวัดหรือสนามบินเล็กๆ อีกวิธีที่ใช้กันในสนามบินใหญ่ๆเช่นสนามบินสุวรรณภูมิ จะใช้รถน้ำมันที่เรียกว่า Fuel dispenser ซึ่งไม่ได้บรรจุน้ำมันมาในรถ เพียงแต่เอาตัวรถไปต่อเข้ากับท่อน้ำมันใต้ดินที่วางระบบไว้ แล้วดูดเอาน้ำมันผ่านตัวรถเพิ่อกรอง วัดปริมาณและควบคุมความดันให้น้ำมันแล้วถ่ายเข้าถังน้ำมันเครื่องบินอีกทีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น