21 พฤษภาคม 2557

เรื่องของซิมมูเลเตอร์ มันเป็นยังงัยนะ

น่าจะมีหลายคนสงสัยว่า นักบินเวลาจะฝึกทบทวนในเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (FLIGHT SIMULATOR) เค้าทำกันอย่างไร ในฐานะที่ทำงานเป็นนักบินเกือบจะ20ปีแล้ว เลยอยากจะแชร์ความรู้แบบอ่านกันง่ายๆ ให้คนทั่วไปได้ทราบบ้างนะครับ

1.ทำไมนักบินต้องบินเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง

ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 78 ให้ไว้ ณ วันที่ 4 มกราคม 2551 กําหนดให้ผู้ได้รับใบรับรองผู้ดําเนินการเดินอากาศจะต้องจัดทําหลักสูตรการ ฝึกอบรมผู้ประจําหน้าที่ในอากาศที่เป็นไปตามข้อกําหนดที่กรมการขนส่งทางอากาศ(ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมการบินพลเรือน)ประกาศกําหนด และได้รับการรับรองโดยหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวจะต้องมีการฝึกบินทบทวน (Recurrent Flight Training) ของอากาศยานแบบต่าง ๆ ที่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยฝึกบินจําลอง (Flight Simulation Training Device) ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางอากาศตามระยะเวลาที่กําหนด
โดยหลักสูตรการฝึกอบรมแบบ Recurrent training หมายถึง หลักสูตรการฝึกอบรมสําหรับผู้ประจําหน้าที่ในอากาศ –เครื่องบิน เพื่อฝึกทบทวนตามวาระตามที่กําหนดไว้ใน ประกาศกรมการบินพลเรือนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในสภาวะการบินปกติ ผิดปกติ และฉุกเฉิน
ทั้งนี้ จะต้องทำการฝึกทบทวนอย่างน้อย1session(4ชั่วโมง) และทำการตรวจสอบอีก1session(4ชั่วโมง) ในการฝึกทบทวนในเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง โดยผู้ที่จะทำการฝึกและตรวจสอบจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน

2.เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (FLIGHT SIMULATOR) มีกี่ประเภท

ถ้านับเฉพาะแบบที่มีการเคลื่อนไหวได้จริงๆ ไม่ใช่แบบที่มีแค่จอมอนิเตอร์ เราจะเรียกแบบที่เคลื่อนไหวได้ว่าFULL FLIGHT SIMULATOR แบ่งได้เป็นสี่แบบ สี่ระดับ ตั้งแต่LEVEL A,B,CจนถึงD โดยที่แบบD จะเคลื่อนไหวได้หกทิศทาง(SIX DEGREE OF FREEDOM) คือมันจะเคลื่อนที่ ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา บน-ล่าง กระดกหัวขึ้น-ลง ส่ายหัวซ้าย-ขวา และ เอียงปีกซ้าย-ขวา ซึ่งจะให้ความสมจริงตามการเคลื่อนไหวของเครื่องบิน แบบD เป็นแบบที่นักบินแอร์ไลน์รู้จักและคุ้นเคยอย่างดีครับ

3.ใครบ้างที่เข้าไปอยู่ในเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง เวลาที่ทำการฝึก

อย่างน้อยก็มีสามคนครับ คือนักบินที่เข้ารับการฝึกและตรวจสอบ โดยจะมีผู้ที่นั่งเก้าอี้ซ้าย เราเรียกว่ากัปตัน(CAPTAIN) ซึ่งจะมีบทบาทในการควบคุมและตัดสินใจในทุกกรณี อีกคนนั่งทางขวา เราเรียกคนนี้ว่านักบินผู้ช่วย หรือโคไพล็อต(COPILOT)ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของกัปตัน อีกคนนึงก็คือครูการบิน(FLIGHT SIMULATOR INSTRUCTOR) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและสมมติสถานการณ์ในเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง และทำหน้าที่ฝึกสอนให้นักบินที่เข้ารับการฝึกและตรวจสอบในเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง

4.เวลาอยู่ในเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง ความรู้สึกเหมือนเครื่องบินจริงๆหรือไม่

เหมือนมากครับ ทั้งภาพที่เห็นจากหน้าจอที่เป็นกระจกด้านหน้าของเครื่อง เสียงที่ออกจากลำโพงในเครื่องช่วยฝึกบินจำลองก็เสมือนจริงมากๆ สำหรับการเคลื่อนไหวก็จำลองได้เหมือนมีมูฟเม้นต์จริงๆครับ ทำให้ใกล้เคียงกับสภาพเหตุการณ์จริงๆ ที่จะไม่เหมือนก็คือจะไม่มีระบบปรับความดัน คือจะไม่มีความรู้สึกหูอื้อเหมือนของจริงครับ

5.แล้วซิมมูเลเตอร์มันเคลื่อนไหวได้อย่างไร

ครูการบินจะเป็นผู้ควบคุมครับ ผ่านinterface panelที่อยู่ในเครื่อง โดยก่อนทำการฝึก ฝ่ายช่างจะเปิดระบบไฮโดรลิคและเครื่องปรับอากาศให้ครับ ตัวซิมมูเลเตอร์จะเคลื่อนไหวแบบหกทิศทางโดยขาไฮโดรลิคหกขาที่รองรับตัวซิมนั่นเองครับ

6.อันตรายมั๊ยเวลาอยู่ในซิม

ไม่ครับ นักบินจะต้องรัดสายเข็มขัดตลอดเวลาที่ซิมเปิดระบบเคลื่อนไหว และหากเกิดปัญหา ตัวซิมเองจะมีระบบanti-crashครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น