Runway to Heaven
Runway to Heavenด้วยความที่ทำงานเป็นนักบิน มันจะมีศัพท์ทางเทคนิคเยอะ เวลาจะอธิบายให้คนทั่วไปที่เค้าไม่ได้คลุกคลีหรือติดตามข่าวสารการบินให้พอเข้าใจมันก็ยากนิดนึง ต้องใช้วิธีเปรียบเปรยให้เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ต้องอ่านไปเปิดดิคชันนารี่ไปให้เมื่อยง่ามนิ้ว ดังนั้นต้องกราบขออภัยพี่ๆน้องๆบางท่านที่เผลอเข้ามาอ่านแล้วรำคาญเหลือเกินที่อธิบายศัพท์การบินที่ทราบอยู่แล้ว วันนี้อยากจะมาเขียนให้อ่านเรื่องทางวิ่ง หรือรันเวย์(Runway) คำๆนี้พอแปลเป็นไทยแล้วฟังกระดากหูอย่างไรชอบกล สงสัยผมจะชินกับคำทับศัพท์ว่ารันเวย์ตั้งแต่เริ่มเป็นนักบิน มันอารมณ์เดียวกับคำว่า Software ที่พอแปลเป็นไทยคือละมุนภัณฑ์ อ่านแล้วรู้สึกอยากเข้าสวนผลไม้ตะหงิดๆ
เราเรียกชื่อรันเวย์ตามทิศทางที่วางตัวครับ ท่านลองนึกภาพตามผมนะ เอาไม้บรรทัดยาวๆที่สมมติว่าเป็นรูปรันเวย์วางบนโต๊ะนะครับ แล้ววางยางลบรูปคิตตี้ของลูกสาวหรือน้องเมียที่สมมติว่าเป็นเครื่องบินอยู่บนรันเวย์และจอดหันหัวไปตามทิศทางของไม้บรรทัด เอาไอโฟนหกวางข้างๆและขนานกับไม้บรรทัด แล้วเปิดแอพ Compass ดูประกอบ แต่ถ้าไม่มีไอโฟน อนุญาตให้ใช้เข็มทิศธรรมดาก็ได้ไม่ว่ากัน แล้วดูว่าถ้าด้านหัวไม้บรรทัดชี้ไปที่ทิศเหนือเป๊ะๆ คือมุม 0 องศาหรือ 360 องศา เราจะเรียกรันเวย์ที่ใช้งานว่า รันเวย์ 36 ( “Runway three six ”) ถ้าหัวรันเวย์ชี้ไปที่มุม 030 องศา เราจะเรียกว่ารันเวย์ 03 (“Runway zero three) ถ้าหัวรันเวย์ชี้ไปที่มุม 250 องศา เรียกว่ารันเวย์ 25 (“Runway two five”) และถ้าสนามบินที่มีสองรันเวย์ ก็จะเรียกรันเวย์ตามความสัมพันธ์ของตำแหน่งที่ตั้งว่าเป็นรันเวย์ซ้ายหรือขวา สนามบินใหญ่ๆหลายแห่งมีสามรันเวย์ ก็จะเพิ่มชื่อเรียกรันเวย์ตรงกลางหรือ Center(C) ขึ้นมาอีก เช่นที่สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ มีสามรันเวย์คือ 02L/20R 02R/20L และ 02C/20C เป็นต้น
ทิศทางของรันเวย์ขึ้นอยู่กับทิศทางลมประจำที่พัดผ่านซึ่งผู้ออกแบบจะพยายามสร้างรันเวย์ให้มีทิศทางขนานไปกับทิศทางลมประจำถิ่น และข้อจำกัดของอุปสรรคที่อยู่รอบๆสนามบินอันได้แก่ ภูเขา ตึก เขตหวงห้ามการบินต่างๆ (Restricted or Prohibited area)
ท่านเคยสงสัยมั๊ยครับ พอเครื่องบินเคลื่อนที่ออกจากหลุมจอด(Parking bay)เพื่อวิ่งขึ้น บางครั้งใช้เวลานานกว่าจะเริ่มวิ่งขึ้นได้ บางครั้งก็เร็ว มันขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง เดี๋ยวผมจะมาร่ายให้ท่านเข้าใจได้ง่ายๆนะครับ
1.ตำแหน่งของหลุมจอดเครื่องบิน ถ้าอยู่ไกลจากรันเวย์ที่ใช้ ก็แน่นอนครับนานหน่อย อย่างสุวรรณภูมินี่บางทีเครื่องเราจอดอยู่ใกล้ฝั่งรันเวย์ทางตะวันออก แต่ต้องแท็กซี่ (Taxi ในความหมายนี้เป็นคำกิริยา แปลว่าขับเครื่องบินบนพื้นครับ เหมือนขับรถอะ) เครื่องไปวิ่งขึ้นที่รันเวย์ฝั่งตะวันตกก็บ่อยครั้ง ถ้าไม่มีเครื่องบินแท็กซี่อยู่ลำหน้าเรา อย่างน้อยก็เป็นสิบนาทีนะครับกว่าจะได้วิ่งขึ้น เพราะนักบินจะซิ่งมากไม่ได้ ยิ่งถ้าสภาพทางขับ (Taxiway หรือถนนของเครื่องบิน) ที่มีบางส่วนเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนสนามบินบางแห่งในโลก ยิ่งต้องช้าหน่อย ทำความเร็วได้ประมาณมดตะนอยเดินแซง มิฉะนั้นลำไส้ของท่านผู้โดยสารอาจถึงกับขย้อน
2.ทิศทางลม ปกติทางหอบังคับการบินจะให้เครื่องบินวิ่งขึ้นสวนกับทิศทางลม(Headwind) แต่ถ้าจำเป็นหรือนักบินร้องขอเองก็อาจจะอนุญาตให้วิ่งขึ้นตามลม(Tailwind) แต่จำกัดความเร็วของลมไว้ไม่ให้เกิน 10 น็อตติคอลไมล์ต่อชั่วโมง (Nautical mile per hour) หรือเท่ากับประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหตุที่ต้องจำกัดความเร็วตามลมเพราะ Tailwind จะลดสมรรถภาพของเครื่องบินในการวิ่งขึ้นเนื่องจากใช้ความยาวรันเวย์มากขึ้น เดี๋ยวจะลอยพ้นพื้นไม่ทันหมดความยาวรันเวย์ หรือถ้าจะต้องหยุดฉุกเฉินขณะวิ่งขึ้น ก็อาจจะหลุดออกจากรันเวย์ได้ ดังนั้นถ้าลมเกิดเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หอบังคับการบินจะสั่งให้ไปวิ่งขึ้นจากรันเวย์อีกด้านนึง ก็จะเสียเวลาแท็กซี่ไปอีกพักใหญ่
หอบังคับการบินจะเป็นผู้ที่กำหนดให้นักบินว่าจะให้วิ่งขึ้นหรือลงจอดรันเวย์ไหนในแต่ละช่วงเวลา ที่ท่าอากาศกรุงเทพสุวรรณภูมิในปัจจุบันนี้มีสองรันเวย์ คือ รันเวย์ 01L/19R (อธิบายแทรกนิดนึง ทิศทางรันเวย์นี้คือ 015 และ 195 องศาเทียบกับทิศเหนือ มันเป็นรันเวย์เส้นเดียวกันแต่ทิศทางการวิ่งขึ้นหรือลงจอดขึ้นอยู่กับหอบังคับการบินเป็นผู้กำหนดให้ใช้) ซึ่งเป็นรันเวย์ทางฝั่งตะวันตก และรันเวย์ 01R/19L ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก ถ้าทิศทางลมมาจากทางเหนืออย่างหน้าหนาวนี่ หอบังคับการบินก็มักจะให้ใช้รันเวย์ที่วิ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ คือ 01L หรือ 01R อย่างนี้เป็นต้น
3.ช่วงเวลาที่วิ่งขึ้น ถ้าเป็นช่วงเวลายอดนิยม เครื่องเข้าคิวรอวิ่งขึ้นและลงจอดเยอะ ก็ต้องรอนานหน่อย ช่วงหลังๆ ทางหอบังคับการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสั่งนักบินให้จอดรอที่หลุมจอดก่อนจนกว่าจะถึงคิววิ่งขึ้นได้ เครื่องบินจะได้ไม่ต้องติดเครื่องยนต์และไปจอดรอนานให้เปลืองน้ำมันและเกิดมลพิษปล่าวๆ
4.สภาพอากาศ ถ้าแดดจ้าฟ้าใส ไม่มีปัญหา แต่ถ้าวันไหนฝนตกหนัก ลมแรง ฟ้าผ่าเปรี้ยงๆ ทางสนามบินจะประกาศเตือนภัย และให้พนักงานที่ทำงานภาคพื้นหยุดทำงานชั่วคราว กรณีอย่างนี้ก็มีบ่อยๆ ต้องจอดรอสักพักใหญ่จนกว่าอากาศจะดีพอให้วิ่งขึ้นหรือลงจอดปลอดภัย
5.เที่ยวบินพิเศษที่เราเรียกว่า VVIP movement ซึ่งมีความสำคัญกับบ้านเมืองจะได้เดินทางก่อน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ทางหอบังคับการบินจะสั่งให้เครื่องบินที่อยู่ใกล้ๆกับเครื่องบินVVIP หยุดรอก่อนจนกว่าเที่ยวบินพิเศษจะวิ่งขึ้นเสร็จสิ้นครับ
เหตุเหล่านี้ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเหตุสุดวิสัยที่สายการบินและนักบินควบคุมไม่ได้ทั้งหมด ถ้าจะวิ่งขึ้นช้าไปบ้าง นักบินหรือลูกเรือก็จะพยายามประกาศให้ผู้โดยสารรับทราบข้อมูลโดยตลอดเพื่อให้ไม่หงุดหงิดกัน ก็ขออย่าได้ถือโทษโกรธกันเลยนะครับ คิดเล่นๆซะว่า ดีจังได้นั่งนาน คุ้มอ่ะ!!!
————————————-
ภาพประกอบ จาก heelsfirsttravel.boardingarea.com
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการบินได้ที่ nuckbin.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น