17 พฤศจิกายน 2557

Good morning ladies and gentlemen , This is your Autopilot speaking!!!!

Good morning ladies and gentlemen , This is your Autopilot speaking!!!!

วิวัฒนาการของเทคโนโลยี่การเดินทางก้าวล้ำไปไกลและเร็วมากในยุคสมัยนี้ เมื่อร้อยปีที่แล้ว เดินทางไปไหนไกลๆข้ามน้ำข้ามทะเลมาไหนต้องใช้บริการเรือเดินสมุทร นั่งกันเป็นเดือนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง สมัยนี้ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก แค่ซื้อตั๋วเครื่องบินออนไลน์แล้วย้ายก้นย้วยๆของตัวเองไปขึ้นเครื่องให้ทัน แป๊บเดียวก็ได้ไปนั่งทานติ่มซำน้ำชาที่ฮ่องกงแล้ว

นึกถึงตอนที่ไปเรียนเปลี่ยนแบบเครื่องบินที่สิงคโปร์ ในท่าอากาศยานนานาขาติชางฮีมีบริการรถไฟฟ้าขบวนสั้นๆวิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารทั้งสามอาคาร ผู้ใช้บริการบางท่านอาจจะไม่ทราบว่าไอ้รถไฟฟ้านี่มันไม่ต้องใช้คนขับ มันวิ่งของมันเองไปๆมาๆทั้งวัน โดยที่คนเดินขึ้นลงกันตลอด เทคโนโลยี่เหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติ ยานพาหนะที่ไม่ต้องใช้มนุษย์มาขับเคลื่อนและกำกับเริ่มจะกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

แล้วเครื่องบินหล่ะ ผุ้โดยสารจะทำใจได้หรือไม่ว่า อีกไม่นานท่านอาจจะต้องฝากชีวิตไว้กับคอมพิวเตอร์และผู้ควบคุมเครื่องบินที่นั่งจิบกาแฟอยู่ที่พื้น ไม่ได้นั่งอยู่ในค๊อกพิท(Cockpit) แบบที่เราคุ้นเคยมานาน อาชีพนักบินแอร์ไลนส์อย่างพวกกระผมอาจจะกลายไปเป็นคอนดัคเตอร์คอยอำนวยการบินอยู่ที่ภาคพื้นแทนที่จะต้องขึ้นไปนั่งคอยหลบเมฆหลบสภาพอากาศเหมือนอย่างในปัจจุบัน

อย่าหัวเราะไปนะครับ ฝรั่งมังค่าเค้าเอาจริงนะเรื่องนี้ แต่ประเด็นของการทดสอบมันอยู่ตรงเรื่องความปลอดภัยสูงสุดในกรณีที่นักบินเกิดสลบไสลหรือตายคาเครื่อง เครื่องบินก็ยังสามารถทำการบินด้วยตัวมันเองบวกกับความช่วยเหลือจากนักบินที่อยู่ข้างล่างคอยพาเครื่องกลับมาลงจอดได้ด้วยความปลอดภัย 

ในปีคศ.2012 บริษัท BAE SYSTEMS ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีการบินจากประเทศอังกฤษ ได้ริเริ่มโครงการชื่อมีชื่อย่อว่า ASTRAEA ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการทดสอบการบินที่ไร้คนขับหรือที่เรียกย่อๆว่า UAV(Uninhabited Air Vehicle หรือ Unmanned Aerial Vehicle) โดยในขั้นต้นจะใช้นักบินทดสอบทำการบินขึ้นและลงจอดเท่านั้น ส่วนช่วงเวลาบนอากาศที่เหลือทั้งหมดจะถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องมีนักบินนั่งเฝ้าอยู่ในค๊อกพิท โดยใช้เครื่องบินสองใบพัดเครื่องยนต์เทอร์โบพรอพ(Twin Turboprop) รุ่น JETSTREAM 31 ในการทดสอบการบินจำนวน 20 เที่ยวบิน แต่ละเที่ยวบินใช้เวลาบินทดสอบประมาณสามชั่วโมง บินไกลประมาณ 750 ไมล์ที่ความสูงตั้งแต่ห้าพันจนถึงหนึ่งหมื่นห้าพันฟุต เหนือทะเลไอริช

การที่เอาเครื่องบินไร้คนขับแบบนี้ไปบินทดสอบในน่านฟ้าที่เครื่องบินทั่วไปเค้าใช้กันอยู่จะต้องควบคุมการบินให้ปลอดภัยที่สุดในทุกสถานการณ์ โดยในกรณีที่ต้องบินผ่านสภาพอากาศแปรปรวน เครื่องบินได้ติดตั้ง Electronic eye ในค๊อกพิทซึ่งเปรียบเสมือนตาของนักบินที่มองเห็นตัวเมฆที่อาจจะเป็นอันตรายต่อเครื่องบิน และส่งต่อข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ ทำให้เครื่องบินเลือกเส้นทางหลบเลี่ยงสภาพอากาศแปรปรวนได้เอง 

อีกระบบหนึ่งที่สำคัญที่ทำการทดสอบคือระบบ Sense And Avoid โดยที่ใช้ทรานสปอนเดอร์(Transponder)รับส่งสัญญาณกับเครื่องบินที่บินผ่านในบริเวณเดียวกันและอาจจะมีทิศทางที่จะเสี่ยงต่อการเฉี่ยวชน เพื่อประสานงานระหว่างเครื่องบินโดยอัตโนมัติและทำการบินหลบกันเองโดยคอมพิวเตอร์เป็นตัวสั่งการ และในกรณีที่รับสัญญาณทรานสปอนเดอร์ระหว่างเครื่องบินไม่ได้ ตัว Electronic eye ก็ยังสามารถส่งข้อมูลให้แก่คอมพิวเตอร์ในการคำนวณเส้นทางที่บินหลบได้ด้วยตัวเอง และระบบสุดท้ายที่ทำการทดสอบก็คือการลงจอดฉุกเฉิน(Emergency Landing) โดยติดตั้งระบบตรวจสอบสิ่งกีดขวางที่อยู่ในบริเวณที่จะทำร่อนลงจอดฉุกเฉิน ช่วยให้ไม่เกิดอุบัติเหตุรุนแรง

ผลการทดสอบเป็นไปด้วยดี ทาง BAE systems มีแผนที่จะทำการทดสอบเพิ่มเติมต่อไปอีก และในอนาคตอาจจะถึงกับไม่ต้องมีนักบินบนเครื่องบินเลย ก็คงต้องรอดูกันต่อ

ถ้าฝันของ BAE systemsเป็นจริงขึ้นมา คงได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการอุตสาหกรรมการบินเป็นแน่ พวกนักบินอย่างกระผมอาจจะต้องตกงานกันเพียบเพราะต้องหลีกทางให้พี่ออโต้ไพล๊อต(Autopilot) แต่สำหรับผู้โดยสารทั้งหลายแหล่ที่นั่งอยู่หลังค๊อกพิท ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะแฮปปี้หรือป่าวถ้ารู้ว่าไม่มีนักบินนั่งเฝ้าเครื่องบินอีกต่อไปและคนที่ประกาศต้อนรับท่านและให้ข้อมูลการบินที่สำคัญเป็นเสียงสังเคราะห์จากคอมพิวเตอร์

ว่าแต่ ใช้เสียงใครประกาศผู้โดยสารดีหว่า ณเดชน์ หรืออาฉี ?
—————————————————————————————————
ข้อมูลเพิ่มเติม www.baesystems.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น