4 มกราคม 2558

Noise Sensitive

Noise Sensitive

ไฟลท์ที่แล้วไปบินกับครูการบินท่านหนึ่งของฟลีท B787 ของการบินไทย ท่านเล่าให้ผมฟังว่าพยายามเดินสายไปบริจาคสิ่งของหรือเงินทองให้กับโรงเรียนหรือวัดที่อยู่ในเขตรอบๆสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะรู้สึกสงสารในชะตากรรมของเด็กนักเรียนที่ต้องทนฟังเสียงดังจากเครื่องบิน ขออนุโมทนาสาธุในบุญกุศลที่ท่านได้ทำครับ

คงไม่มีใครอยากมีบ้านอยู่ใกล้สนามบินแบบสามารถได้ยินเสียงเครื่องบินตลอดเวลาตั้งแต่เช้ายันค่ำ ทั้งเสียงและลมหมุนที่เกิดจากเครื่องบินบินผ่านนี่มันสุดจะทนจริงๆ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี่การบินจะพัฒนาให้เสียงเบาลงมากแล้วก็ตามแต่มันก็ผิดปกติมนุษย์ที่จะรับฟังอยู่ดี ผมเข้าใจเรื่องนี้มากๆเพราะตอนเด็กอาศัยอยู่แฟลตทหารอากาศที่ใกล้สนามบินมากๆ รับรู้ได้ทั้งเสียงและกลิ่นน้ำมันเครื่องบิน อาการภูมิแพ้ที่ติดตัวมาทุกวันนี้สาเหตุหนึ่งก็มาจากเรื่องนี้แหละครับ

จำได้ว่าเดือนแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ในแฟลตทหารอากาศที่อยู่ตรงสถานีรถไฟดอนเมือง ผมนอนไม่หลับเลย รู้สึกทรมาณมากในสัปดาห์แรก ทั้งกลิ่นและเสียงมันตลบอบอวลไปหมดตั้งแต่เช้ายันค่ำ เสียงดังสนั่นหวั่นไหวโดยเฉพาะตอนที่เครื่องบินวิ่งขึ้นทำให้กระจกบานเกล็ดสั่นสะเทือน สร้างความรำคาญเอามากๆ ทีวีก็ภาพไม่ชัดเพราะโดนรบกวน จนเวลาผ่านไปได้เดือนนึงถึงเริ่มชินชา กลายเป็นว่าคืนไหนไม่ได้ยินเสียงเครื่องบินนอนไม่หลับ ตลกดีไหมชีวิต

สภาพแวดล้อมรอบๆสนามบินสุวรรณภูมิที่เคยสงบกลับกลายเป็นนรกน้อยๆขึ้นในพริบตาเมื่อทางการสั่งให้ย้ายการบินเกือบทั้งหมดจากสนามบินดอนเมืองมาที่สุวรรณภูมิในปีพศ.2548 ผมนึกภาพปู่ย่าตายาย เด็กตัวเล็กๆที่เคยพักผ่อนนอนหลับในยามค่ำคืนอย่างมีความสุขกลับต้องสะดุ้งตื่นและพักผ่อนไม่พอไปในชั่วข้าวคืน เด็กนักเรียนที่เคยเรียนอย่างสงบ กลับถูกรบกวนด้วยนกยักษ์ที่แผดเสียงดังราวแปดสิบถึงร้อยเดซิเบลเกือบจะทุกๆสองสามนาที 

ถึงแม้จะมีการเยียวยาหรือจ่ายเงินชดเชยโดยบริษัทการท่าอากาศยานไทย โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่วัดจากเส้นเสียง NEF(Noise Exposure Forecast) โดยบริเวณที่วัดค่าNEF ได้มากกว่า 40 จะได้รับการเยียวยามากที่สุดเพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยหรือตั้งชุมชน เจ้าของที่ยอมรับค่าชดเชยก็สามารถขอรับเงินและย้ายออกไปได้ ในพื้นที่ที่วัดค่า NEF อยู่ระหว่าง 35-50 เป็นบริเวณที่พออยู่ได้แต่ได้รับผลกระทบบ้าง การท่าอากาศยานไทยก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยหรือทำการปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้สามารถอยู่อาศัยได้โดยไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่มากนัก แต่ก็ยังมีผุ้ที่อาศัยอยู่ในเขตรอบสนามบินโดยเฉพาะในเขตอำเภอบางพลีและเขตลาดกระบังส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจในการชดเชย รวมตัวกันฟ้องต่อศาลปกครอง แต่สุดท้ายทางการเป็นฝ่ายชนะ คดีถูกยกฟ้องเพียงเพราะกฏหมายเพิ่งออกมาใหม่ไม่สามารถใช้บังคับต่อกรณีนี้ได้เนื่องจากการอนุมัติให้สร้างสนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้นตั้งแต่ปี2534 แล้ว เพียงแต่สร้างเสร็จช้าเท่านั้นเอง กรรมของชาวบ้าน

ในส่วนของสายการบิน ถูกกฏหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติการบินที่สร้างมลภาวะทางเสียงให้น้อยลง ทั้งการวิ่งขึ้นและลงจอดจะต้องพยายามสร้างเสียงรบกวนให้น้อย ซึ่งนักบินแอร์ไลนส์ทุกคนจะต้องรับทราบและปฏิบัติทุกครั้งที่ทำการบิน สำหรับการวิ่งขึ้น เราสามารถลดเสียงได้โดยเลือกใช้แรงขับที่เหมาะสม(Reduced takeoff thrust) เลือกใช้แฟล็บน้อย(Flaps) สำหรับวิ่งขึ้น และเมื่อวื่งขึ้นแล้วให้ไต่ไปที่ความสูงหนึ่งพันห้าร้อยฟุดแล้วลดแรงขับลงให้เพียงพอต่อการไต่(Climb thrust) จนถึงความสูงสามพันฟุตจึงค่อยเร่งความเร็วพร้อมกับเก็บแฟล็บแล้วไต่ด้วยความเร็วสองร้อยห้าสิบน๊อต(Knots or Nautical miles per hour) จนถึงความสูงหนึ่งหมื่นฟุต เราเรียกวิธีการบินแบบนี้ว่า NADP1( Noise Abatement Departure Procedure 1) ซึ่งจะลดมลภาวะทางเสียงลงได้ เป็นผลดีต่อชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ๆสนามบิน แต่ทั้งที่นักบินสามารถพิจารณาทางเลือกอื่นได้หากเห็นว่าจะเกิดอันตรายต่อการบิน ที่สุดแล้วความปลอดภัยของเครื่องบินและผู้โดยสารต้องมาก่อนเรื่องมลภาวะทางเสียง

ในตอนที่บินลง นักบินจะเลือกใช้แฟล็บที่น้อยที่สุดที่ทำได้ เพราะยิ่งแฟล็บน้อยยิ่งก่อให้เกิดเสียงน้อยกว่า รวมไปถึงตอนที่แตะพื้นแล้วจะใช้ทรัสท์รีเวอร์เซอร์(Thrust Reversers)ให้น้อยทีสุดเท่าที่จะทำได้ อันนี้ไม่ยากเพราะสนามบินสุวรรณภูมิค่อนข้างยาว รันเวย์ทางด้านตะวันออกยาวสี่พันเมตร ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกยาวเกือบสามพันเจ็ดร้อยเมตร เหลือเฟือสำหรับเหตุการณ์ปกติ

ทางการท่าอากาศยานได้ติดตั้งจุดวัดเสียงไว้รอบๆบริเวณสนามบินจำนวนสิบสามจุดเพื่อวัดความดังของเสียงที่เกิดจากเครื่องบิน หากสุ่มตรวจว่าช่วงเวลาไหนที่เครื่องบินลำไหนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการรายงานไปยังสายการบินให้ชี้แจงและอาจจะถูกปรับหรือลงโทษ ดังนั้นฝ่ายปฏิบัติการบินของแต่ละสายการบินต้องเข้มงวดกวดขันในนักบินต้องปฏิบัติตาม Noise Abatement Procedure ที่ทางสนามบินกำหนด

ในอนาคตอันไม่ไกล รันเวย์ที่สามและสี่ก็จะเริ่มก่อสร้างอีกแล้ว ผลกระทบจากเสียงและสารพิษที่เกิดจากเครื่องบินก็คงเพิ่มขึ้นอีก ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆด้านนอกคงจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก คราวนี้กฏหมายได้กำหนดให้ผู้รับผิดชอบทำประชาพิจารณ์โดยเชิญผุ้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยสอบถามหรือยื่นคัดค้าน ซึ่งก็ว่าไปตามตัวบทกฏหมาย ผมได้แต่หวังว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจต่างๆจะได้พิจารณาอย่างรอบคอบและพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อยู่รอบๆสนามบิน 

ขอตัวออกไปดมกลิ่นน้ำมันเครื่องบินนิดนึงนะครับ เดี๋ยวคืนนี้นอนไม่หลับ
————————————————————
ภาพประกอบ www.bloomberg.com

ติดตามอ่านเรื่องราวเกี่ยวบินการบินและนักบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น