ลิเวอร์พูล VS การบินไทย
ลิเวอร์พูล VS การบินไทย
ถ้าจะไม่พูดถึงตัวแปรที่เข้าไปแตะต้องหรือแก้ไขไม่ได้ ผมนั่งใคร่ครวญดูสถานการณ์ของบริษัทเจ้าจำปีอันเป็นที่รักของตัวกระผมและเพื่อนร่วมงาน มันกำลังจะเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในเวลาไม่ไกลจากนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้พนักงานช่วยกันทำคือ ทำความเข้าใจในธุรกิจการบินให้มากขึ้น การที่เราจะอยู่รอดได้ องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และความเข้าใจธุรกิจที่กำลังทำกันอยู่ หากไม่มีหรือมีน้อย โอกาสที่จะพัฒนาองค์กรให้มีผลกำไรอย่างยั่งยืนคงยาก
มีเพื่อนๆหลายคนพูดถึงบทบาทของฝ่ายตลาดกับความสามารถในการขาย หลายท่านบ่นว่า หาลูกค้าไม่เก่งบ้าง ใช้ระบบเอเจนซี่ที่ไม่โปร่งใสบ้าง อะไรทำนองนี้ และทำให้การบินไทยย่ำแย่ ซึ่งที่พูดก็มีส่วนถูก แต่ไม่ทั้งหมด ยังมีอีกหลายส่วนที่ถูกมองข้าม เพราะมันกระทบกับความเป็นอยู่ของพนักงาน นั่นคือต้นทุนคงที่
ทำไมถึงกระทบ แหงๆเลย ถ้าผู้นำองค์กรเดินมาบอกท่านว่า เราจะขอลดเงินเดือนท่านสักสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเวลาหกเดือนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทในช่วงที่ผลประกอบการไม่ดี พนักงานทั่วๆไปที่อยู่ในฝ่ายปฏิบัติการที่ถูกมองว่าเป็น COST CENTER ก็จะต่อต้าน และเริ่มก่นด่าฝ่ายตลาดว่าหาเงินไม่เป็นหรืออย่างไร ในขณะที่ฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายหาเงินอื่นๆที่ถูกมองว่าเป็น REVENUE CENTER ก็จะค่อนแคะว่าฝ่ายปฏิบัติการดีแต่ใช้เงิน ทำไมไม่ลดบ้างหล่ะ สรุปง่ายๆคือโทษกันไปมา
ถ้าได้เรียนรู้บัญชีกันบ้าง น่าจะตอบได้ว่า มันมีผลทั้งคู่นั่นแหละ ทั้งฝ่ายหาเงิน และฝ่ายใช้เงิน ตราบใดที่ยังไม่พยายามพัฒนากระบวนการคิดให้สอดคล้องกัน
อันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุน ปริมาณการผลิต และผลกำไร เรียกภาษาอังกฤษอย่างเท่ๆว่า COST-VOLUME-PROFIT หรือ CVP ANALYSIS ที่คนเรียนบัญชีมา (ผมไม่ได้เรียนมาโดยตรง แค่แอบศึกษาอย่างเงียบๆ แต่ก็ยังโง่อยู่ดี) น่าจะคุ้นกันอยู่ เริ่มที่คำที่เราๆคุ้นเคยกันก่อน
Sales(ยอดขาย) = จำนวนสินค้าที่ขายได้ คูณด้วย ราคาขายสินค้าต่อหน่วย
Variable Cost (ต้นทุนแปรผัน) = คือต้นทุนรวมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสัดส่วนเมื่อเราผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลง (ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยเท่าเดิม) ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเป็นต้น
Fixed Cost (ต้นทุนคงที่) = ต้นทุนรวมที่คงที่แม้เราจะผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลง (ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง) ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าที่สำนักงานหรือโรงงานเป็นต้น
มีอีกคำ จำไว้เท่ๆครับ
Contribution Margin (กำไรส่วนเกิน) = Total Sales – Total Variable Cost
ดังนั้น ถ้าคิดต่อหน่วย Contribution Margin/Unit (กำไรส่วนเกินต่อหน่วย) = Price/Unit – Variable Cost/Unit
เอาหล่ะ คราวนี้มาดูความสัมพันธ์ที่จะทำให้เข้าใจง่ายๆ เริ่มที่สมการอมตะนิรันดร์กาล
Sales (ยอดขาย) – Variable Cost (ต้นทุนผันแปร) – Fixed Cost (ต้นทุนคงที่) = Net Income (กำไร+ หรือ ขาดทุน-)
ถ้าให้ Q เป็นจำนวนที่ทำการผลิต จะได้ว่า
(Price/unit x Q) – ( Variable Cost/unit x Q ) – Fixed Cost = Net Income
จัดรูปร่างหน่อยจะได้ว่า
( Price/unit – Variable Cost/unit) x Q = Fixed Cost + Net Income
หรือจะใช้ศัพท์เท่ๆได้ว่า
Contribution Margin/Unit x Q = Fixed Cost + Net Income
จัดข้างหน่อย จะได้ว่า
Q (จำนวนหน่วยที่ทำการผลิต) = (Fixed Cost + Net Income) / Contribution Margin ต่อหน่วย
ที่นี้ เราสามารถหาได้เลยครับว่า ถ้าเราต้องการกำไรเท่านี้ เราต้องผลิตสินค้าเท่าไหร่ แต่ถ้าคิดแค่เท่าทุน ก็แค่ให้ Net Income เป็นศูนย์ ก็จะเหลือสมการที่บอกได้ว่าต้องผลิตและขายให้ได้เท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน นั่นคือ
Q (จำนวนหน่วยที่ทำการผลิต) = Fixed Cost / Contribution Margin ต่อหน่วย
จะเห็นได้ว่า ตัวแปรหลักคือทั้ง Fixed Cost และ Contribution Margin มีผลต่อจุดคุ้มทุนทั้งคู่ ถ้าสามารถหาวิธีการอันแยบยลในการลด Fixed Cost ลงได้ โดยไม่กระทบต่อความพึงพอใจของผู้โดยสารและความเป็นอยู่ของพนักงานที่เป็นกำลังการผลิตหลักที่แท้จริงมากนัก ก็จะช่วยให้จำนวนหน่วยที่จะต้องทำการผลิตเพื่อให้คุ้มทุนลดลง ในขณะเดียวกัน ถ้าเพิ่ม Contribution Margin โดยการเพิ่มยอดขาย(Total Sales) หรือลด Variable Cost (ต้นทุนแปรผัน)โดยการเพิ่มช่องทางการขาย การตอบสนองต่ออุปสงค์อย่างรวดเร็ว หรือการจัดซื้อจัดหาอย่างโปร่งใสและได้ต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลงแต่ยังคงคุณภาพที่ดี ก็ได้ผลไปในทางเดียวกัน
การจะไปเร่งการขายแต่อย่างเดียวโดยไม่ได้หันมาลดต้นทุนคงที่อย่างแท้จริง มันก็ได้แต่คงเหนื่อยหนัก ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าใครชอบดูบอลพรีเมียร์ลีคของอังกฤษ ในปีที่ผ่านมา หงส์แดงลิเวอร์พูลจบฤดูกาลโดยเป็นที่สองรองจากทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้ โดยมีสถิติยิงกระจาย คือยิงมากแชมป์อีกต่างหาก แต่กลับมีสถิติการเสียประตูที่มากกว่าแชมป์อยู่มาก ทั้งนี้เพราะกลยุทธ์ในการสร้างทีมรุกมีประสิทธิภาพดียิ่ง เปรียบได้กับการขายที่ทะลุเป้า ในขณะที่เกมรับแย่กว่าท๊อปไฟว์หลายทีม เปรียบได้กับการควบคุมต้นทุนคงที่ที่ไม่ดี สรุปสุดท้าย แทนที่จะได้แชมป์ ก็เลยได้แค่รองแชมป์
พนักงานการบินไทยที่เก่งๆยังมีอยู่เยอะมากครับ เสียดายความรู้ความสามารถ
ดังนั้นพนักงานควรต้องร่วมกันรับผิดชอบ คิดในเชิงบวก เลิกโทษเลิกหาแพะ ทำความเข้าใจปัญหาและเรียนรู้ร่วมกัน ตั้งใจฟังปัญหาของกันและกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูงต้องลงมาดูแล ให้ข้อมูลและเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจและสร้างสรรค์ เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เลยครับ
แล้วฤดูกาลหน้า หงส์แดงจะกลับมาแชมป์แน่ๆ
THAI will never walk alone !!!!!!!!!
ขอบคุณข้อมูลจาก www.siraekabut.com
ภาพประกอบ : www.shm.com.au
————————————————
ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่
www.nuckbin.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น