5 มิถุนายน 2557

ธุรกิจการบินพลเรือนไทยประเทศไทย อะไรทำให้ไม่โต

ธุรกิจการบิน เหมือนเป็นอะไรที่ดูหอมหวาน น่าเข้ามาสัมผัส โดยเฉพาะถ้ายังจำกันได้ ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้คนในวงการศึกษาและหลายสถาบันให้ความสนใจในสาขาวิชาเกี่ยวกับการบิน ถึงขนาดเปิดทำการเรียนการสอนเกี่ยวกับการบิน ไม่ว่าจะเป็นสอนให้เป็นนักบิน เป็นแอร์ เป็นช่าง เป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้น รวมไปถึงการบริหารจัดการแอร์ไลน์ เป็นต้น ในช่วงนั้น บรรยากาศเกี่ยวกับการบินในประเทศไทยดูจะมองเห็นอนาคต น้องๆหลายคนที่มีความใฝ่ฝันในวัยเด็กอยากจะเป็นนักบิน เพราะเป็นอาชีพที่ดูดีมีเกียรติ เงินดี ได้เดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลก เฮกันเข้ามาเรียนการบิน ผ่านหลายๆสถาบันที่เปิดสอนไปพร้อมๆกับการเรียนในระดับปริญญาตรี โดยคาดหวังจะได้งานทำทันทีที่เรียนจบเพราะกระแสข่าวบอกว่า นักบินแอร์ไลน์ยังขาดแคลนอีกมากในโลก ค่าเรียนก็ไม่ได้ถูกเลย เป็นหลักสองล้านขึ้นไป บางคนฐานะทางบ้านไม่ได้ดี ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินไปเรียน พร้อมกับความหวังว่า ถ้าเรียนจบแล้ว จะได้เอาเงินที่ได้จากการเป็นนักบินไปใช้หนี้ที่กู้มา

จนแล้วจนรอด พอเรียนจบ กลับพบว่าโลกการบินไม่ได้เปิดรอรับพวกเขาอย่างง่ายๆ หลายคนดั้นด้นไปสมัครกับหลายสายบินในประเทศ พบว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมีไม่เพียงพอกับความต้องการจริงในเกือบทุกสายการบิน ส่วนบริษัทที่รับสมัครนักบินที่จบจากโรงเรียนการบินแบบใหม่ถอดด้ามก็แทบจะไม่มีเลย ส่วนใหญ่ต้องการนักบินที่มีประสบการณ์มาแล้วทั้งนั้น เพราะรับเข้ามาปุ๊บก็ใช้งานได้เลย 

สภาพเช่นนี้ เสมือนว่าอุปทาน(Supply)ที่มีในตลาดการบินมีอยู่มากแต่ไม่ตรงเป้าหมายเลยทีเดียวนัก ในประเทศสหรัฐอเมริกา นักบินที่จะมีสิทธิ์เข้าเป็นนักบินแอร์ไลน์ได้ จะต้องไปทำชั่วโมงบินหลังจากเรียนการบินจบมากพอ เพื่อสร้างประสบการณ์เสียก่อน อาจจะไปเป็นครูสอนการบิน ไปเป็นนักบินเกษตรพ่นยาฆ่าแมลงในไร่ เป็นนักบินรับจ้างพาบินชมวิวโดยใช้เครื่องลำเล็กๆแบบพาณิชย์เหมือนกัน อะไรทำนองนี้ เมื่อมีชั่วโมงบินพอ จึงจะมีโอกาสไปลองทดสอบที่สายการบิน จะเห็นได้ว่า การเปิดรับสมัครนักศึกษาไปเรียนการบินโดยไปสร้างความหวังให้ว่า จบแล้วมีงานทำแน่นอนเพราะนักบินขาด มันมีความจริงอยู่แค่ครึ่งหนึ่ง ไม่ได้บอกอีกครึ่งหนึ่งว่า จบแล้วต้องไปบินหาประสบการณ์ก่อนจึงจะมีโอกาส 

ผมเชื่อว่า ธุรกิจการบินของประเทศเรายังคงไปต่อได้เรื่อยๆ ตราบใดที่คนยังต้องการเดินทาง หลายสายการบินวางแผนขยายกิจการ ซื้อเครื่องบินมาเพิ่มเพื่อเปิดเส้นทางบินแข่งขันกันในประเทศและภูมิภาค ความต้องการนักบินยังมีอยู่ตลอด แต่ในเมื่อเราต้องการนักบินที่มีประสบการณ์การบินหลังจากจบจากโรงเรียนการบินพอสมควร แต่ไม่มีเวทีให้นักบินจบใหม่พวกนี้ได้สร้างเสริมประสบการณ์ เนื่องจากกลไกรัฐไม่ได้ช่วยสนับสนุนการบินพลเรือนโดยเฉพาะแบบที่ฝรั่งเรียกว่า General Aviationในประเทศเท่าที่ควร

การมีเครื่องบินมาครอบครอง การเปิดให้บริการรับขนส่งการบิน ยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากและหยุมหยิม เพราะฝ่ายรัฐไม่ได้ช่วยให้งานมันง่ายขึ้น เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ระเบียบข้อบังคับและกฏหมายการบินของบ้านเราก็ยังล้าหลังกว่าเพื่อนบ้าน มีผู้ลงทุนหลายรายพยายามจะทำธุรกิจการบินในประเทศไทย แต่ก็ม้วนเสื่อไปในเวลาไม่นาน ที่เหลืออยู่ก็ร่อแร่ จะมีรอดไปสวยๆก็ต้องอึดพอตัว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เวทีการบินที่จะให้น้องๆเหล่านี้ที่จบการบินมาใหม่ๆไปสร้างประสบการณ์ก็แทบจะไม่มี

การบ้านข้อนี้ ได้พยายามแก้ไขกันโดยทั้งภาครัฐและเอกชน แต่กลับกลายเป็นวิ่งไปชนตึก เพราะผู้ที่มีอำนาจพิจารณาสั่งการไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ มันขาดคำว่าวิสัยทัศน์ ถ้าท่านเดินทางผ่านไปแถวๆซอยงามดูพลี ถนนพระรามสี่ ที่นั่นเป็นที่ตั้งของกรมการบินพลเรือน หน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีหน้าที่กำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศเรา  ท่านจะเห็นตึกเก่าๆ กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่ตามได้รับมอบหมาย งบประมาณที่ผ่านเข้ามามีน้อยมาก เพราะผู้บริหารฝ่ายรัฐบาลที่ผ่านมามิได้เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศเรา จึงเรียกได้ว่า แทบไม่มีการเดินหน้าอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย ในความเห็นส่วนตัว บ้านเราควรจะมีหน่วยงานอิสระในรูปแบบรัฐวิสาหกิจขึ้นมาอีกหน่วย ทำหน้าที่เป็นผู้โปรโมตอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะ เพื่อความคล่องตัวในการบริการ ทำหน้าที่สนับสนุนการบินพลเรือนและการบินพาณิชย์ให้เติบโตสู้กับเพื่อนบ้านได้ 

มาเลเซีย เพื่อนบ้านของเรา ให้การสนับสนุนการบินพลเรือนอย่างมาก การบินเครื่องบินส่วนตัวเข้าไปในมาเลเซียไม่จำเป็นต้องขออนุญาตบินเข้า แค่ทำไฟลท์แปลน(Flight Plan)ส่งไปให้ก็บินเข้าได้ มีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินส่งมาขายในเมืองไทยและประเทศอื่นๆ มาเลเซียไม่มีเก็บค่าบริการเดินอากาศเครื่องบินพลเรือน(Air Navigation Fee) และยินดีต้อนรับเครื่องบินส่วนตัวลำเล็กๆ เพราะเล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมการบินในประเทศจะช่วยโปรโมตอุตสาหกรรมการบินไปในตัว จึงมีกฏระเบียบที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน เรื่องอย่างนี้มันคือวิสัยทัศน์ครับ

อยากเห็นการบินพลเรือนในประเทศของเรามันเดินหน้าเร็วกว่านี้ เพราะมันคือการพัฒนาการบินทั้งระบบไปด้วย ลองคิดดูว่า ประเทศของเรา กว้างใหญ่กว่ามาเลเซีย มีพื้นที่ให้ทำสนามบินของพลเรือนอีกมากมาย หากกฏระเบียบของรัฐและการส่งเสริมสนับสนุนการบินพลเรือนโดยเฉพาะGeneral Aviationถูกปลุกขึ้นมาทำกันอย่างจริงๆจัง ผมเชื่อว่าเม็ดเงินมหาศาลที่มีคุณภาพจากนักลงทุนในอุตสาหกรรมการบินจะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเมืองไทยอย่างแน่นอน รวมไปถึงน้องๆนักบินที่จบใหม่ๆจะได้มีเวทีในการสร้างประสบการณ์การบิน เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะสายการบินที่จะได้นักบินที่มีประสบการณ์และมีคุณภาพเข้ามาทำงานให้ มันวินๆทุกฝ่ายครับ 

มาช่วยกันปลดล๊อคเถอะครับ ผมอยากเห็นการบินพลเรือนในประเทศเราพัฒนากว่านี้ 

ภาพประกอบ: www.flightglobal.com
---------------------------------------------
ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น