4 มกราคม 2558

Bansai Kansai

Bansai Kansai 

ผมมั่นใจว่าคนไทยหลายล้านคนรู้สึกดีกับคำว่าญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาหารการกิน ขนมนมเนย หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่ดีงามของคนญี่ปุ่นเช่นความมีวินัยและความนอบน้อมถ่อมตน เป็นประเทศในโลกไม่กี่ประเทศที่ไม่จำเป็นต้องให้ทิปแก่พนักงานต้อนรับหรือพนักงานยกกระเป๋าตามโรงแรมเลย เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้บริการอยู่แล้ว 

สนามบินในญี่ปุ่นที่การบินไทยบินไปลง ผมประทับใจสนามบินคันไซในเมืองโอซาก้าซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติที่ตั้งอยู่บนเกาะที่ถูกถมขึ้นมากลางอ่าวโอซาก้า ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองโอซาก้าไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 38 กิโลเมตร สถาปนิกผู้ออกแบบเป็นคนอิตาเลี่ยนชื่อ Renzo Piano คนญี่ปุ่นรู้จักสนามบินคันไซในชื่อว่า Kanku

สนามบินคันไซเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 กันยายน คศ.1994 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระจากสนามบินโอซาก้าอิตามิที่อยู่ใกล้ตัวเมืองกว่า ในปัจจุบันนี้สนามบินโอซาก้าให้บริการเฉพาะการบินภายในประเทศเท่านั้น 

ในปี คศ.2007 สนามบินคันไซเปิดใช้รันเวย์เส้นที่สอง และกลายเป็นสนามบินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเอเซีย มีเที่ยวบินเกือบหนึ่งพันเที่ยวบินต่อสัปดาห์บินเข้าออกจากคันไซไปยังหลายเมืองในเอเซีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 60 เมื่อเขตคันไซสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับโตเกียว ผู้บริหารเมืองโอซาก้าเลยเสนอให้สร้างสนามบินขึ้นมาใหม่ใกล้เมืองโกเบและโอซาก้า เนื่องจากสนามบินโอซาก้าเก่าตั้งอยู่ในเขตเมืองที่ไม่สามารถจะขยายได้อีก อีกทั้งมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆสนามบินเกี่ยวกับมลภาวะจากเสียง และด้วยเหตุผลจากปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อสร้างสนามบินนาริตะที่มีผู้ออกมาประท้วงอย่างมากมายกว่าจะเคลียร์ปัญหาได้ ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสร้างสนามบินคันไซให้ห่างจากพื้นที่อยู่อาศัยโดยเลือกวิธีถมทะเลแทน โดยในขั้นต้นวางแผนจะสร้างสนามบินใกล้เมืองโกเบ แต่ในที่สุดถูกคัดค้าน จึงได้เปลี่ยนมาสร้างกลางทะเลห่างออกไปทางด้านใต้ในอ่าวโอซาก้า ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จจะสามารถเปิดให้บริการได้ยี่สิบสี่ชั่วโมงแบบไม่ต้องมีเคอร์ฟิวแบบสนามบินโอซาก้าเก่า

เกาะกลางอ่าวโอซาก้าที่สร้างขึ้นมาจากการถมทะเล มีความยาว 4 กิโลเมตรและกว้าง 2.5 กิโลเมตร สถาปนิกและวิศวกรผู้สร้างต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการเกิดแผ่นดินไหวและพายุไต้ฝุ่นที่อาจจะทำให้เกิดคลื่นสูงเกือบสามเมตร การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในปีคศ.1987 โดยที่กำแพงทะเลซึ่งสร้างขึ้นจากหินและบล๊อกคอนกรีตทรงปิระมิดจำนวน 48000 ก้อน ต้องระเบิดภูเขาสามลูกเพื่อนำเอาดินและหินจำนวนยี่สิบเอ็ดล้านลูกบาศก์เมตรมาถมที่ ใช้แรงงานเกือบหนึ่งล้านคนในการสร้างสนามบินเกือบสามปี ใช้เรือแปดสิบลำเพื่อที่จะถมทะเลให้กลายเป็นผืนดินที่มีความหนาสามสิบเมตรสูงจากพื้นทะเล และในปีคศ.1990 สะพานความยาวสามกิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างสนามบินและแผ่นดินใหญ่ใกล้เมือง Rinku Town ก็ได้สร้างจนสำเร็จ

ผู้สร้างสนามบินคันไซคาดการณ์ไว้ว่าเกาะเทียมที่เป็นที่ตั้งของสนามบินคันไซนี้ทรุดตัวลง 5.7 เมตรกว่าจะหยุดการทรุดตัว อย่างไรก็ดี มันทรุดลงไปเกือบ 8.2 เมตร ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ สนามบินคันไซกลายเป็นโครงการก่อสร้างของรัฐที่ใหญ่ที่สุดหลังจากการวางแผนสร้างยี่สิบปี ใช้เวลาก่อสร้างสามปีและใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น15000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 450000 ล้านบาทเท่านั้นเอง 

สนามบินคันไซกลายมาเป็นต้นแบบของการก่อสร้างสนามบินกลางทะเลต่อๆมา เช่นที่ สนามบิน New Kitakyushu ในเมืองโกเบ  สนามบิน Chubu Centrair International  ในเมืองนาโกย่า รวมไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติเช็คแลปก๊อกฮ่องกงด้วย

ในวันที่ 17 มกราคม คศ.1995 เกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่เมืองโกเบ จุดศูนย์กลางการสั่นไหวอยู่ห่างจากสนามบินคันไซประมาณ 20กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิต 6434 คน แต่แผ่นดินไหวดังกล่าวไม่ได้ทำให้สนามบินคันไซเสียหายเลย แม้แต่กระจกหน้าต่างก็ไม่แตก และในปีคศ.1998 ก็สามารถรอดพ้นจากพายุไต้ฝุ่นซึ่งมีความเร็วลมแรงถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมาได้

ถึงแม้จะสร้างสำเร็จและเปิดใช้งานแล้ว แต่ในแง่ธุรกิจกลับกลายเป็นว่าต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง ต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยปีละ 560 ล้านเหรียญสหรัฐในทุกๆปี สายการบินต่างๆไม่อยากจะมาเปิดให้บริการขึ้นลงที่สนามบินคันไซเพราะค่าแลนดิ้งฟี (Landing Fees)แพงมาก โดยมีอัตราที่แพงเป็นอันดับสองของโลกรองมาจากสนามบินนาริตะโตเกียวเท่านั้น ราคากาแฟแก้วนึงในแอร์พอร์ตปาเข้าไปเกือบสามร้อยบาท นักธุรกิจในโอซาก้าออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแบ่งเบาภาระค่าก่อสร้างดังกล่าวส่วนหนึ่งเพื่อช่วยดึงดูดสายการบินและผู้โดยสารจากทั่วโลกให้มาใช้บริการ ในปีคศ.2013 การท่าอากาศยานแห่งคันไซซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินได้รับเงินจากรัฐบาลจำนวนสี่พันล้านเยน และจะได้รับการสนันสนุนอย่างนี้ทุกปีไปจนถึงปีคศ.2015 โดยสัดส่วนของเงินจะลดลงไปตามลำดับ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นในโอซาก้ายังต้องการให้อุดหนุนเงินทุนนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ในปีคศ.2011 สภาไดเอทของญี่ปุ่นได้ผ่านร่างกฏหมายก่อตั้งบริษัท Kansai International Airport Corporation โดยการรวมเอาหุ้นจากสนามบินคันไซและบริษัทบริหารทรัพย์สินสนามบินโอซาก้าอิตามิเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะลดภาระหนี้สินของสนามบินคันไซลง โดยหลังจากการรวมหุ้นกันเสร็จสิ้นในปีคศ.2012 สนามบินคันไซก็ประกาศลดค่าแลนดิ้งฟีลงทันที5% และวางแผนไว้ว่าจะลดค่าแลนดิ้งฟีลงไปให้ใกล้เคียงกับของสนามบินนาริตะ ซึ่งในขณะนั้นถูกกว่าของคันไซอยู่ราว20% เพื่อให้สามารถแข่งขันกับน้องใหม่มาแรงอย่างสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้ได้สนุกขึ้น

สนามบินคันไซพยายามที่จะขยายธุรกิจออกไปยังระดับนานาชาติ โดยการเสนอตัวขอเป็นผู้บริหารสนามบินนานาชาติย่างกุ้งและสนามบินนานาขาติหงสาวดีในประเทศเมียนมาร์อีกด้วย

ธุรกิจการบินและสนามบินนานาชาติมันสัมพันธ์กับความเจริญของประเทศโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ายังบริหารแบบไทยๆกันอยู่ ท่าอากาศสุวรรณภูมิคงเป็นได้แค่พระรองในอาเซี่ยนเท่านั้น เสียดายวันเวลาที่ผ่านมาจังเลยครับ
——————————————————————
ภาพประกอบ www.quazoo.com

ติดตามอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับบินการบินและนักบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น