4 มิถุนายน 2557

Etihad takeoff, Thai Airways landing?


Etihad takeoff, Thai Airways landing?


เพื่อนนักบินแอร์ไลนส์ในประเทศไทยของผมหลายคน ออกไปตกทองนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินเจ้าหนึ่งในเอเซียตะวันออกกลางที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2003 นั่นคือสายการบินเอทิฮัด แห่งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศแห่งนี้มีสายการบินระดับโลกอยู่สองสาย อีกหนึ่งเจ้าคือ เอมิเรตส์แอร์ไลนส์ ซึ่งมีฐานการบินตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานดูไบ ทั้งสองสายการบินต่างก็แข่งขันกันในตลาดโลกอย่างคึกคัก ผลกำไรตอบแทนที่รายงานต่อสื่อทั้งหลายออกมาในแง่บวก นั่นอาจจะเป็นเพราะเงินถุงเงินถัง รัฐบาลสนับสนุนทั้งเรื่องการเงินและการโปรโมตผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ทั่วโลก และมองไกล จึงไม่ยากที่จะประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ เค้าบริหารอย่างมืออาชีพ จ้างผู้บริหารต่างชาติที่เป็นมืออาชีพ ข้อดีคือไม่ต้องมีความลำเอียง ว่ากันตามกติกาสากล ดีคือดี ผิดคือผิด ทำไม่ได้ก็เดินออกไป ทำได้ดีได้รางวัลและทำต่อไป แฟร์เกม 

ชื่อของเอทิฮัด ซึ่งเป็นภาษาอารบิค มีความหมายว่า “ สหภาพ “หรือ "Union" ในภาษาอังกฤษ ฟังดูดี เพราะมันหมายถึงร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันทำให้สำเร็จสมหวังทุกคนที่เป็นสมาชิกนั่นเอง สายการบินเอทิฮัดทำการบินมากกว่าหนึ่งพันเที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 96 จุดหมายเดินทางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป เอเซีย ออสเตรเลีย และทวีปอเมริกา มีเครื่องบินเกือบ90 ลำ ทั้งของแอร์บัสและโบอิ้ง ในปี2012 ทำกำไรได้ถึง 42ล้านเหรียญสหรัฐ 

เอทิฮัดเป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับที่สี่ในตะวันออกกลาง และเป็นอันดับสองรองจากสายการบินเอมิเรตส์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยกัน นอกจากธุรกิจสายการบิน เอทิฮัดยังทำธุรกิจทัวร์และขนส่งสินค้าอีกด้วย เอทิฮัดมีศูนย์การบินตั้งอยู่ที่สนามบินอาบูดาบี และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงคาลิฟา เอทิฮัดเพิ่งมารายงานว่ามีกำไรจริงๆก็เมื่อปี 2011 ที่ผ่านมานี่เอง คือมีกำไร14ล้านเหรียญสหรัฐ ตามแผนกลยุทธ์ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี2006 ว่าจะเริ่มเห็นกำไร โดย เจมส์ โฮแกน ซีอีโอของเอทิฮัด

ในเดือนธันวาคม 2011 เอทิฮัดประกาศการเข้าไปถือหุ้น 29.21%ในสายการบินแอร์เบอร์ลิน (Air Berlin)สายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับหกของยุโรป จากนั้นก็ทำแบบเดียวกันกับกับอีกหลายสายการบินในโลก ไม่ว่าจะเป็น แอร์ซีเชลส์(Air Seychelles) ซึ่งมีหุ้นอยู่ 40 % สายการบินแอร์ลิงกัส(Air Lingus) มีหุ้นอยู่ 2.987% สายการบินเวอร์จินออสเตรเลีย (Virgin Australia)มีอยู่10% นอกจากนี้ยังเริ่มเจรจาเพื่อเข้าถือหุ้นในสายการบินเจ็ทแอร์เวยส์(Jet Airways)ของอินเดีย 

วันที่ 1 สิงหาคม 2013 เอทิฮัดเซ็นสัญญาถือหุ้น49%กับสายการบินแห่งชาติของเซอร์เบีย เดิมชื่อ Jat Airways/Air Serbia โดยรัฐบาลเซอร์เบียถือหุ้น51% และเปลี่ยนชื่อสายการบินเป็น Air Serbia 

ในปีเดียวกันนี้เอง ในงานดูไบแอร์โชว์ เอทิฮัดได้ประกาศว่ากำลังจะได้ถือหุ้นจำนวน33.3% ของสายการบินดาร์วินแอร์ไลน์ ซึ่งดำเนินกิจการอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และได้เปลี่ยนแบรนด์เป็น เอทิฮัดริจินัล (Etihad Regional) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2014 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เอทิฮัดก็กำลังบรรลุข้อตกลงในการเข้าถือหุ้นใหญ่ในสายการบินแห่งชาติของอิตาลี นั่นคือ อาลิตาเลีย นั่นหมายถึง การเข้าสู่ยุทธจักรการบินในยุโรปอย่างมั่นคงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

หันมาดูบ้านเรา การบินไทยเองประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาหลายไตรมาส เราเคยยิ่งใหญ่ในสมัยก่อน แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เคยได้เปรียบ ตอนนี้ไม่ได้เปรียบแล้ว หลายเรื่องเริ่มเสียเปรียบแล้วด้วย ผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นว่า ถ้าจะรักษาสายการบินแห่งชาติของเราไว้ ต้องทำเดี๋ยวนี้ 

แย่นิดนึงตรงที่ ป่านนี้ยังหาผู้มานำไม่ได้เลย ต้องรอกระบวนการสรรหาดีดี คือซีอีโอ คนใหม่ ใช้เวลานานและเยิ่นเย้อ ผมเชื่อว่า องค์กรใหญ่ๆที่มีการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมาร์จิ้นต่ำและใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ผู้ที่จะเข้าร่วมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ คงต้องการเห็นผู้นำองค์กรที่นำเชื่อถือ เคยมีผลงานให้เห็นเป็นประจักษ์ในวงการธุรกิจ ยิ่งเกี่ยวกับการบินได้ยิ่งดี มิฉะนั้น คงไม่กล้าเอาเงินมาลงทุนแน่นอน 

อย่างไรก็ดี ความเป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้ว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีฟรีโฟลตเกือบ 30% แต่ก็ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างเหนียวแน่น ไล่ไปตั้งแต่ผังการบริหารทีฟุ่มเฟือยแบบเหมือนจะรอบคอบแต่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันในตลาดโลกเพราะกลัวจะผิดกฏหมาย อีกทั้งบุคลากรในบริษัทเองก็ยังเป็นลักษณะเตี้ยอุ้มค่อม ไม่ได้สร้าง smooth flow ในการทำงาน จึงอืดอาด เชื่องช้า รอวันล้มหายตายจาก เป็นลักษณะ Passive management คือตั้งรับกันท่าเดียวเลย คนเก่งๆก็เคยมีอยู่เยอะ เดี๋ยวนี้ กระโดดหนีหายไปก็เยอะ 

ดังนั้น จะคาดหวังให้อยู่ดีๆกลับมาเดินเครื่องเต็มสูบกันในไม่กี่เดือน โดยที่ไม่มีหัวเครื่องของจริงนำเครื่องบินพุ่งทะยานขึ้นฟ้า ผู้โดยสารอย่างผมๆคงไม่กล้าขึ้นหรอก เชื่อเหอะ

แหล่งข่าว : en.wikipedia.org

ภาพประกอบ : www.nycaviation.com , www.i47.photobucket.com

--------------------------------------------

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น