30 มีนาคม 2558

แพะ

แพะ

วินาทีนี้ในสังคมการบินของไทย คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงเท่าเรื่องที่กรมการบินพลเรือนและสายการบินของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากผลการตรวจสอบโดย ICAO โดยการประกาศให้โลกรับรู้ว่าให้ระวังสายการบินของไทยนะ หลายประเทศเริ่มเข้ามาตรวจสอบสายการบินของไทยที่บินเข้าไปในประเทศของเขา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และอื่นๆกำลังทะยอยกันมาตรวจสอบเครื่องบินโดยสารที่บินเข้าไปและบินออกมา ทั้งแบบบินประจำและไม่ประจำ ต่างได้รับอานิสงส์นี้กันทั่วหน้า รวมถึงการบินไทยของผมด้วย

ถ้าหากย้อนหลังกลับไปแก้ไขได้ กรมการบินพลเรือนและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คงอยากจะทำให้มันดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประกาศว่าอาจจะไม่ปลอดภัยที่สายการบินของไทยจะรับขนผู้โดยสารและสินค้าเข้าสู่ประเทศอื่นๆในโลก แต่มันก็คงทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้ที่หวังไว้คือ เตรียมความพร้อมรับมือกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจสอบทั้งหลายแหล่รอบโลก

อันที่จริง การตรวจสอบอย่างนี้มีมาโดยตลอดอยู่แล้ว เพราะเป็นกฏหมายและระเบียบสากล เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเครื่องบิน การเดินทางโดยเครื่องบินมันแวะจอดปั๊มกลางทางเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้ มันเป็นไดนามิค พอบินขึ้นแล้ว ก็ต้องหาที่บินลงเพื่อแก้ไขปัญหาและเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นกฏระเบียบต่างๆจึงต้องเคร่งครัดและรัดกุม ท่านลองนึกภาพการเดินทางโดยทางเครื่องบินโดยสารที่ผ่านมา เพียงแค่ย่างเท้าเข้าไปในสนามบินใหญ่ๆ ท่านก็จะถูกตรวจสอบสัมภาระและทำบอดี้เช็คโดยเจ้าหน้าที่สนามบิน พอผ่านด่านนี้มาได้ เข้าเช็คอิน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นของสายการบินก็ต้องตรวจสอบพาสปอร์ตและเอกสารของท่านอย่างละเอียด เสร็จแล้วเดินเข้าไปในส่วนแอร์ไซด์ (Airside) ก็ต้องถูกตรวจสอบกระเป๋าและตรวจบอดี้เช็คอีกรอบ หลายประเทศเข้มงวดมาก ลูบไล้ไปตามตัวของผู้โดยสารจนได้สยิว เข็มขัด รองเท้า เสื้อกันหนาว ของเหลว สารพัดจะห้าม จนแอบเคืองกันไปทั่วหน้า แต่ก็ต้องยอมเพราะอยากไปเที่ยวกัน

ผ่านด่านนี้มาได้ก็โล่งหน่อย เดินต่อเข้าไปจ่อบอร์ดดิ้งเกท (Boarding gate) เจ้าหน้าที่ของสายการบินประจำเกทก็จะตรวจสอบบอร์ดดิ้งพาสและพาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวประขาชนอีกรอบ เดินเข้าไปที่เครื่อง พี่น้องแอร์สจ๊วตที่ยิ้มหวานอยู่หน้าปากประตูเครื่องบินก็ขอให้ท่านยื่นบอร์ดดิ้งพาสให้ดูหน่อยว่าใช่ผู้โดยสารมั๊ย ไม่ใช่อาแป๊ะอาซิ้มที่ไหนเดินมืนเข้าเครื่อง พอหาที่นั่งได้ ก็ต้องเก็บสัมภาระเข้าที่ แอร์สจ๊วตก็เข้ามาตรวจสอบว่าเก็บของเรียบร้อยดี ไม่กีดขวางทางเดินและทางออกฉุกเฉินเพราะเวลาที่เกิดเหตุขึ้นมามันจะเคลื่อนที่ออกจากเครื่องบินได้ช้า พอนั่งที่ปุ๊บ ก็ต้องรัดสายเข็มขัดที่นั่งให้ตัวเองและเด็กๆ ถ้าไม่รัดก็จะถูกเตือนแกมขอร้องให้รัด

จากนั้นถ้าเป็นเครื่องบินที่มีระบบ Inflight entertainment equipment (IFE) ก็จะเปิดวิดิโอสาธิตการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินบนเครื่องบินให้ท่านดูระหว่างที่เครื่องบินยังไม่ออกเดินทาง ใครที่เคยขึ้นเครื่องบินบ่อยๆก็มักจะเพิกเฉยไม่สนใจ อันนี้ที่น่าเป็นห่วง เพราะอะไรที่ไม่ซักซ้อมไว้ก่อน พอเกิดขึ้นมาจริงๆ โอกาสจะรอดปลอดภัยไม่บาดเจ็บก็คงน้อยลงกว่าคนที่สนใจดูและฟัง

เมื่อเครื่องบินจะวิ่งขึ้นหรือลงจอด พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็จะประกาศให้ปรับพนักเก้าอี้ให้อยู่ในระดับตรง เก็บสิ่งของส่วนตัวเข้าที่ พับชั้นวางอาหารหน้าที่นั่ง และตรวจสอบเข็มขัดที่นั่งอีกครั้งหนึ่ง

ที่สาธยายมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงเบื้องหน้าที่ท่านผู้โดยสารเครื่องบินได้สัมผัสด้วยตา แต่ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายที่สนับสนุนและส่งเสริมความปลอดภัยในการบิน นักบินที่ทำหน้าที่ควบคุมอากาศยาน ต้องได้รับการตรวจสอบความพร้อมอยู่เสมอโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทของตน เอกสารการบินต้องไม่หมดอายุ ต้องตรวจสอบอุปกรณ์การบินให้พร้อมใช้งานและไม่หมดอายุ และต้องแม่นยำให้ระเบียบปฏิบัติต่างๆในเรื่องการบินสากลเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะดูแลการบินให้ปลอดภัยสูงสุด ในส่วนของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องได้รับการตรวจสอบและเรียนรู้อยู่เสมอเกี่ยวกับความปลอดภัยและวิธีปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน ช่างเครื่องบินต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือนและบริษัทของตนว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่แท้จริงในการตรวจสอบและซ่อมบำรุงอากาศยาน เจ้าหน้าที่อำนวยการบินของบริษัทหรือดิสแพทเชอร์(Dispatcher) ต้องตรวจสอบเส้นทางบิน ขออนุญาตทำการบินขึ้นลงจากสนามบิน ขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าประเทศต่างๆ ตรวจสอบกฏระเบียบการบินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่างๆ เพราะถ้าไม่ถูกต้อง เครื่องบินอาจจะถูกสั่งไม่ให้บินผ่านน่านฟ้าหรือถึงขั้นถูกสั่งให้บินลงจอด หรืออาจถึงขั้นถูกยิงตกอย่างที่เป็นข่าวให้เราๆเศร้าใจกัน

คำถามของปัญหาวันนี้ที่การบินประเทศไทยจะต้องประสบ ล้วนมีสาเหตุมาจากจุดมุ่งหมายสูงสุดคือความปลอดภัย หากมองในมุมที่ดี เรามีโอกาสได้ปรับปรุงพัฒนาการบินพลเรือนทั้งระบบ เรามีโอกาสได้ศึกษากลไกต่างๆของโลกในการพัฒนาปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยการบินสากลว่าเป็นอย่างไร ผลพลอยได้อีกอย่างคือผู้โดยสารจะรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยมากขึ้นเพราะเห็นได้ว่าไม่สามารถประนีประนอมกับกระบวนการต่างๆเพื่อความปลอดภัยการบิน ชีวิตของผู้โดยสารและลูกเรือที่อยู่บนเครื่องบินย่อมสำคัญกว่าสิ่งใดๆ หากคิดได้อย่างนี้ ความคิดของคนไทยก็จะเปลี่ยนไป หันมาสนใจและระมัดระวังมากขึ้น

ดังนั้น คำตอบของปัญหาในวันนี้คือ "ยอมรับ และเลิกหาแพะ" หันมาร่วมมือร่วมใจกันทำให้ได้มาตรฐาน นึกภาพนักเรียนสอบตก โทษคนอื่นมันจะสอบผ่านมั๊ยหล่ะ ที่ต้องทำคือตั้งใจเรียน และสอบใหม่ ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกไปอยู่ดิวิชั่นหนึ่งสักแป๊บ จะได้มีเวลาเสริมเงินทุน หาโค้ชใหม่ เสริมผู้เล่นที่เก่งๆ และโปรโมทให้แฟนคลับกลับมาเชียร์อีกครั้ง

เขียนไปเขียนมา ลงที่ฟุตบอลได้งัยเนี่ยตรู!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น