18 มกราคม 2558

Survival (Episode Eight)

Survival (Episode Eight)

0422 น. (2022 UTC)

“เราจะเก็บแลนดิ้งเกียร์ก่อนนะครับ วิทย์ดึงแลนดิ้งเกียร์เก็บขึ้นไปก่อนนะครับ ตอนนี้เลย “ กัปตันภูมิสั่งการด่วน วิทย์ทำตามที่สั่งทันที เสียงดังปึ้งปั้งเล็กน้อยจากการเก็บล้อขึ้นไปใหม่ 
“วิทย์ครับ กดปุ่ม HDG SEL แล้ว Set Heading 050 ครับผม เลี้ยวขวา”
“ครับผม Heading 050 set” 
“ดีครับ เราจะต้องบินไปทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสนาม และบินอยู่แถวนั้นที่ความสูงห้าพันฟุตนะ         Set Heading 073 now ” ภูมิสั่งต่อไป เครื่องบินจะต้องบินไปตาม Missed Approach Track ซึ่งได้รับการออกแบบไว้สำหรับการบินแบบ Instrument Approach”

“พี่ครับ เครื่องบินหยุดไต่แล้ว อยู่ที่ความสูงห้าพันฟุต  Heading 073 set ครับ”
“โอเควิทย์ Now set speed 170 , Heading 120” ภูมิออกคำสั่งต่อไปทันที
“Speed 170,Heading 120 set “ วิทย์ตอบรับคำสั่งของภูมิเหมือนเป็นนักบินแอร์ไลนส์จริงๆเลย เขาเริ่มคลายความกังวลลงบ้าง

“ เดี๋ยวเราจะไปบินวนสักพักที่ความสูงห้าพันฟุต เพื่อทำเช็คลิสต์” ภูมิหมายถึงจะเปิดคู่มือสำหรับแก้ไขปัญหาในกรณีที่เครื่องบินหรือระบบใดระบบหนึ่งมีปัญหา เรียกคู่มือนี้ว่า Emergency/Malfunction หรือ Non-normal checklist

“คู่มือที่พี่ว่าอยู่ไหนครับ ต้องลุกไปหามั๊ยครับพี่?”
“ไม่เป็นไรครับวิทย์ พี่ถืออยู่ในมือแล้ว โหลดมันเอาไว้ในไอแพดของพี่เอง เดี๋ยวพี่จะอ่านแล้ววิทย์ทำตามนะ” ภูมิรอบคอบจริงๆ เขาหยิบเอาไอแพดคู่ใจที่มีเอกสารและคู่มือการบินที่สำคัญอยู่ในนั้นทั้งหมดมาจากโรงแรมด้วย

“รับทราบครับ ตอนนี้ Heading 120 ความสูงห้าพันฟุตครับ” 
“โอเคครับวิทย์ เราจะบินวนกันสักพัก วิทย์พิมพ์ตัวอักษรสองตัว แทงโก้กับเดลต้า(TD) ลงไปบนเอฟเอ็มซี(FMC) นะครับ แล้วเลื่อนนิ้วไปกดปุ่ม LEG ที่อยู่ตรงกลางๆเอฟเอ็มซี เห็นมั๊ย” แทงโก้ เป็นการอ่านในระบบการบิน หมายถึงตัวอักษรที(T) ส่วนเดลต้าแทนตัวอักษรดี(D) ส่วนคำว่า  LEG คือหน้าหนึ่งบนจอเอฟเอ็มซีที่บอกเส้นทางบินเรียงไปเป็นจุดๆ เหมือนแผนที่เดินทางที่ใช้ปากกาเรืองแสงขีดเอาไว้

“เห็นแล้วครับพี่ ผมคีย์ลงไปแล้วครับ ผมกดปุ่ม LEG นะ แล้วไงต่อพี่” 
“วิทย์เลื่อนนิ้วไปกดปุ่มแรกด้านซ้ายบนเอฟเอ็มซี แล้วเลื่อนนิ้วลงมากดปุ่ม EXEC ที่มีไฟสีขาวติดอยู่ตอนนี้ครับ เรากำลังสร้างตำแหน่งของแทงโก้เดลต้าบนหน้า LEG ” ภูมิอธิบายต่อ มือขวาเลื่อนไปหยิบไอแพดคู่กายมาวางเตรียมไว้ คำว่า EXEC ย่อมาจาก  Execute ที่แปลว่าลงมือทำ ฟังก์ชั่นนี้ทำเอาไว้เผื่อนักบินกดปุ่มสำคัญๆผิด

“ครับพี่ภูมิ เรียบร้อยครับ ไงต่อพี่”
“วิทย์กดปุ่มแอลแนฟ ( LNAV) ที่อยู่บนแผงแกลร์ชิลด์ด้านหน้าเลยครับ ปุ่มมันอยู่ข้างล่างปุ่ม HDG SEL หน่ะ”
“รับทราบครับ ตอนนี้บนจอ MFD เปลี่ยนเป็น LNAV แล้วครับ“ LNAV คือการปล่อยให้เครื่องบินบินตามเส้นทางการบินที่สร้างไว้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องแก้ไขหรือเซ็ท Heading ให้อีก 

“เราจะบินวนตรงจุดTD นะครับ ทีนี้กดปุ่มHOLD ที่อยู่ใกล้กับปุ่ม LEG นะ เจอมั๊ย”
“ครับพี่เห็นแล้ว ผมกดแล้ว มันเปลี่ยนเป็นหน้า HOLD ที่เอฟเอ็มซีแล้วครับ”
“วิทย์กดตรงปุ่มด้านข้างที่อยู่ตำแหน่งล่างสุดทางซ้ายบนหน้าปัทม์จอเอฟเอ็มซีครับ มันจะตรงกับคำว่า NEXT HOLD บนจอเอฟเอ็มซีเลย “
“ครับพี่ กดแล้วครับ “
“ วิทย์พิมพ์คำว่าTD ลงไป แล้วกดปุ่มด้านข้างที่อยู่ตำแหน่งบนสุดทางซ้าย แล้วเลื่อนนิ้วลงมากดปุ่ม EXEC ที่ด้านล่างนะ”
“โอเคครับ” วิทย์ทำตามนั้น สักพักเครื่องบินเริ่มบินวนตรงตำแหน่ง TD การบินวนอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่ง เราเรียกว่า HOLD 

แอร์เพอร์เซอร์หน้าตาตื่นเดินเข้ามาในค๊อกพิท คงจะงงว่าทำไมไม่บินลงไป
“เกิดอะไรขึ้นครับคุณวิทย์ ทำไมเรายังไม่ลงไปอีกหล่ะ” 
“มีปัญหาระบบฐานล้อครับพี่ ต้องขึ้นมาก่อนเพื่อแก้ไข”  วิทย์บอกไปตรงๆ
“ว้ายตายแล้ว เราจะรอดกันมั๊ย” เพอร์เซอร์แอน ร้องออกมาด้วยความกลัว
“พี่อย่าพูดอย่างนั้นสิ เราต้องรอด เชื่อผม ตอนนี้พี่ออกไปแจ้งผู้โดยสารนะครับ ว่าให้เตรียมตัวลงจอดฉุกเฉิน แล้วพี่ก็บอกขั้นตอนการเตรียมตัวไปเลยนะครับ ตามที่พี่เคยเรียนมาหน่ะ พี่ทำได้นะ” วิทย์กระตุกให้เพอร์เซอร์คิดในแง่บวกไว้ก่อน
“ครับ ครับ เดี๋ยวผมจะไปแจ้งน้องๆลูกเรือ แล้วจะประกาศแจ้งผู้โดยสารนะครับ” เพอร์เซอร์รีบออกไปทันที 

 “วิทย์ครับ เดี๋ยวเรามาทำเช๊คลิสต์ไปพร้อมๆกันนะ เรื่องแลนดิ้งเกียร์ไม่กาง พี่อ่านแล้ว เราต้องลองใช้ระบบสำรองในการการแลนดิ้งเกียร์ วิทย์กางเกียร์แบบวิธีปกติอีกรอบครับ”

วิทย์เอื้อมมือไปดึงแลนดิ้งเกียร์เลเวอร์ลงอีกครั้ง เสียงเกียร์กางเหมือนเดิม วิทย์จ้องมองที่จอ EICAS ตาแทบไม่กระพริบ มันกางออกมาแต่ไม่หมดเหมือนเดิม ล้อด้านขวายังไม่กาง

“พี่ภูมิครับ มันยังเหมือนเดิมพี่ กางไม่ครบ”
“ไม่เป็นไร วิทย์มองหาสวิตช์อัลเตอร์เนตเกียร์ (Alternate Gear) ที่อยู่ข้างๆแลนดิ้งเกียร์เลเวอร์ มันมีการ์ด (Guard) สีดำครอบไว้อยู่ เปิดมันออกมา แล้วกดสวิตช์ลงมาด้านล่าง กดค้างไว้จนกว่าเกียร์จะกางออกนะ ทำเลยครับ”

“แล้วครับผม เฮ้ ล้อขวามันกางเป็นสีเขียวแล้วพี่ สุดยอดเลย” วิทย์ดีใจสุดๆ
“ ได้ผลแฮะ เอาหล่ะ ทีนี้เราจะออกจากวงโฮลด์ (Holding pattern)กัน วิทย์กดปุ่ม HDG SEL แล้ว Set heading 340 ครับ” ภูมิเริ่มมั่นใจว่าวิทย์ต้องทำสำเร็จแน่นอน 

เครื่องบินเปลี่ยนทิศทางเพื่อกลับไปลงจอดอีกครั้ง วิทย์เริ่มคล่องขึ้นกับคำสั่งของภูมิ 
“ วิทย์ครับ เซ็ทความสูง4500 ฟุต แล้วกดปุ่ม LVL CHG ครับผม” 
“ ครับพี่ เรียบร้อยครับ เครื่องกำลังดีเซนด์ลงไป” 

เครื่องบินหันหัวไปเพื่อเข้าสู่ไฟนอลคอร์ส ( Final course) รันเวย์ 25ขวา อีกครั้ง วิทย์กดปุ่ม APP เหมือนเดิมเพื่อให้เครื่องบินอินเตอร์เซฟไฟนอลคอร์ส 
“ เครื่องเลี้ยวเข้าไฟนอลแล้วครับ ผมมองเห็นไฟรันเวย์แล้ว ทำยังงัยต่อครับพี่” 
“วิทย์บอกเพอร์เซอร์ให้เตรียมตัวลงจอดฉุกเฉินด้วยครับ” ภูมินึกขึ้นมาได้
“ ผมบอกไปแล้วครับพี่ เพอร์เซอร์รับทราบแล้ว”
“เยี่ยมครับวิทย์ เรากางแลนดิ้งเกียร์ไปแล้ว เครื่องอยู่บนไกลด์สโลป(Glideslope)หรือยังครับ?” 
“แล้วครับพี่ มันเปลี่ยนเป็น GS แล้ว เครื่องเริ่มร่อนลงต่อครับพี่” วิทย์รายงานต่อ
“ วิทย์เซ็ทความสูงห้าพันฟุตเลยครับ เผื่อต้องยกเลิกการลงจอดอีก แล้วดึงแฟล๊ปออกมาที่ตำแหน่ง 20 ครับ” 
“ครับผม เซ็ทความสูงห้าพัน กางแฟล๊ปยี่สิบ ลดความเร็วด้วยใช่มั๊ยครับ?”วิทย์คอนเฟิร์ม
“ใช่แล้ววิทย์ เซ็ทมาที่ความเร็ว 150 น๊อตครับ แล้วดึงแฟล๊ปมาที่ตำแหน่ง 30 ต่อเลยครับ”
“โอเคครับพี่ แฟล๊ปสามสิบ สปีดเท่าไหร่ครับ?”
“Set speed 140 ครับ ทีนี้เราพร้อมทำการลงจอดแบบอัตโนมัตินะครับ” ภูมิหมายถึง AUTOLAND หรือ Automatic landing ที่เครื่องบินจะลงจอดบนพื้นรันเวย์เอง นักบินมีหน้าที่แค่ปลดระบบออโต้ไพล๊อตเมื่อเครื่องบินชะลอความเร็วลงไปแล้วบนรันเวย์

“ ลืมไปเลย วิทย์เห็นสวิตช์ออโต้เบรค(Autobrake)ที่อยู่ใกล้ๆแลนดิ้งเกียร์เลเวอร์มั๊ยครับ หมุนมันไปที่ตำแหน่ง 3 เลย”  ภูมิหมายถึงระบบเบรคอัตโนมัติ ที่จะเบรคเองเมื่อเครื่องบินแตะพื้น นักบินเพียงแค่มอนิเตอร์ว่ามันทำงานหรือไม่ พอความเร็วลดลงพอที่จะควบคุมเครื่องบินเพื่อแท๊กซี่(Taxi) ไปบนรันเวย์และแท๊กซี่เวย์ ถึงค่อยปลดออโต้เบรคออก

“ครับพี่ เซ็ทแล้วครับ ตำแหน่งสาม”
“ดีมากครับวิทย์ ทีนี้เราแค่เฝ้ามองมันลงจอดเอง หน้าที่ของวิทย์หลังจากเครื่องสัมผัสพื้นคือ ดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์(Thrust reversers)ที่เป็นก้านสองอันบนตัวทรัสต์เลเวอร์(Thrust levers) ทั้งคู่มาด้านหลังให้สุดเลย ลองจับดูก่อนนะครับ แต่อย่าดึงตอนนี้นะครับวิทย์”  ทรัสต์รีเวอร์เซอร์คือการทำให้เครื่องยนต์ของเครื่องบินเปลี่ยนทิศทางของแรงขับไปในทิศตรงข้าม ช่วยเพิ่มแรงต้านขณะลงจอดเพื่อเสริมประสิทธิภาพการจอดของระบบเบรคอีกที 

“รับทราบครับ ผมจะต้องดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์เมื่อเครื่องบินแตะพื้น ถูกต้องนะครับ” วิทย์ทวนคำสั่ง
“ใช่แล้ววิทย์ มันมีสองจังหวะ จังหวะแรกมันจะแค่เปิดออก จังหวะที่สองเมื่อเราดึงมันต่อไปด้านหลังจนสุด เครื่องยนต์จะเร่งในทิศทางตรงข้าม ช่วยให้จอดได้เร็วขึ้น เข้าใจนะ” 
“ครับพี่ ผมหวังว่าจะทำได้อย่างที่พี่บอกครับ” วิทย์ออกตัวไว้ก่อน 
“วิทย์ทำได้ พี่เชื่อมั่นในตัวน้องเต็มที่ สู้นะ” ภูมิให้กำลังใจ
“ครับพี่ เต็มที่ครับ”

เครื่องบินค่อยๆลดความสูงลงไปเรื่อยๆ วิทย์เริ่มเห็นพื้นดินชัดขึ้น แสงไฟรันเวย์สว่างจ้ารอรับการลงจอดจนเขาต้องหรี่ตาลง เสียงเครื่องยนต์แผ่วเบาลงจากเดิม วิทย์ได้ยินเสียงเพอร์เซอร์ประกาศผู้โดยสารอย่างชัดเจน 

“เบรซ เบรซ เบรซ ” เสียงตะโกนออกมาจากลูกเรือ คำว่าเบรซ (Brace) หมายถึง คำสั่งจากลูกเรือหรือนักบินให้ผู้โดยสารและลูกเรือเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกระหว่างลงจอดที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นเอง

วิทย์กลั้นหายใจอย่างไม่รู้ตัว ภาพที่เห็นด้านหน้าของเขาเริ่มเบลอ ความกลัวทำให้ตัวของเขาเกร็งและชาไปหมดระหว่างที่เครื่องกำลังสัมผัสพื้น

“ ฟิฟตี้ โฟร์ตี้ เทอร์ตี้ ทเวนตี้ เทน.....” เสียงขานอัตโมมัติบอกให้รู้ว่าอีกกี่ฟุตล้อเครื่องบินจะสัมผัสพื้น
.
.
.
.
.
.
.

เครื่องบินแตะพื้นอย่างนุ่มนวล วิทย์เริ่มดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์ทันที เขารู้สึกถึงการเบรคของระบบอัตโนมัติ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นเมื่อวิทย์ดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์ไปด้านหลังสุด 

“ ดึงสปีดเบรคมาหลังสุดครับ ดึงเลย ดึงเลย” เสียงภูมิตะโกนใส่ไมค์จนวิทย์ตกใจ เขาเริ่มดึงสปีดเบรคทันที เครื่องบินกระตุกจนรู้สึกได้ 
.
.
.

“เครื่องกำลังจะหยุด  เก็บทรัสต์รีเวอร์เซอร์ลงไปครับ เก็บทรัสต์รีเวอร์เซอร์ลงไป” ภูมิสั่งการทันทีที่เห็นเครื่องบินเริ่มจะหยุด  วิทย์ทำตามที่ภูมิสั่งการ

“วิทย์ครับ กดปุ่มออโตไพล๊อตดิสคอนเนคต์(Autopilot disconnect)ที่อยู่บนก้านคอนโทรลคอลัมน์ด้านซ้ายครับ มันอยู่ตรงนิ้วโป้งที่เรากำลังจับมันอยู่นะ กดสองครั้งนะครับ ต้องปลดระบบออโต้ไพล๊อตออกก่อน” 
“ครับพี่ เจอแล้ว กดสองครั้ง เรียบร้อยครับ” วิทย์ทำได้อย่างรวดเร็ว

“ถ้าเครื่องหยุดสนิทแล้ว วิทย์ดึงปาร์คกิ้งเบรคขึ้นมาครับ ก่อนอื่นวิทย์ต้องใช้เท้าทั้งสองข้างกดลงไปที่ด้านบนของรัดเดอร์เพดัล(Rudder Pedal)และกดค้างเอาไว้ก่อน ถึงจะดึงปาร์คกิ้งเบรคได้นะครับ” ภูมิอธิบายละเอียด รัดเดอร์เพดัล คือคันบังคับที่เท้าทั้งสองข้าง มีไว้ถีบให้ล้อหน้าของเครื่องบินเลี้ยวซ้ายขวาได้ระหว่างที่อยู่บนพื้นและช่วยเสริมการเลี้ยวบนอากาศ ส่วนบนของรัดเดอร์เพดัลเป็นส่วนของเบรคเท้า ซึ่งแบ่งออกเป็นสองข้างคือเบรคของล้อซ้ายและล้อขวา ส่วนล้อหน้าไม่มีระบบเบรค

“รับทราบครับ ตอนนี้เครื่องหยุดแล้ว ผมใช้เท้ากดลงไปด้านบน แล้วดึงปาร์คกิ้งเบรค ได้แล้วครับพี่”

“ดีมากครับ ดูจากหอบังคับการบินนี่ เครื่องบินดูปกติดี ไม่มีควันไฟออกมาตอนนี้ วิทย์ครับ ดับเครื่องยนต์ทั้งสองข้างด้วยครับ เห็นฟิวคอนโทรลสวิตช์ (Fuel Control Switch)ทั้งสองอันที่อยู่ด้านล่างของทรัสต์เลเวอร์มั๊ย ดึงสวิตช์ทั้งคู่ลงมาที่ตำแหน่งคัทออฟ(Cutoff)นะ เครื่องยนต์จะดับเอง เห็นมั๊ย?” ภูมิสั่งการต่อไป

“ครับพี่ เห็นแล้วครับ ดึงมันลงมาแล้วครับ” วิทย์ถอนหายใจอย่างแรงด้วยความโล่งอก เสียงปรบมือดังสนั่นมาจากด้านหลังของเขา ผู้โดยสารทั้งลำและลูกเรือส่งเสียงร้องดีใจที่รอดตายในวันนี้

“คุณวิทย์ครับ เราจะต้องอีแวคมั๊ย?” เพอร์เซอร์แอนวิ่งเข้ามาถาม

อีแวค หรืออีแวคคูเอท( Evacuate)คือ การอพยพผู้โดยสารให้ออกทางประตูทางออกฉุกเฉินในกรณีที่นักบินเห็นว่าจะไม่ปลอดภัยหากให้ผู้โดยสารออกจากเครื่องโดยวิธีปกติ

“สักครู่ครับ ผมถามกัปตันภูมิก่อน พี่ภูมิครับ เราต้องอีแวคมั๊ยพี่?” วิทย์ถามทันที

ยังไม่ทันจะได้คำตอบจากภูมิ วิทย์ได้ยินเสียงผู้โดยสารตะโกนโหวกเหวกมาจากด้านหลัง ตามมาด้วยความโกลาหลของผู้โดยสารที่ไม่สามารถควบคุมได้


“ไฟไหม้ ไฟไหม้ ควันออกมาจากใต้ปีกด้านซ้าย แย่แล้ว แย่แล้ว !!!” 

 @@@@@@@@

ซีซีหมวกเจ๊ก (โปรดติดตามตอนต่อไป)


ภาพประกอบจาก www.jdtllc.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น