30 มีนาคม 2558

แพะ

แพะ

วินาทีนี้ในสังคมการบินของไทย คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงเท่าเรื่องที่กรมการบินพลเรือนและสายการบินของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากผลการตรวจสอบโดย ICAO โดยการประกาศให้โลกรับรู้ว่าให้ระวังสายการบินของไทยนะ หลายประเทศเริ่มเข้ามาตรวจสอบสายการบินของไทยที่บินเข้าไปในประเทศของเขา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และอื่นๆกำลังทะยอยกันมาตรวจสอบเครื่องบินโดยสารที่บินเข้าไปและบินออกมา ทั้งแบบบินประจำและไม่ประจำ ต่างได้รับอานิสงส์นี้กันทั่วหน้า รวมถึงการบินไทยของผมด้วย

ถ้าหากย้อนหลังกลับไปแก้ไขได้ กรมการบินพลเรือนและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คงอยากจะทำให้มันดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประกาศว่าอาจจะไม่ปลอดภัยที่สายการบินของไทยจะรับขนผู้โดยสารและสินค้าเข้าสู่ประเทศอื่นๆในโลก แต่มันก็คงทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้ที่หวังไว้คือ เตรียมความพร้อมรับมือกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจสอบทั้งหลายแหล่รอบโลก

อันที่จริง การตรวจสอบอย่างนี้มีมาโดยตลอดอยู่แล้ว เพราะเป็นกฏหมายและระเบียบสากล เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเครื่องบิน การเดินทางโดยเครื่องบินมันแวะจอดปั๊มกลางทางเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้ มันเป็นไดนามิค พอบินขึ้นแล้ว ก็ต้องหาที่บินลงเพื่อแก้ไขปัญหาและเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นกฏระเบียบต่างๆจึงต้องเคร่งครัดและรัดกุม ท่านลองนึกภาพการเดินทางโดยทางเครื่องบินโดยสารที่ผ่านมา เพียงแค่ย่างเท้าเข้าไปในสนามบินใหญ่ๆ ท่านก็จะถูกตรวจสอบสัมภาระและทำบอดี้เช็คโดยเจ้าหน้าที่สนามบิน พอผ่านด่านนี้มาได้ เข้าเช็คอิน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นของสายการบินก็ต้องตรวจสอบพาสปอร์ตและเอกสารของท่านอย่างละเอียด เสร็จแล้วเดินเข้าไปในส่วนแอร์ไซด์ (Airside) ก็ต้องถูกตรวจสอบกระเป๋าและตรวจบอดี้เช็คอีกรอบ หลายประเทศเข้มงวดมาก ลูบไล้ไปตามตัวของผู้โดยสารจนได้สยิว เข็มขัด รองเท้า เสื้อกันหนาว ของเหลว สารพัดจะห้าม จนแอบเคืองกันไปทั่วหน้า แต่ก็ต้องยอมเพราะอยากไปเที่ยวกัน

ผ่านด่านนี้มาได้ก็โล่งหน่อย เดินต่อเข้าไปจ่อบอร์ดดิ้งเกท (Boarding gate) เจ้าหน้าที่ของสายการบินประจำเกทก็จะตรวจสอบบอร์ดดิ้งพาสและพาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวประขาชนอีกรอบ เดินเข้าไปที่เครื่อง พี่น้องแอร์สจ๊วตที่ยิ้มหวานอยู่หน้าปากประตูเครื่องบินก็ขอให้ท่านยื่นบอร์ดดิ้งพาสให้ดูหน่อยว่าใช่ผู้โดยสารมั๊ย ไม่ใช่อาแป๊ะอาซิ้มที่ไหนเดินมืนเข้าเครื่อง พอหาที่นั่งได้ ก็ต้องเก็บสัมภาระเข้าที่ แอร์สจ๊วตก็เข้ามาตรวจสอบว่าเก็บของเรียบร้อยดี ไม่กีดขวางทางเดินและทางออกฉุกเฉินเพราะเวลาที่เกิดเหตุขึ้นมามันจะเคลื่อนที่ออกจากเครื่องบินได้ช้า พอนั่งที่ปุ๊บ ก็ต้องรัดสายเข็มขัดที่นั่งให้ตัวเองและเด็กๆ ถ้าไม่รัดก็จะถูกเตือนแกมขอร้องให้รัด

จากนั้นถ้าเป็นเครื่องบินที่มีระบบ Inflight entertainment equipment (IFE) ก็จะเปิดวิดิโอสาธิตการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินบนเครื่องบินให้ท่านดูระหว่างที่เครื่องบินยังไม่ออกเดินทาง ใครที่เคยขึ้นเครื่องบินบ่อยๆก็มักจะเพิกเฉยไม่สนใจ อันนี้ที่น่าเป็นห่วง เพราะอะไรที่ไม่ซักซ้อมไว้ก่อน พอเกิดขึ้นมาจริงๆ โอกาสจะรอดปลอดภัยไม่บาดเจ็บก็คงน้อยลงกว่าคนที่สนใจดูและฟัง

เมื่อเครื่องบินจะวิ่งขึ้นหรือลงจอด พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็จะประกาศให้ปรับพนักเก้าอี้ให้อยู่ในระดับตรง เก็บสิ่งของส่วนตัวเข้าที่ พับชั้นวางอาหารหน้าที่นั่ง และตรวจสอบเข็มขัดที่นั่งอีกครั้งหนึ่ง

ที่สาธยายมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงเบื้องหน้าที่ท่านผู้โดยสารเครื่องบินได้สัมผัสด้วยตา แต่ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายที่สนับสนุนและส่งเสริมความปลอดภัยในการบิน นักบินที่ทำหน้าที่ควบคุมอากาศยาน ต้องได้รับการตรวจสอบความพร้อมอยู่เสมอโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทของตน เอกสารการบินต้องไม่หมดอายุ ต้องตรวจสอบอุปกรณ์การบินให้พร้อมใช้งานและไม่หมดอายุ และต้องแม่นยำให้ระเบียบปฏิบัติต่างๆในเรื่องการบินสากลเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะดูแลการบินให้ปลอดภัยสูงสุด ในส่วนของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องได้รับการตรวจสอบและเรียนรู้อยู่เสมอเกี่ยวกับความปลอดภัยและวิธีปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน ช่างเครื่องบินต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือนและบริษัทของตนว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่แท้จริงในการตรวจสอบและซ่อมบำรุงอากาศยาน เจ้าหน้าที่อำนวยการบินของบริษัทหรือดิสแพทเชอร์(Dispatcher) ต้องตรวจสอบเส้นทางบิน ขออนุญาตทำการบินขึ้นลงจากสนามบิน ขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าประเทศต่างๆ ตรวจสอบกฏระเบียบการบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ เพราะถ้าไม่ถูกต้อง เครื่องบินอาจจะถูกสั่งไม่ให้บินผ่านน่านฟ้าหรือถึงขั้นถูกสั่งให้บินลงจอด หรืออาจถึงขั้นถูกยิงตกอย่างที่เป็นข่าวให้เราๆเศร้าใจกัน

คำถามของปัญหาวันนี้ที่การบินประเทศไทยจะต้องประสบ ล้วนมีสาเหตุมาจากจุดมุ่งหมายสูงสุดคือความปลอดภัย หากมองในมุมที่ดี เรามีโอกาสได้ปรับปรุงพัฒนาการบินพลเรือนทั้งระบบ เรามีโอกาสได้ศึกษากลไกต่างๆของโลกในการพัฒนาปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยการบินสากลว่าเป็นอย่างไร ผลพลอยได้อีกอย่างคือผู้โดยสารจะรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยมากขึ้นเพราะเห็นได้ว่าไม่สามารถประนีประนอมกับกระบวนการต่างๆเพื่อความปลอดภัยการบิน ชีวิตของผู้โดยสารและลูกเรือที่อยู่บนเครื่องบินย่อมสำคัญกว่าสิ่งใดๆ หากคิดได้อย่างนี้ ความคิดของคนไทยก็จะเปลี่ยนไป หันมาสนใจและระมัดระวังมากขึ้น

ดังนั้น คำตอบของปัญหาในวันนี้คือ "ยอมรับ และเลิกหาแพะ" หันมาร่วมมือร่วมใจกันทำให้ได้มาตรฐาน นึกภาพนักเรียนสอบตก โทษคนอื่นมันจะสอบผ่านมั๊ยหล่ะ ที่ต้องทำคือตั้งใจเรียน และสอบใหม่ ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกไปอยู่ดิวิชั่นหนึ่งสักแป๊บ จะได้มีเวลาเสริมเงินทุน หาโค้ชใหม่ เสริมผู้เล่นที่เก่งๆ และโปรโมทให้แฟนคลับกลับมาเชียร์อีกครั้ง

เขียนไปเขียนมา ลงที่ฟุตบอลได้งัยเนี่ยตรู!!!

29 มีนาคม 2558

SURVIVAL E-BOOK Sold!!!!

เรื่องสั้นของผม "SURVIVAL" สามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้แล้วนะครับ โดยผ่านทาง MEB Application บน IOS และ Android หรือกดลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ รายได้ทั้งหมดที่ได้จากการขายอีบุ๊ค จะมอบให้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ช่วยกันอุดหนุนด้วยครับ ได้ทั้งความสนุกและได้ทั้งบุญกุศล


ดาวน์โหลดเรื่องสั้น SURVIVAL ตรงนี้เลย

2 มีนาคม 2558

Royce vs Royce

Royce vs Royce

มันเป็นความบังเอิญของชีวิตนักบินอย่างผมที่ได้รู้จักและคุ้นเคยกับสินค้าสองชนิดที่มีความพ้องของชื่อ มันมีที่มาที่ไปและคุณลักษณะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สินค้าชนิดแรก เป็นเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดใหญ่ที่สามารถนำเครื่องบิน B787-8 Dreamliner ที่ผมบินอยู่ ทะยานขึ้นท้องฟ้าพาบินไปไกลครึ่งค่อนโลก และสินค้าชนิดที่สองเป็นของหวานนุ่มลิ้นที่บรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ ลูกเล็กเด็กแดงที่ได้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่น คงจะได้ลิ้มรสและซื้อกลับมาเป็นของฝากญาติสนิทมิตรสหายกันอยู่เป็นประจำจนผู้ขายแทบจะวางของไม่ทัน

Roll-Royce ชื่อบริษัทที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานร้อยกว่าปี ในปีคศ.1884 Henry Royce  เริ่มสร้างธุรกิจขึ้นที่ประเทศอังกฤษ เขาออกแบบและผลิตรถยนต์ออกมาเพื่อส่งขาย และในเดือนพฤษภาคมของปีนั้นเอง เขาได้รู้จักกับ Charles Rolls ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทขายรถในลอนดอน ในปีคศ.1904 ทั้งคู่ตกลงร่วมมือกันสร้างบริษัท Rolls-Royce โดยที่ Royce จะดูแลการผลิตรถยนต์เพื่อให้ Rolls ดูแลการจัดจำหน่าย 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Rolls-Royce ก้าวเข้าสู่ธุรกิจการสร้างเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน โดยได้ออกแบบเครื่องยนต์รุ่น The Eagle ซึ่งเป็นเครื่องยนต์แบบแรกของโลกที่ติดตั้งบนเครื่องบินแบบ Vickers Vimy ของอังกฤษที่สามารถบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคได้ เครื่องยนต์รหัส “R” ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นมาในปีคศ.1931 เพื่อใช้กับเครื่อง Seaplane และสร้างสถิติโลกในการบินด้วยความเร็วมากกว่า 400ไมล์ต่อชั่วโมง Royce ได้เริ่มต้นโครงการสร้างเครื่องยนต์แบบ Merlin ในปีคศ.1933 แต่เขาได้เสียชีวิตลงเสียก่อนในปีนั้นเอง

ปีคศ.1944 บริษัท Rolls-Royce เริ่มพัฒนาเครื่องยนต์กังหันใบพัด กลายเป็นผู้นำเทคโนโลยี่ในการผลิตเครื่องยนต์ ผู้ที่บุกเบิกการออกแบบในครั้งนั้นคือ Sir Frank Whittle ซึ่งได้นำบริษัทเข้าสู่ตลาดเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนรุ่น Conway ที่ติดตั้งในเครื่องบินแบบ Boeing 707 กลายเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนรุ่นแรกที่ใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ ในปีคศ.1966 Rolls-Royce รวมหุ้นกับบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อีกเจ้าหนึ่งในอังกฤษ นั่นคือบริษัท Bristol Siddeley กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมผลิตเครื่องยนต์ของโลก

ในปีคศ.1960 Rolls-Royce เริ่มโปรเจ็คท์สร้างเครื่องยนต์แบบ RB211 เพื่อใช้กับเครื่องบินแบบ Lockheed L-1011 Tri-Star ซึ่งกลายเป็นหายนะของบริษัทในครั้งนั้น ในปีคศ.1971 ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตนำไปสู่ภาวะล้มละลาย โดยรัฐเข้ามาบริหารจัดการบริษัทเอง และในปีคศ.1973 ได้ถูกแยกส่วนของการผลิตรถยนต์ออกไปต่างหากเพื่อแยกแยะหนี้สิน

ในปีคศ.1987 Rolls-Royce กลับมาอีกครั้งในรูปของบริษัทเอกชน และในปีคศ.1990 ได้ร่วมทุน (Joint venture) กับบริษัท BMW ของเยอรมัน เปิดบริษัทผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินร่วมกัน ส่วนการผลิตรถยนต์ของ Rolls-Royce ได้ถูกซื้อกิจการไปโดย BMW นั่นเองในปีคศ.2003

ในปีคศ.2006 เครื่องยนต์แบบ Trent1000 ของRolls-Royce ซึ่งได้รับการออกแบบสำหรับใช้กับเครื่องบินแบบ  Boeing 787 Dreamliner ได้ถูกขับเคลื่อนเป็นครั้งแรก และในปีคศ.2010 เครื่องยนต์แบบ Trent XWB ที่จะถูกใช้กับเครื่องบินรุ่นใหม่ของ Airbus นั่นคือ A350 XWB ได้เริ่มต้นเดินเครื่อง นำไปสู่การสั่งซื้อเครื่องยนต์แบบนี้เกือบ 1150 เครื่องสำหรับลูกค้าที่รอรับอยู่ในอนาคต และในปีคศ.2013 เครื่องยนต์แบบ Trent XWB ที่จะใช้แทนเครื่องยนต์แบบ Trent 900 ซึ่งถูกติดตั้งกับเครื่องบินแบบ A380 ได้บินขึ้นทดลองเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ส่วนสินค้าที่ขายดีอันดับต้นๆของญี่ปุ่น ที่คนไทยมักจะซื้อกลับมาเป็นของฝาก ก็คือช๊อคโกแลตชื่อดัง E-royce หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า Royce โดยคุณ Yasuhiro Yamazi เจ้าของและประธานบริษัทได้ก่อตั้งขึ้นมาในปีคศ.1983 ที่เมืองซัปโปโร โดยมีทุนของบริษัทเมื่อเริ่มต้นที่สิบล้านเยน ในช่วงสองปีแรกที่เปิดบริษัท การเงินไม่ค่อยดีเพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจญี่ปุ่นแย่ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ธุรกิจดีขึ้นมาก ร้านขายช๊อคโกแลตของ Royce เปิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี1993 ใช้ชื่อร้านว่า Higashi Naebo Main Shop ซึ่งขายช๊อคโกแลตของ Royce เองและของที่ระลึกอื่นๆด้วย 

ในปีคศ.1996 ได้เปิดศูนย์ส่งสินค้าขึ้นมา รวมไปถึงสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่อีกอันหนึ่ง ชื่อว่า “Nama” และในปีคศ.1997 บริษัทเปิดช๊อปในห้าง Mitsukoshi ใจกลางเมืองSapporo จากนั้นก็ขยายกิจการโดยเปิดร้านขายในสนามบิน โดยเริ่มต้นที่สนามบินภายในเกาะHokkaido 

จากนั้นก็ได้ขยายกิจการออกสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเซียด้วยกันมีอยู่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยซึ่งมีอยู่ถึงสี่สาขา โดยสาขาแรกเปิดที่ห้างเซ็นทรัลเวิรลด์ ในปีคศ.2005 Royce เริ่มขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆเช่นอาหาร น้ำดื่ม เหล้า กาแฟ ภัตตาคาร งานศิลปะ และธุรกิจประกันภัย และในปีคศ.2011 ได้เปิด Royce’ Chocolate World ที่สนามบิน New Chitose ในเมืองซัปโปโร เพื่อให้สาวกของE-royce ได้เดินชมและซื้อเป็นของฝากได้ด้วย

สินค้าของ E-royce มีแพ็คเกจที่เรียบง่ายแต่สวยงาม ช๊อคโกแลตมีหลายแบบ สำหรับแบบที่นิยมซื้อกัน เมื่อเปิดกล่องออกมาจะเจอช๊อคโกแลตรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณหนึ่งตารางนิ้วจำนวนยี่สิบชิ้นถูกตัดมาแล้วและวางเรียงกันสวยงาม มีทั้งแบบที่เป็นเพียวช๊อคโกแลต หรือแบบผสมนมหรือเหล้า แล้วแต่ชอบ สนนราคาก็อยู่ในวิสัยที่นักท่องเที่ยวอย่างพี่ไทยพอจับจ่ายได้ เป็นของฝากจากญี่ปุ่นที่คนไทยชอบเหมาเข่งกลับบ้านจากสนามบินในญี่ปุ่นเพราะไม่ต้องเสียภาษีบ้านเค้า แต่บ้านเรา ตัวใครตัวมันนะ

ทุกครั้งที่ผมเดินทางกลับจากญี่ปุ่น Rolls-Royce จะต้องปะทะกับ E-Royce อยู่เสมอ  ขับเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ของ Rolls-Royce พร้อมกับชิมช๊อคโกแลตชั้นเลิศจาก E-Royce มันสุดแสนจะ Aroi (อร่อย) จริงมั๊ยท่านผู้ชม!!!!!!

—————————


ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่  www.nuckbin.blogspot.com