16 พฤศจิกายน 2557

กระจกร้าว

กระจกร้าว

ตั้งแต่เป็นนักบินมา มีเหตุการณ์ระหว่างเที่ยวบินของตัวเองให้ตื่นเต้นบ้างพอเป็นพิธี พระเจ้าคงกำหนดมาให้เราต้องเจออุปสรรคบ้าง มิฉะนั้นคงจะไม่ค่อยได้ใช้สมองแก้ปัญหาเท่าไหร่ ก็เครื่องบินเดี๋ยวนี้มันฉลาดจะตาย แทบจะบินขึ้นลงเองได้อยู่แล้ว 

ตอนที่เป็นกัปตันใหม่ๆ ผมเคยมีประสบการณ์เฉียดอยู่เรื่องนึงจะเล่าสู่กันฟัง วันนั้นเป็นเที่ยวบินช่วงเย็น บินจากกรุงเทพไปอุบลราชธานี ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-400 ผมทำหน้าที่เป็นครูการบินทำการฝึกบินให้กับนักบินผู้ช่วยที่เพิ่งย้ายมา ตั้งแต่วิ่งขึ้นมาจนบินระดับที่ความสูง29000ฟุต ไม่มีอะไรผิดปกติ อากาศดี ลมสงบ ทุกอย่างดูดีไปหมด จนกระทั่ง.....

พอเครื่องบินเริ่มลดระยะสูงไม่เท่าไหร่ ผมมองเห็นประกายไฟเป็นสายยาวเหมือนฟ้าแล่บบนกระจกหน้าด้านขวาทางฝั่งนักบินผู้ช่วย แสงวาบจากประกายไฟชวนให้ขนหัวลุก แต่นั่นยังไม่เท่ากับเสียงแตกร้าวของกระจกที่ค่อยๆดัง กร๊อบ กร๊อบ กร๊อบ!!!!
ผมยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ดี กระจกมันค่อยๆร้าวจากขอบด้านขวาเข้ามายังกลางกระจก และหยุดร้าวแค่นั้น

นึกในใจ....ซวยแล้วกรู

อธิบายให้ฟังกันก่อนว่า กระจกของเครื่องบินแบบ B737-400 มีความแข็งแรงพอสมควรเพราะเป็นกระจกสามช้ัน ระหว่างชั้นกระจกจะมีสายไฟเล็กที่จะทำหน้าที่ปล่อยไฟฟ้าเข้าสู่กระจกเพื่อทำให้กระจกอุ่น ซึ่งจะทำให้กระจกมีความเหนียวขึ้น ไม่แตกง่ายๆ หากนกบินมาชนระหว่างทำการบิน แต่วันนั้น มันอ่อนแอครับ

พอตั้งสติได้ ผมก็วิเคราะห์สถานการณ์ และบอกกับนักบินผู้ช่วยว่า ให้รีบหยิบเอาหน้ากากอ๊อกซิเจนออกมาสวมพร้อมๆกัน เพราะถ้าหากกระจกแตกและหลุดออก จะเกิดสภาพที่เราเรียกว่า ความกดอากาศภายในเครื่องบินลดลงกระทันหัน หรือที่นักบินเราเรียกว่า RAPID DECOMPRESSION และจะทำให้เราหมดสติได้ภายในไม่กี่วินาที

วิธีที่ดีที่สุดตอนนั้นที่นึกขึ้นได้เท่าที่สติปัญญาพึงจะมีก็คือ ต้องรีบลดระยะสูงลงไปให้เร็วที่สุด จึงบอกให้นักบินผู้ช่วยรีบบินลงไปด้วยความเร็วสูงสุด พร้อมกับดึงสปีดเบรค(SPEEDBRAKES) ที่จะช่วยให้เครื่องบินลดระดับได้เร็วขึ้น เครื่องบินสะท้านไปทั้งลำเพราะการใช้สปีดเบรค

ผมนึกถึงผู้โดยสารที่นั่งอยู่เกือบเต็มลำ จึงรีบแจ้งหัวหน้าพนักงานต้อนรับ หรือที่เราเรียกกันว่าแอร์เพอร์เซอร์ ผมบอกสั้นๆว่าจะเปิดสัญญาณรัดเข็มขัดเร็วหน่อย มีข้อขัดข้องทางเทคนิคบางประการ ขอให้ช่วยประกาศผู้โดยสารว่าให้นั่งประจำที่เร็วกว่าปกติหน่อย แต่ไม่ได้บอกไปว่ากระจกร้าว กลัวว่าจะเกิดตื่นตระหนกตกใจกัน

เมื่อเครื่องบินบินลงมาต่ำกว่าความสูงหนึ่งหมื่นฟุต ผมกับนักบินผู้ข่วยก็ถอดหน้ากาก
อ๊อกซิเจนออก เพราะที่ระดับความสูงนี้ ถึงแม้กระจกจะแตก ก็ยังสามารถหายใจได้เกือบจะปกติ ไม่หมดสติแน่นอน ผมมองดูกระจกที่ร้าวมันยังไม่มีท่าทีจะหลุด ประกายไฟยังวาบๆแต่ยังสภาพดีอยู่ ไม่ร้าวต่อ จึงเบาใจได้นิดนึง

ผมรีบติดต่อหอบังคับการบินอุบลราชธานี บอกว่าเรามีปัญหาเรื่องกระจกบานหน้าร้าว ขอทำการลงจอดด่วน และขอไปลงจอดทางรันเวย์ด้านที่มีระบบนำร่องลงจอดแบบไอแอลเอส(ILS Instrument Landing System) ซึ่งจะทำให้การลงจอดแม่นยำกว่ารันเวย์อีกข้างที่ทำการลง เพราะผมคิดเผื่อไว้ว่าหากกระจกมันแตกหรือร้าวจนมองออกไปข้างนอกด้านหน้าไม่ได้ อย่างน้อยเราก็สามารถบินเกาะสัญญาณไอแอลเอสลงไปได้

ผมนำเครื่องบินลงจอดได้ปกติ โดยที่ผู้โดยสารไม่ทราบเลยว่าเกิดอะไรขึ้น พอเครื่องเข้าจอด เจ้าหน้าที่ขึ้นมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ผมชี้ให้ดูกระจกที่เกิดรอยร้าว ช่างเครื่องบินถึงกับส่ายหน้า และบอกผมว่า คงต้องเปลี่ยนกระจก ไม่สามารถใช้เครื่องนี้บินกลับได้ในวันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ภาคพื้นต้องแจ้งผุ้โดยสารว่าจำเป็นต้องรอเครื่องบินจากกรุงเทพอีกลำมารับแทน ต้องขอบคุณกัปตันและนักบินผู้ช่วยจากเครื่องบินอีกลำที่อาสาบินมารับผู้โดยสารที่ตกค้าง

ตัวผมเองต้องนอนค้างคืนอุบลหนึ่งคืนเพื่อรอช่างจากกทม มาเปลี่ยนกระจกให้ ช่างใช้เวลาเป็นวันเลยในการถอดเปลี่ยนเพราะกระจกเครื่องบินรุ่นนี้ จำเป็นต้องถอดส่วนประกอบด้านหน้าเครื่องที่เป็นแผงเครื่องวัดออกหลายส่วน แถมยังต้องใช้กาวที่ต้องใช้เวลารอให้แห้งอีกหลายชั่วโมง ผมนำเครื่องบินกลับกทม ในช่วงค่ำๆของอีกวันพร้อมกับนักบินผู้ช่วยอีกท่านที่อาสามาบินเครื่องลำนี้กลับด้วยกัน

ข้อผิดพลาดของผมในวันนั้นก็คือ ผมลืมหยิบเอา EMERGENCY/MALFUNCTION CHECKLIST ซึ่งเป็นคู่มือการบินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินออกมาปฏิบัติตาม เพราะมัวแต่กังวลเรื่องกระจกมากเกินไป โชคดีที่การตัดสินใจของผมวันนั้นไม่ผิดพลาด แต่นั่นก็ทำให้ผมต้องเตือนสติตัวเองว่า จากนี้ไปหากเกิดปัญหากับระบบเครื่องบิน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะต้องหยิบคู่มือดังกล่าวออกมาทำตามทันทีที่สามารถทำได้ อย่าคิดเอาเองทั้งหมดในการแก้ไขปัญหา

นึกย้อนกลับไปถึงวันนั้นทีไร เสียวสันหลังวาบทุกครั้ง ความเป็นความตายมันใกล้แค่เอื้อมจริงๆ ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

—————

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่  www.nuckbin.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น