27 ธันวาคม 2557

เขาใหญ่....หรือเราใหญ่

เขาใหญ่....หรือเราใหญ่

เพิ่งกลับจากเขาใหญ่ ที่มีป้ายโฆษณาว่าเป็นสถานที่ที่มีโอโซนมากเป็นอันดับเจ็ดของโลก ผมพาคุณภรรยากับคุณลูกชายไปเที่ยว คาดหวังอย่างแรงว่าจะได้เจออากาศเย็น พอเอาเข้าจริงได้สมใจนึกเลย เหงื่องี้ซึมจักแร้จนรู้สึกหนาวสั่น ทั้งๆที่สองสามวันที่แล้วมันยังเย็นอยู่เลย นี่แหละที่เค้าบอกว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน อย่าไปคาดหวังอะไรมากนัก ปลงซะบ้างแม่จำเนียร

เขาใหญ่ในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมากจากที่เคยรู้จัก โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารและร้านกาแฟเก๋ไก๋ชไนเดอร์ ผุดขึ้นมาเยอะอย่างกับดอกเห็ด สองข้างทางเริ่มก่อสร้างที่พักใหม่ๆ ร้านอาหารก็มีเยอะขึ้นมาก ผมขับรถผ่านรีสอร์ตแห่งหนึ่งที่กำลังจัดงานแฟร์ รถเยอะคนแยะ แต่พอจบงานกลับทิ้งขยะเอาไว้เพียบ ไม่รู้ว่าหน่วยงานราชการหรือเจ้าของรีสอร์ตจะต้องเข้ามาเก็บ แต่ที่แน่ๆมันเสียทัศนียภาพเป็นอย่างยิ่ง ทำให้นึกถึงเวลาที่มีจัดคอนเสิร์ตใหญ่กลางป่ากลางเขา ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาร่วมแจมเป็นจำนวนมาก เบียดบังทรัพยากรธรรมชาติ รบกวนสัตว์ป่า และทิ้งสิ่งสกปรกปฏิกูลไว้เบื้องหลัง กลับไปพร้อมกับความทรงจำที่สวยงามซึ่งแลกมาด้วยความเสียหายของระบบนิเวศน์และธรรมชาติ ถ้าป่าไม้และใบหญ้ามันพูดได้ มันคงอยากจะบอกว่า ช่วยทยอยกันมาได้ไหม มาพร้อมๆกันแบบนี้มันสุดจะทน

คำว่าจิตสาธารณะนี่มันถูกพูดถึงบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยจะซึมเข้าไปในหัวสมองของนักท่องเที่ยวและคนกรุง ลองนึกภาพนักท่องเที่ยวขับรถหรูคันใหญ่มากันห้าหกคน ขนอาหารและขนมนมเนยกันมาเพียบ แต่ตอนกลับไปไม่ได้เอาขยะกลับไปด้วย ทุกคนเอามันมาทิ้งที่พักหรือตามทาง เป็นภาระให้เจ้าหน้าที่และเจ้าของกิจการต้องจัดการวันละหลายตัน มันน่าจะมีการรณรงค์จริงจังกันหน่อยเกี่ยวกับขยะ ประมาณว่าไอ้การที่จ่ายเงินจองห้องพักไม่ได้หมายความว่ามีสิทธิ์ที่จะทิ้งขยะได้ตามใจชอบ ผมมองเห็นหลายที่ในเขาใหญ่ที่มักง่ายเอาขยะออกมาวางกองข้างถนนให้เป็นที่อุจาดตาและสกปรก เป็นแหล่งอาหารของสุนัขหรือลิงไปซะงั้น

กลับมาเรื่องเกี่ยวกับการบินดีกว่า ในปีคศ.2005 สหภาพยุโรป เค้าเห็นว่าเครื่องบินนี่มันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2)ออกมาเยอะ เลยตั้งกฏกติกามารยาทเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gas) เครื่องบินที่บินในน่านฟ้ายุโรป ถ้าใช้น้ำมันเครื่องบินเยอะก็ต้องจ่ายภาษีพิเศษชนิดหนึ่งเพื่อชดเชยกับการที่ปล่อยก๊าซออกมา โดยกำหนดโควต้าเอาไว้ว่าให้ปล่อยออกมาได้เท่าไหร่ เค้าเรียกโควต้านี้ว่า EU Aviation allowances หรือ EUAAs ถ้าสถิติที่รวบรวมมาแสดงให้เห็นว่าสายการบินใดปล่อยก๊าซพิษเกินโควต้า ก็จะต้องเสียเงินไปซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) จากตลาดกลางที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิต หนึ่งคาร์บอนเครดิตมีขนาดเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกมาหนึ่งตัน โดยที่อุตสาหกรรมการบินทั้งหมดในโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในโลกใบนี้ประมาณสามเปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมา ถ้าสายการบินไหนมีการดูแลเครื่องบินดีและสามารถใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยกว่าโควต้าที่ตั้งไว้ ก็ดีไป เก็บเอาไว้ใช้ในปีหน้าหรืออาจจะขายคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายก็ได้ เราอาจจะเพิ่มคาร์บอนเครดิตได้ด้วยการทำกิจกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่เกี่ยวกับการบินและนำเอาเครดิตเหล่านั้นมาชดเชยแทนก็ได้ หลายบริษัทก็มีกิจกรรม CSR หรือ Corporate social responsibility จำพวกปลูกป่าหรือรักษาพันธุ์สัตว์ทั้งหลายแหล่ ได้ประโยชน์สองเด้งคือช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียคาร์บอนเครดิตถ้าใช้น้ำมันไม่มีประสิทธิภาพ

ผมอยากให้เอาวิธีการแบบคาร์บอนเครดิตมาใช้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น มิใช่ว่าแค่มีเงินสร้างรีสอร์ตหรือบ้านหลังใหญ่ยักษ์ก็จะมีสิทธิใช้ไฟฟ้าหรือน้ำประปา หรือทิ้งขยะเท่าไหร่ก็ได้ ถ้ากำหนดโควต้าไว้เลยว่ารีสอร์ตขนาดเท่านี้จะทิ้งขยะออกมาได้เท่าไหร่ และถ้าเกินโควต้า ก็กำหนดให้ต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย โดยที่ราคามันต้องแพงขึ้นอย่างมากในอัตราก้าวกระโดด ถ้าไม่อยากจะเสียเงินเยอะ ก็ต้องหันมาเข้มงวดกับการใช้พลังงานและควบคุมขยะภายในรีสอร์ตหรือบ้านพัก หรือต้องไปทำกิจกรรมอนุรักษ์เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งคนและสัตว์โลกที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย

เริ่มบทความด้วยไปเที่ยวเขาใหญ่ ไหงมาจบเรื่องคาร์บอนเครดิตได้ก็ไม่รู้ 
————————————————
ภาพประกอบ www.strategieavc.ca/zoological-wildlife-foundation-safari-park-tourists/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น