7 มิถุนายน 2557

เครื่องผลิตเงินสด

การเริ่มทำธุรกิจใดๆก็ตาม เจ้าของหรือผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจบัญชีบริหารอย่างถ่องแท้และนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการนั้นๆให้ได้กำไรและอยู่รอด ถ้าท่านๆที่เคยเรียนบัญชีมาบ้าง ก็พอจะจำกันได้ ในงบดุลของบริษัท ด้านขวาคือส่วนของเงินทุนที่ได้มาจากสองแหล่งคือ จากส่วนของเจ้าของ และจากการกู้ยืม ส่วนทางด้านซ้ายของงบดุล ก็คือการนำเอาเงินจากด้านขวามาเปลี่ยนไปเป็นสินค้าหรือบริการ ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพย์สินหมุนเวียน และ ทรัพย์สินถาวร

ทรัพย์สินถาวร เปรียบเสมือนเครื่องผลิตเงินสด เราเอาเงินที่ระดมมาได้จากฝั่งขวาของงบดุล เทใส่เครื่องผลิตเงินสดตัวนี้ เพื่อผลิตสินค้าหรือทรัพย์สินหมุนเวียนออกมาจำหน่าย เมื่อได้เงินสดกลับมา ก็นำเงินสดบางส่วนกลับมาเทใส่เครื่องผลิตเงินสดอันนี้อีก เป็นวัฎจักรไปเรื่อยๆ บริษัทที่อยู่รอดและทำกำไร จะต้องบริหารจัดการเครื่องผลิตเงินสดให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอและจะต้องทำงานตลอด จะหยุดก็ต่อเมื่อต้องซ่อมแซมปรับปรุงบ้าง

การได้มาของทรัพย์สินถาวร เราได้มาจากสองแหล่งเงิน ตามหลักการ เราควรจะใช้เงินทุนในส่วนของเจ้าของมาจัดหา แต่หากไม่พอ หรือเล็งเห็นว่าการกู้ยืมเงินจากภายนอกมาเพื่อซื้อเครื่องผลิตเงินสด น่าจะคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบดอกเบี้ยกู้ยืมกับรายรับที่ได้ หรือที่วงการการเงินเขาเรียกกันว่า เลเวอเรจ(Leverage) 

หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ชัดเจน ดีดลูกคิดแล้วว่าการตัดสินใจใช้เงินกู้ยืมมาจัดหาเครื่องผลิตเงินสดเพื่อมาดำเนินกิจการ น่าจะคุ้มกว่าการใช้เงินทุนส่วนของเจ้าของทั้งหมด เมื่อกู้มาซื้อทรัพย์สินถาวรแล้วเริ่มดำเนินกิจการได้ตามแผน ก็สามารถปั๊มเงินสดออกมาได้มาก เพื่อที่จะใช้เงินสดดังกล่าวส่วนหนึ่งมาเดินเครื่องต่อ อีกส่วนหนึ่งเอาไปใช้หนี้เงินกู้ ธุรกิจก็จะดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่หากตัดสินใจผิดพลาด หรือมีอะไรมาบังตากันทั้งฝ่ายบริหาร ไปหาเงินกู้มาจัดซื้อ โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อนว่า คุ้มหรือไม่ในระยะยาว ปัญหาที่ตามมาก็คือ เครื่องผลิดเงินสดไม่ได้ผลิตเงินสด เมื่อไม่ผลิต ก็ไม่มีเงินสดออกมาเพื่อนำมาเติมใส่เครื่องผลิตเงินสดต่อ และก็ไม่มีเงินสดไปจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อีกด้วย และก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าในส่วนของค่าใช้จ่ายทั่วไปก็ต้องมีผลกระทบด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

หันกลับมาดูการบินไทย เครื่องผลิตเงินสด หรือทรัพย์สินถาวรที่มีอยู่ บางส่วนไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ เครื่องบินหลายลำถูกจอดทิ้งเพราะเหตุผลที่บอกว่า บินแล้วไม่ทำกำไร ขาดทุนถ้าจะบิน เรื่องเหล่านี้มันฟ้องให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารช่วงที่ผ่านมา เครื่องบินแบบ A340-500 จำนวนสี่ลำ ที่การบินไทยสั่งซื้อมาเมื่อหลายปีก่อน จอดนิ่งสนิทมาหลายเดือนเพราะเหตุผลที่ฝ่ายวางแผนบอกว่าบินไปก็เจ๊ง เลยหยุดทำงานดีกว่า ก่อนหน้าที่หลายเดือน เคยมีบริษัท AVCON ขอเสนอซื้อหนึ่งลำในราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐในขั้นต้น ดูไปดูมาขอต่อเหลือ 23.5ล้านเหรียญ ฝ่ายบริหารการบินไทยเลยตัดสินใจไม่ขายเพราะบอกว่าถูกเกินไป รอลูกค้ารายใหม่ซึ่งจนป่านนี้ยังเงียบกริบ

ไม่ว่าเหตุผลการหยุดบินเครื่องแบบ A340-500 จะถูกหรือผิดก็ตาม แต่ผลกระทบที่มองเห็นได้ชัดคือ บริษัทยังคงต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าเช่าเครื่องผลิตเงินสดตัวนี้ต่อไปไม่ว่าจะบินหรือไม่ก็ตาม  ผลที่ตามมาก็คือ เงินทุนส่วนของเจ้าของก็จะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆเพราะต้องเอาไปเติมใส่เครื่องผลิตเงินสด และต้องนำไปจ่ายค่าเช่าเครื่องบินที่จอดเฉยๆอีกด้วย

ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายบริหารของการบินไทยต้องเร่งทำโดยด่วนคือ กำจัดเครื่องบินที่ไม่ได้เป็นเครื่องผลิตเงินสดอีกแล้วออกไปโดยด่วน เพื่อเร่งนำเงินสดกลับมาเติมใส่เครื่องผลิตเงินสดและลดหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้เกิดกำไรสะสมต่อไปได้ วัฎจักรธุรกิจจึงจะเดินต่อได้ดีขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่เห็นว่ามีความคืบหน้าใดๆเลย เครื่องบินแบบดังกล่าวยังคงจอดนิ่งเป็นค่าใช้จ่ายและต้นทุนเสียโอกาสต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับมีคนไม่อยากให้ไปแตะมัน น่าจะมีอะไรอยู่ในกอไผ่

เสียดายเงินและเวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ ชีพจรของการบินไทยเต้นเบาลงแล้วนะครับ ท่านผู้บริหารที่รัก จะทำอะไรก็รีบทำเถอะ ก่อนจะสายเกินไป

ภาพประกอบ : www.the-fruit-stand.com

--------------------------------------

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ 
www.nuckbin.blogspot.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น