23 มิถุนายน 2557

Upside of Thai airways ???

Upside of Thai airways ???

ข้อมูลทางการเงินที่ได้จากการวิเคราะห์โดยโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ควรลงทุนในหุ้น THAI เนื่องจากสาเหตุหลักๆดังนี้

1.การบินไทยมีต้นทุนสูง มีภาระในการชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวจำนวนมาก ในขณะที่กระแสเงินสดในไตรมาสแรกติดลบ และคาดว่าไตรมาสที่สองก็คงเหมือนกัน
2.ผลกระทบจากการความไม่สงบทางการเมือง ทำให้สายการบินแห่งชาติได้รับผลกระทบอย่างแรง เนื่องจากกว่าร้อยละ70ของรายได้หลักของการบินไทยมาจากเส้นทางบินระหว่างประเทศ
3.คู่แข่งการค้าเกิดขึ้นมามาก โดยเฉพาะสายการบินฟอร์มใหญ่จากตะวันออกกลาง มาแย่งลูกค้าจากยุโรปและออสเตรเลียไปเยอะ

หลายโบรกเกอร์คาดการณ์ว่า ปีนี้การบินไทยจะมีผลขาดทุนเมื่อจบไตรมาสที่สี่ ถึงแม้ว่าในไตรมาสที่สามและสี่ นักวิเคราะห์หุ้นคาดการณ์ว่าผลประกอบการจะกลับมาดีขึ้นหลังจากภาวะอุปทานล้น(Oversupply)กำลังจะจบลง ทั้งนี้ สายการบินอื่นๆในประเทศไทย มีผลประกอบการที่ดีกว่าการบินไทย เนื่องจากรูปแบบการให้บริการและความคล่องตัวในการบริหารกิจการแบบเอกชนมีส่วนช่วยได้อย่างมาก 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาการเมืองมานานเกือบเจ็ดเดือนกว่าจะมีเริ่มคลี่คลาย นกแอร์และไทยแอร์เอเซียซึ่งพบปัญหาเดียวกับการบินไทยเช่นกัน แต่โบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ยังคงเชียร์ให้นักลงทุนซื้อหุ้น เพราะอุปสงค์การเดินทางในประเทศจะเริ่มกลับมาดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ในประเทศเริ่มคลี่คลาย และเป็นเพราะในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง หลายสายการบินลดราคาค่าตั๋วเพื่อโปรโมทให้กลับมาใช้บริการให้มากขึ้น ดูเหมือนว่าผู้คนจะเริ่มหันมาใช้บริการเดินทางในประเทศด้วยเครื่องบินมากขึ้น จากสมัยก่อนค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่ารถไฟรถทัวร์มาก เดี๋ยวนี้ ตั๋วเครื่องบินราคาพันกว่าๆ สูสีกับค่าตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งหรือรถทัวร์ระดับเทพ ทำให้คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้เครื่องบินมากขึ้น จนเป็นไปได้ว่าจะใช้บริการเครื่องบินในการเดินทางในประเทศแทนรถไฟรถทัวร์มากขึ้น ซึ่งยิ่งช่วยให้นกแอร์และแอร์เอเซียน่าจะทำกำไรได้มากขึ้นอีกด้วย หลังจากซบเซามาระยะหนึ่ง

หากจะเปรียบเทียบการบินไทยกับไทยแอร์เอเซียหรือนกแอร์ ก็คงจะเหมือนเปรียบมวยผิดรุ่น ถ้าจะวัดกันจริงๆ ต้องมองให้ไกลออกไป อย่างน้อยก็ต้องเป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลนส์ด้วยกันในภูมิภาค มองไปรอบๆตัวเรา หลายสายก็ประสบปัญหาเหมือนๆกับเรา เนื่องจากสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของโลก จะมียกเว้นก็พวกสายป่านยาวเงินทุนหนาจากตะวันออกไกล อย่างนั้นเราคงไปเปรียบเทียบไม่ได้

สิงคโปร์แอร์ไลนส์ สายการบินแห่งชาติของสิงคโปร์ เมื่อเทียบกำไรสุทธิ เปรียบเทียบเดือนมีนาคมของปีนี้กับมีนาคมปีที่แล้ว กำไรลดลงจาก 378.9ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลงมาเหลือ 359.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ทั้งๆที่รายรับค่อนข้างคงที่ ทั้งนี้เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังกำไรอยู่ ทั้งนี้ สิงคโปร์เคยทำกำไรสุทธิในเดือนมีนาคม 2011 ได้ถึง 1092ล้านเหรียญสิงคโปร์ หลังจากนั้นตัวเลขก็ลดลงมาอยู่ในหลัก 300กว่าล้านเหรียญสิงคโปร์มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตหลังจากปี2011 สูงขึ้นทุกปี แต่กลับสร้างรายได้ไม่มากขึ้นตาม ทำให้กำไรสุทธิที่เคยทำได้ดีในปี2011 กลับลดลงมา แต่อย่างน้อย สิงคโปร์แอร์ไลนส์ก็ยังทำรายได้คงที่ ไม่ลดลงฮวบฮาบ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีผลกระทบทางการเมืองเหมือนไทย และความฉลาดในการสร้างมูลค่าและโปรโมทประเทศสิงคโปร์เองอย่างสม่ำเสมอ

คาเธ่ย์แปซิฟิค ของฮ่องกง ทำผลประกอบการได้ลุ่มๆดอนๆ แต่ก็ทำกำไรมาตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา โดยที่รายรับขยับขึ้นทุกปีๆประมาณ1000ล้านเหรียญฮ่องกงในขณะที่ต้นทุนการจัดหาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตกลับก้าวกระโดดจากปี2010 เป็นต้นมา ทำให้Gross Profit ลดลงมากอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิก็เป็นบวกมาโดยตลอด เพียงแต่ขึ้นๆลงๆตามรายได้หรือรายจ่ายที่ไม่ใช่จากการบินโดยตรงเท่านั้น

การูด้า สายการบินแห่งอินโดนีเซีย สามารถสร้างรายรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละสองร้อยล้านเหรียญสหรัฐมาตั้งแต่ปี2012 แต่เป็นเพราะต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นพอๆกัน บวกกับไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ตัวเลขกำไรสุทธิเมื่อปลายปี2013 หล่นลงมาอยู่ที่ 11ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี2012 ที่เคยทำกำไรสุทธิได้ 110ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ก็ยังมีกำไร อย่างน้อยสถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่ฉุดกระชากให้การูด้าแย่ลงไป

มาเลเซียแอร์ไลนส์ เพื่อนบ้านของเรา  ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011 โดยในปี2013 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 1173 ล้านริงกิต ทั้งๆที่รายรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่สามารถควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าคงคลังได้ดี ดูๆแล้วแย่กว่าการบินไทยด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้กำไรมาหลายปีแล้ว

แจแปนแอร์ไลนส์ หลังจากทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง ทำให้กลับมากำไรในปี2012 และทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะควบคุมต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขายอย่างจริงจัง เดือนมีนาคม 2014 ทำกำไรสุทธิ 166251ล้านเยน น่าปรบมือให้จริงๆ

สายการบินโคเรียนแอร์ไลนส์ แห่งเกาหลีใต้ ก็มีผลงานลุ่มๆดอนมาตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา กำไรจากการทำธุรกิจจริงๆเริ่มติดลบเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี2013 จากที่สามารถทำได้เป็นบวกมาตั้งแต่ปี2010 โดยที่ขาดทุนสุทธิในปี2013 เป็นจำนวนเงิน 224994ล้านวอน สาเหตุหลักๆมาจากรายรับที่ลดลงและมีค่าใช้จ่ายจากค่าเสื่อมราคาที่มากขึ้น ที่น่าสังเกตุคือโคเรียนแอร์ไลนส์ขาดทุนจากการลงทุนอื่นๆที่ไม่ใช่การบิน เป็นจำนวน 255569ล้านวอน ซึ่งฉุดให้กำไรสุทธิติดลบทันทีด้วย

จากตัวอย่างที่ยกมาให้ดู จะเห็นได้ว่า หลายๆสายๆการบินที่ทำธุรกิจการบินในลักษณะที่คล้ายๆกับการบินไทย ก็อยู่ในภาวะลุ่มๆดอนๆเช่นกัน ธุรกิจการบินเป็นอะไรที่ปราบเซียนมากๆ ยิ่งถ้ามาเจอสถานการณ์การเมืองไม่สงบแบบมาราธอนอย่างบ้านเรายิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นถ้าอยากจะอยู่กันให้รอดนานๆ เราต้องเอาวิกฤตมาใช้ให้เป็นโอกาสกันดีกว่า ทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง หลายๆอย่าง เราช่วยกันได้ตั้งแต่วันนี้ด้วยตัวพนักงานเอง เริ่มจากทำงานให้คุ้มค่าเงินที่บริษัทจ่าย ไม่โกงบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยกันชี้เบาะแสคนโกง ชื่นชมและสนับสนุนให้คนเก่งและมีความรับผิดชอบได้มีโอกาสเข้าทำงานในหน้าที่สำคัญ ฝึกคิดแต่ในเชิงบวก ช่วยกันคิดหาหนทางสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นสายการบินแห่งชาติไทยของเรา

ระหว่างรอพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยผ่าตัดใหญ่ ตัวประกอบอย่างเราก็ทำให้หนังแฮปปี้เอนดิ้งได้เหมือนกัน

แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนแล้วครับ

ภาพประกอบ : www.fastcompany.com
—————————————————————————————

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น