4 ธันวาคม 2557

กว่าจะเป็นกัปตัน( Flight Captain's story )

กว่าจะเป็นกัปตัน( Flight Captain's story )
สุดๆของนักบินแอร์ไลนส์ในชีวิตนี้ก็คือวันที่ได้รับการโปรโมตจากนักบินผู้ช่วย(Co-Pilot) ให้เป็นนักบินที่หนึ่ง หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “กัปตัน” วันที่มีสิทธิ์ติดเครื่องหมายสี่ขีดที่บ่าทั้งสองข้าง จากเดิมมีสามขีด ทำไมกัปตันถึงมีสี่ขีด ก็เพราะเราเลียนแบบมาจากตำแหน่งผู้การเรือชั้นหนึ่งในกองทัพเรือที่มีสี่ขีดครับผม สำหรับทหารเรือ ยศนาวาเอกที่ติดอินธนูสี่ขีด ในภาษาอังกฤษคือ Captain เช่นเดียวกัน 
กว่าที่นักบินคนนึงจะก้าวมาเป็นกัปตันมันไม่ง่ายเลยครับ ต้องสะสมชั่วโมงบินผ่านร้อนหนาวมาพักใหญ่ เหตุผลเพื่อให้นิ่งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดี อย่างที่การบินไทยที่ผมทำงานอยู่ มีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบประวัติการบินและส่วนตัวย้อนหลังไปตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน จากนั้นเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้คือเป็นนักบินผู้ช่วยที่การบินไทยมาแล้วอย่างน้อยสี่ปีและเป็นนักบินมาแล้วไม่น้อยกว่าแปดปี จึงจะมีสิทธิ์ถูกคัดเลือกเข้ารับการโปรโมทเป็นกัปตัน แต่เนื่องจากปัจจุบันนักบินมากขึ้นตามความต้องการตลาด ทำให้คิวการเข้ารับตรวจสอบยาวขึ้น นักบินผู้ช่วยในช่วงหลังกว่าจะถึงคิวก็เป็นสิบปีหรือกว่านั้น แล้วพอเข้ารับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดก็ต้องลุ้นอีกว่าจะผ่านหรือไม่ ประกอบกับขั้นตอนที่มองดูแล้วเยิ่นเย้อซับซ้อน และใช้เวลานานทำให้นักบินผู้ช่วยหลายคนถอดใจย้ายค่ายไปที่ใหม่ที่มีโอกาสจะเป็นกัปตันได้เร็วกว่าที่การบินไทย จนเป็นที่มาของนักบินสมองไหลให้บริษัทและผู้บังคับบัญชานักบินต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหากันไปในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้
ว่ากันต่อดีกว่า ทีนี้พอถึงคิว ก็จะจัดให้เข้ารับการตรวจสอบการทำงานในตำแหน่งนักบินผู้ช่วยนั่นแหละครับ โดยจะมีกัปตันที่ได้รับคำสั่งให้ไปบินด้วยในเที่ยวบิน ดูว่าทำงานได้ดีและเหมาะสมหรือไม่ตามเกณฑ์การพิจารณาที่กำหนด ซึงมีอยู่หลายหัวข้อ ขั้นตอนนี้เรียกว่า Pre-evaluate โดยหัวหน้านักบินของแต่ละฝูงบินจะจัดให้กัปตันอาวุโสในฝูงบินนั้นๆไปตรวจสอบ อารมณ์ประมาณขงเบ้งดูตัว และช่วยแนะนำว่าควรต้องปรับปรุงอะไรบ้างจึงจะเป็นกัปตันที่ดีได้ 
จากนั้น ก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป คือ การ Evaluate โดยฝ่ายมาตรฐานการบินจะจัดให้น้องๆเหล่านี้บินกับกัปตันอาวุโสอีกชุดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยกัปตันที่มีตำแหน่งบริหารในบริษัทส่วนหนึ่ง กับกัปตันอาวุโสในฝูงบินนั้นๆอีกส่วนนึง จำนวนห้าท่าน ผลัดเปลี่ยนกันไปดูตัวอีก ขั้นตอนก็คล้ายๆเดิม แต่คราวนี้เป็นการตรวจสอบเพื่อให้ผ่านหรือไม่ผ่าน มิใช่การติวให้เหมือนขั้นตอน Pre-Evaluate ส่วนใหญ่ก็จะผ่านไปได้ครับเพราะบินมานานแล้ว มีน้อยมากที่ไม่ผ่าน ต้องรอคิวกันใหม่อีก ขั้นตอนนี้จัดว่าเครียดพอตัวครับ อารมณ์คล้ายๆ AF หรือ The Voice เลยครับ เพียงแต่ไม่มีคนดูมาช่วยตัดสินด้วย
พอผ่านขั้นตอนที่สองนี้ไปได้ ก็ต้องรอเวลาอีกนิดนึง เพื่อจัดให้ทำการฝึกบินในตำแหน่งกัปตัน โดยนักบินที่ผ่านขั้นตอน Evaluate มาได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างแรง จากเคยขับเครื่องบินจากทางด้านขวา มานั่งขับด้านซ้าย จากไม่ค่อยได้ตัดสินใจอะไรเอง รอฟังคำสั่งจากกัปตัน คราวนี้ต้องได้รับบทบาทเป็นผู้ตัดสินใจเที่ยวบินทั้งหมด ความยากมันอยู่ตรงที่ผ่านมาไม่ค่อยได้มีโอกาสให้ตัดสินใจเท่าไหร่นี่แหละ อย่างว่านะครับ สังคมไทย ผู้น้อยต้องพินอบพิเทา ไม่กล้าคิดต่างจากพี่ๆกัปตันเท่าไหร่ ขืนทำอย่างนั้น ก็จะถูกมองว่าทำข้ามหน้าข้ามตา ไม่เป็นผลดีต่อตัวเองในอนาคต ก็เลยยอมคิดเหมือนตลอด ไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจเลย สมัยผมก็อย่างนี้เหมือนกัน ได้แต่หวังให้พี่ๆกัปตันรุ่นใหม่ๆช่วยกันเปลี่ยนแปลงความคิดความอ่าน ให้โอกาสน้องๆนักบินได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้น คงจะดีกับองค์กรของเรามิใช่น้อย
การฝึกบินในตำแหน่งกัปตัน จะใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปีนับตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือภาคพื้น( Ground school) จากนั้นจัดไปฝึกบินในซิมูเลเตอร์ประมาณสิบแปดครั้งเพื่อฝึกฝนท่าทางการบินและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถฝึกในเครื่องบินจริงได้ ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ก็จะจัดให้ทำการบินกับเครื่องบินจริง โดยฝึกบินขึ้นๆลงๆ เรียกว่า School flight ขั้นตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจากกรมการบินพลเรือนเข้ามาดูด้วย และพิจารณาว่าจะให้ผ่านหรือไม่ 
จากนั้นจะจัดให้ฝึกบินจริงๆกับครูการบิน (Flight instructor) ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนแล้ว ก็จะจัดบินไปอย่างน้อยสี่เดือน โดยครูการบินจะบินในตำแหน่งนักบินผู้ช่วย คอยเป็นพี่เลี้ยงและแบ็คอัพให้กับว่าที่กัปตัน ขั้นตอนนี้หินพอตัวสำหรับผู้เข้ารับการฝึก เพราะมันคือสนามจริงในตำแหน่งที่นั่งจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างบินคือเรื่องจริง และครูการบินอาจจะตั้งโจทย์ขึ้นมาใหฝึกบินหรือใช้ความคิดพิจารณาด้วยตัวเอง สนุกปนเครียดครับ เพราะต้องแบกภาระหนักอึ้งที่ไม่เคยทำมาก่อนไว้บนบ่า ไหนจะต้องบิน ต้องตัดสินใจ ต้องประสานงานกับเพื่อนร่วมงานอื่นๆระหว่างบินเช่นช่างเครื่องบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นอื่นๆอีก 
พอถึงเวลา หัวหน้าครูการบินจะพิจารณาร่วมกับครูการบินในฝูงบิน ถ้าเห็นว่าพร้อม ก็จะจัดให้เข้ารับการตรวจสอบจากหัวหน้าครูการบินหรือตัวแทน เรียกว่า Release For LIFUS Flight หรือรหัสย่อว่า Y อันนี้แหละเครียดสุดๆเพราะเดิมพันสูง ถ้าพลาดก็ต้องฝึกบินใหม่ เสียเวลาชีวิตไปอีก 
ถ้าผ่านมาได้ ก็เริ่มสบายใจนิดๆ ก้าวต่อไปคือ Line Introduction Flight Under Supervision หรือ LIFUS โดยว่าที่กัปตันจะถูกจัดให้บินกับกัปตันอาวุโสในฝูงบินอีกอย่างน้อยสามเที่ยวบินเพื่อช่วยตกแต่งเสริมต่อ ก่อนจะถึงขั้นตอนเครียดต่อไปอีกสามเที่ยวบินที่จะเป็นตัวตัดสินชะตาชีวิต ขั้นตอนนี้เรียกว่า Base Release Flight โดยที่จะถูกจัดให้บินกับนักบินผู้ช่วยตัวจริงเป็นครั้งแรก โดยมีกัปตันอาวุโสที่มีตำแหน่งสูงมานั่งดูการทำงาน อาจจะมีถามความรู้บ้างพอเป็นพิธีให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา โดยที่เที่ยวบินที่สาม หัวหน้านักบินของฝูงบินหรือตัวแทนจะมาเป็นผู้ตรวจสอบเอง และถ้าเห็นว่าดีพอ ก็จะปลดปล่อยว่าที่กัปตันให้เป็นอิสระ ทำพิธีติดสี่ขีดให้ออกไปโผบินด้วยตัวเองครับผม วันนี้แหละเป็นวันแห่งความสุขสุดๆในชีวิตการเป็นนักบินพาณิชย์ ทั้งพี่ๆกัปตัน เพื่อนๆน้องนักบิน ครอบครัว คนรอบข้างช่วยกันลุ้นให้สำเร็จ เป็นวันที่ดีที่สุดอีกวันที่น่าจดจำ
ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆและนักบินรุ่นหลังทุกท่านที่มีฝันเช่นเดียวกับผม จงกล้าฝ่าฟันทะยานไปข้างหน้า อุปสรรคมีไว้ให้เราฝึกฝนลับคมสมองให้เฉียบแหลม ฝันเราคงเป็นจริงได้สักวัน ท้องฟ้ากว้างใหญ่ไพศาลกำลังรอกัปตันอยู่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น