24 มิถุนายน 2557

เอมิเรตส์ กลยุทธ์ธุรกิจที่น่าลอกเลียนแบบ

เอมิเรตส์ กลยุทธ์ธุรกิจที่น่าลอกเลียนแบบ
ยักษ์ใหญ่ในวงการบินของโลกรายหนึ่งที่น่าศึกษากลยุทธ์ก็คือ เอมิเรตส์แอร์ไลนส์ สายการบินในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือเรียกย่อๆว่ายูเออี 
รูปแบบการทำธุรกิจของเอมิเรตส์ทำให้เกิดความได้เปรียบสูง เป็นเพราะค่าจ้างแรงงานต่ำมากๆทำได้พอๆกับสายการบินโลว์คอสต์ การใช้ผังองค์กรที่ไม่เป็นปิระมิดคือเป็นแบบแบนราบ(Flat Organization) เป็นผลดีต่อการตัดสินใจที่รวดเร็วและทำให้ค่าใช้จ่ายโสหุ้ยต่ำ
นักวิเคราะห์ธุรกิจสายการบินเชื่อกันว่า ต้นทุนต่อที่นั่งของเอมิเรตส์ต่ำมากๆ เป็นอันดับสองรองจากสายการบินไรอันแอร์ โลวคอสต์ชื่อดังในไอร์แลนด์ ทั้งนี้เนื่องมาจากต้นทุนการทำการบินที่ทำให้ต่ำได้จากการใช้ดูไบเป็นฐานการบิน จึงทำให้เอมิเรตส์สามารถทำกำไรจากการเปิดเส้นทางบินไปยังเมืองระดับรองๆของโลกโดยใช้ดูไบเป็นฮับ(Hub)
เอมิเรตส์เลือกที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของพันธมิตรการบินใหญ่ๆของโลกเช่น สตาร์อัลไลแอนซ์(ที่การบินไทยเข้าร่วมตั้งแต่ต้น) หรือ สกายทีม
เพราะมองว่าเข้าไปร่วมตอนหลังแล้ว ไม่ได้ประโยชน์เท่ากับสมาชิกเริ่มต้นที่เป็นผู้นำตลาดที่มักจะออกนโยบายของพันธมิตรเพื่อประโยชน์ของสายการบินตัวเองมากกว่าเพื่อกลุ่ม  ดังนั้นจึงคิดว่าทำตลาดเองน่าจะดีกว่า
เอมิเรตส์ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่อย่างเช่น แอร์บัส A380 และ โบอิ้ง 777 ในการบิน จึงทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับสายการบินขนาดใหญ่อื่นๆที่มักจะเลือกใช้เครื่องบินหลายขนาดปะปนกัน การที่ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ จึงทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้จำนวนมากไปพร้อมๆกับการขนส่งผู้โดยสาร เป็นการสร้างรายได้เพิ่มได้อีก
ข้อได้เปรียบอีกอย่างของเอมิเรตส์คือ การที่สนามบินแห่งชาติดูไบไม่มีเคอร์ฟิวห้ามบินในช่วงกลางคืนเหมือนในยุโรป เอมิเรตส์จึงใช้งานเครื่องบินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งวัน 
นอกจากนี้ ค่าแรงของพนักงานระดับรากหญ้าของเอมิเรตส์ก็ถูกมากๆ เป็นเพราะไม่มีสหภาพแรงงาน และมีแรงงานราคาถูกจากอินเดียและปากีสถานให้เลือกใช้มากมาย
แต่ก็ใช่ว่าเอมิเรตส์จะมีแต่ข้อได้เปรียบตลอดไป การที่ไปเปิดเส้นทางบินเข้าสู่ยุโรปและการที่ได้เปรียบต้นทุนอย่างนี้ จึงถูกคู่แข่งโจมตีและฟ้องร้องเสมอว่าไม่แฟร์เพราะทุ่มตลาดและเอาความได้เปรียบแรงงานและต้นทุนจากการทำการบินที่ดูไบ 
เอมิเรตส์เลือกใช้กลยุทธ์การตลาดที่ชาญฉลาด ประกอบกับนโยบายของประเทศที่สอดคล้องกัน จึงทำให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการบินที่นับวันจะใหญ่บิ๊กบึ้มขึ้นเรื่อยๆ ขนคนเข้าออกประเทศเป็นว่าเล่น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพิงรายได้จากการขุดน้ำมันมาขาย มาเป็นสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆที่มาพร้อมกับการเคลื่อนไหวและการเดินทางของผู้คนจากทั่วสารทิศ 
กลับมามองบ้านเรา ผมอยากให้ผู้นำประเทศเล็งเห็นประโยชน์จากการสนับสนุนให้สายการบินแห่งชาติผงาดในการบินระดับโลกให้มากขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะไม่ใช่แค่จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่มันหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะเข้าสู่ประเทศจากธุรกิจอื่นๆอีก ดังนั้นการวางกลยุทธ์ของการบินไทยจะสำเร็จไม่ได้หากขาดการหนุนหลังจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลนั่นเอง ที่จะต้องคัดสรรคนเก่งมาทำงานและผลักดันนโยบายดีๆออกมาให้สอดคล้องกับแนวทางของการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศชาติ
เริ่มต้นเลยดีไหมครับท่าน

ภาพประกอบ : www.emirates.com
—————————————————————————————

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ 
www.nuckbin.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น