14 ธันวาคม 2557

แอร์บัส VS โบอิ้ง

แอร์บัส VS โบอิ้ง

ดวลกันไปแล้ว ศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่างนักบินการบินไทยค่ายเจ้าแม่แอร์บัสกับค่ายโบอิ้งสิงห์สำอาง ผลปรากฏว่า ค่ายโบอิ้งใช้พละกำลังที่เหนือกว่า เอาชนะไปได้แบบสนุกตื่นเต้น ท่ามกลางสักขีพยานในสนามฟุตบอลทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ สนุกสนานกันไปตามอัตภาพและสังขาร

ชีวิตนักบินการบินไทย เรื่องย้ายค่ายภายในบริษัทเป็นเรื่องปกติมากๆ อย่างผมเองก็บินมาแล้วทั้งแอร์บัสรุ่นเก่าๆ พวกเอบีโฟร์และเอบีซิกซ์ (AB4 AB6) แล้วก็ย้ายมาบินค่ายโบอิ้ง เริ่มด้วย เจ็ดเจ็ดเจ็ด (B777) เจ็ดสี่เจ็ดสี่ร้อย (B747-400) แล้วฝึกเป็นกัปตันที่เครื่องแบบเจ็ดสามเจ็ดสี่ร้อย(B737-400) จนมาถึงปัจจุบันที่เครื่องแบบเจ็ดแปดเจ็ดขีดเแปด (787-8) ย้ายค่ายมาแล้วหกครั้งในรอบสิบเก้าปี เรียนหนังสือมาหลายรอบแต่รอยหยักในสมองน้อยลง

ถ้าถามผมว่าเครื่องบินโบอิ้งกับแอร์บัสมันต่างกันมั๊ยถ้าเทียบรุ่นที่มีขนาดใกล้เคียง คำตอบของผมคือ ไม่ต่างกัน

ทำไมเหรอ ก็เพราะมันออกแบบมาให้นักบินทำหน้าที่พามันขึ้นและลงด้วยความปลอดภัย การออกแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ทำให้บินประหยัดน้ำมัน ปลอดภัย และตอบโจทย์ผู้ซื้อ ซึ่งอาจจะต้องการลำเล็กไว้บินระยะหนึ่งถึงสองชั่วโมงรับลูกค้าไม่ถึงสองร้อยคน หรืออาจจะต้องการลำขนาดกลางนั่งสบายขึ้นเพราะบินระยะทางไกลขึ้นมาสักสี่ห้าชั่วโมง หรืออาจจะอยากได้ลำใหญ่ยักษ์สี่เครื่องยนต์ไว้ต้อนคนเกือบครึ่งพันบินข้ามน้ำข้ามทะเลไกลโพ้น แต่สุดท้ายแล้วมาวัดกันตรงเรื่องประหยัดน้ำมันเทียบต่อจำนวนที่นั่งที่สามารถขายได้และความสะดวกในการบำรุงรักษาหลังการขาย

ทั้งแอร์บัสและโบอิ้งจึงออกแบบเครื่องบินตามความต้องการของลูกค้า โดยพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆออกมานำเสนอ ควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำเข้าไว้เพื่อที่จะตั้งราคาขายแข่งกับคู่แข่งได้ ทีนี้เวลาลูกค้าสายการบินจะต้องเลือกซื้อ ก็จะดูที่ขนาดเครื่องยนต์ จำนวนที่นั่ง น้ำหนักบรรทุก อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน อะไหล่ทดแทน แพ็คเก็จการซ่อมบำรุงหลังการขาย ความยากง่ายในการฝึกนักบินและลูกเรือ และสุดท้ายคือปัจจัยที่ซ่อนเร้น ขอเว้นไว้ไม่ตอบ อยากรู้ให้ไปถามอากู๋

ถ้าผมเป็นผู้โดยสาร ผมคงไม่สนใจหรอกว่าสมรรถนะของเครื่องบินจะเป็นอย่างไร เครื่องยนต์กี่ปอนด์ มีกี่ที่นั่ง บินประหยัดมั๊ย ที่ต้องการก็แค่ที่นั่งสบายไม่แคบจนขยับตูดปล่อยลมไม่ได้ มีที่เก็บกระเป๋าพอเพียง ห้องน้ำเยอะหน่อย เดินเข้าออกเครื่องบินสะดวกไม่ยืนติดคิวยาวๆให้เมื่อยน่อง แต่ถ้าจะให้แสดงความเห็นว่ามีอะไรบ้างมั๊ยที่เครื่องบินสองค่ายนี้ไม่เหมือนกันในมุมมองของนักบิน ที่เห็นต่างกันชัดเจนในตอนนี้ระหว่างโบอิ้งกับแอร์บัส น่าจะเป็นคอนโทรลคอลัมน์ (Control column) คือพวงมาลัยเครื่องบินที่โบอิ้งยังใช้แบบเดิมๆตั้งแต่แรกเริ่มสร้างเครื่องบิน นั่นคือเป็นรูปเขาควายอันใหญ่ที่อยู่กลางหว่างขานักบินให้โยกซ้ายขวาหน้าหลังได้ โบอิ้งบอกว่าแบบนี้นักบินชอบและคุ้นเคย ในขณะที่ค่ายแอร์บัสหันมาลดน้ำหนักเครื่องบินโดยเปลียนมาใช้ไซด์สติ๊ก(Sidestick) ที่เป็นแท่งขนาดเล็กเหมือนจอยสติ๊กของเกมคอมพิวเตอร์ ติดตั้งไว้ข้างเก้าอี้นักบินให้ใช้นิ้วจับคลึงไปมาพอได้อารมณ์

อีกอย่างที่ต่างกันคือเจ้าตัวคันเร่ง ( Throttle หรือ Thrust lever) ค่ายโบอิ้งเป็นแบบเดิมๆ ดันไปข้างหน้าเครื่องยนต์เร่ง รูดลงมาก็ผ่อนเครื่องยนต์ลง ในขณะที่แอร์บัสเค้าจะเป็นแบบยกคันเร่งขึ้นแล้ววางลงในช่อง(Detent) แบบว่าช่องนี้คือกำลังเครื่องยนต์สูงสุดสำหรับวิ่งขึ้นหรือยกเลิกการลงจอด(TOGA) ช่องนี้คือใช้กำลังเครื่องยนต์น้อยกว่าในการวิ่งขึ้น(Max continuous/Flex) ช่องนี้คือกำลังเครื่องยนต์สำหรับการไต่(Climb)

ปรัชญาในการออกแบบที่แตกต่างกันเป็นตัวกำหนดเส้นทางธุรกิจ โบอิ้งเน้นความง่ายในการใช้งานตามสไตล์มะกัน เอาผู้ใช้งานคือนักบินเป็นหลักและเลือกเอาเองว่าต้องการสมรรถนะแบบไหน ในขณะที่แอร์บัสเน้นนวัตกรรม ให้คอมพิวเตอร์ควบคุมเครื่องบินมากหน่อย ออกแบบหรูดูดีมีระดับ และพยายามรีดประสิทธิภาพเครื่องบินออกมาพรีเซ็นต์ตลอดว่าประหยัดน้ำมันและขนคนได้เยอะกว่าเมื่อเทียบน้ำหนักตัวปอนด์ต่อปอนด์ เน้นโฆษณาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนทำให้ช่วงหลังขายเครื่องบินได้มากขึ้นแซงหน้าโบอิ้งไปแล้วเมื่อเทียบปีต่อปี

ดังนั้นลูกค้าที่จะซื้อเครื่องบินจึงต้องทำการบ้านหาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ ถ้าเป็นบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจโปร่งใส การเลือกซื้อคงสมเหตุผลและตอบโจทย์ได้ตรง แต่ถ้าเป็นบริษัทกึ่งเอกชนกึ่งรัฐวิสาหกิจ มันจะมีมือขยันมาช่วยขยี้ช่วยชงและสุดท้ายฟาดหน้าเน็ท ทำแต้มเข้ากระเป๋าตัวเองไปโดยไม่อายฟ้าดิน ถ้าได้ของดีมาก็โชคดีไป แต่ส่วนใหญ่มันจะไม่เป็นอย่างนั้น ทีมวิเคราะห์เครื่องบินฟันธงมาอย่าง แต่ผู้ตัดสินใจเป็นอีกทีม ถ้าพรายกระซิบมาเป่าหูหรือโดนน้ำมันพราย จิตใจแกว่งไปด้านมืด ก็จะได้ของไม่ดีในราคาถูก หรือได้ของเกือบจะดีในราคาแพงมาก สร้างทุกขเวทนาให้ลูกจ้างตาดำๆต้องรับกรรมอยู่ร่ำไป

จึงขอกราบวิงวอนท่านผู้มีอำนาจตัดสินใจ ช่วยกรุณาตรงไปตรงมา อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวนักเลย ชีวิตคนเรามันสั้นนัก สะสมความดีให้คนรุ่นหลังยกย่องกันดีกว่านะครับ
————————————————————————
รูปประกอบจาก www.imgarcade.com

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าลำพังความรู้สึกของผู้โดยสารแบบผม ที่นั่งมาทั้ง Airbus และ Boeing นั้น ลำพังชอบ Airbus มากกว่าทั้งเสียงที่รู้สึกจะนิ่มกว่า ปีกที่กว้างกว่า รวมถึง การหาข้อมูลเบืองต้นทั้งจาก youtube และ อากู๋ เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของเครื่องรุ่นนั้นๆด้วยส่วนหนึ่งก่อนหน้า จึงทำให้รู้สึกอุ่นใจเวลาที่ได้นั่งใน Airbus และอีกประการ เป็นคนชอบดูอุบัติเหตุทางอากาศ (เมเดย์) บ่อยจึงทำให้รู้สึกมั่นในกับระบบของ Airbus ที่มากกว่า Boeing นี่คือความรู้สึกของผู้โดยสารตัวน้อยๆ ที่ไม่ได้มีความรู้ไรมากมายแต่มันเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัวซะมากกว่า เพราะนอกจากจะไว้ใจนักบินแล้วนั้นถ้าเครื่องบินที่เรานั่งเรารู้สึกไว้วางใจกับระบบแล้ว ยิ่งทำให้เราอยากใช้บริการมากขึ้น ^^
    ถ้าให้เปรียบมือถือกะเครื่องบิน ส่วนตัวคิดว่า
    Airbus = Iphone
    Boeing = Nokia3310

    ตอบลบ