17 มกราคม 2558

Survival (Episode Seven)


Survival (Episode Seven)

0410 น. (2010 UTC)

หอบังคับการบิน สนามบินเช๊คแล๊ปก๊อก ฮ่องกง

“ เขาจะไหวมั๊ยครับกัปตันภูมิ ?” คุณพิชิต ซีอีโอของกินรีแอร์ โทรมาสอบถามด้วยความกังวลในโชคชะตาของผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินที่กำลังพยายามลงจอดโดยผู้โดยสารที่เพียงแค่มีประสบการณ์บินเครื่องบินเล็กๆไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

“ผมจะพยายามให้ถึงที่สุดครับท่าน แต่ก็อยู่ที่น้องวิทย์คนที่กำลังควบคุมเครื่องบินอยู่ด้วย เราน่าจะโชคดีนะครับ ผมขออนุญาตเรียนท่านแค่นี้ก่อนนะครับ “ กัปตันภูมิรีบจบบทสนทนากับซีอีโอหนุ่มแห่งกินรี 

“ขอให้โชคดีนะครับกัปตัน ทุกคนฝากความหวังไว้ที่คุณ”พิชิตอวยพรมาตามสาย 

ภูมิกดปุ่มหยุดสนทนาบนมือถือของแดน เจ้าหน้าที่ของกินรีที่ยื่นมาให้คุยด้วยกับซีอีโอ แล้วกลับมาดูความเร็ว ความสูงและระยะทางจากเครื่องบินมาถึงสนามบิน ในจอเรดาร์มันบอกว่า เครื่องบินอยู่ห่างออกไปประมาณ 25 ไมล์ ด้วยความสูง10000 ฟุต และความเร็ว 250น๊อต เครื่องบินมันอยู่สูงไปเกินไป คงต้องบอกให้วิทย์แก้ไข 

“Kinny 10 จากฮ่องกง ได้ยินมั๊ยครับ?” 
“ได้ยินครับผม เครื่องบินมันเอียงไปมาครับ ควบคุมไม่อยู่ มันมีเสียงเตือนออกมาพร้อมกับไฟเตือนก่อนที่เครื่องบินมันจะเอียงไปมา ผมต้องจับคอนโทรลคอลัมน์เอาไว้หน่ะครับพี่ มันเป็นอะไรเหรอครับ” วิทย์รายงานปัญหาให้ภูมิต้องขบคิด
“ ผมคิดว่า ออโต้ไพล๊อต (Autopilot) น่าจะดิสคอนเนคต์(Disconnect) เองนะครับ วิทย์เห็นปุ่ม A/P บนแผงแกลร์ชิลด์ด้านหน้ามั๊ยครับ มันมีไฟติดมั๊ย?”
“ไฟไม่ติดครับพี่ ให้ผมกดปุ่มนี้ใช่มั๊ย?” วิทย์เดาไปตามที่เห็น พร้อมๆกับมือซ้ายที่ควบคุมคอนโทรลคอลัมน์อยู่ 
 “ใช่แล้วครับ ลองดูนะ” ภูมิโล่งอกที่วิทย์เข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายๆ
“โอเคแล้วครับ ตอนนี้ไฟที่ปุ่มA/P ติดแล้ว ผมปล่อยคันบังคับได้แล้วครับ เครื่องเริ่มนิ่งแล้ว”
“ดีมากครับ วิทย์ครับ ตอนนี้ความสูงของเครื่องบินจากพื้นมันเริ่มจะสูงเกินไปที่เราจะนำเครื่องลงจอดได้ ต้องรีบแก้ไขนะ วิทย์เห็นสปีดเบรคเลเวอร์ (Speedbrakes lever) ที่อยู่ทางซ้ายของปาร์กกิ้งเบรค(Parking brake)ที่อยู่ข้างขาขวาของวิทย์มั๊ยครับ”
“ เห็นแล้วพี่ “
“ ก่อนอื่น เซ็ทความสูงไปที่ 4500 ฟุต แล้วกดปุ่ม LVL CHG เพื่อลดความสูงลงไป เสร็จแล้วยกสปีดเบรคเลเวอร์ขึ้นมานิดนึงแล้วดึงมันลงมาด้านล่างครับ เราจะเพิ่มแดร็ก(Drag)ด้วยสปีดเบรค แผ่นสปอยเล่อร์ (Spoilers)แผ่นเล็กๆหลายแผ่นบนปีกทั้งสองข้างจะกางตั้งขึ้นมาบนผิวปีกเพื่อช่วยให้เครื่องบินเสียความสูงเร็วขึ้นเพื่อแก้ไขอาการค้ำ” ภูมิเลคเชอร์ต่อ

วิทย์ทำตามที่ภูมิบอกทันที เครื่องบินดีเซนด์(Descend)ต่อพร้อมกับอาการสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นสปอยเล่อร์ที่ปีกถูกกางออกเมื่อวิทย์ดึงสปีดเบรคเลเวอร์ เวิร์คโหลดเริ่มมากขึ้นในตอนนี้ วิทย์เข้าใจแล้วว่าทำไมนักบินแอร์ไลนส์ถึงได้เป็นกันยาก มันต้องใช้คนประเภทที่รับความกดดันได้ดีในเวลาวิกฤตินั่นเอง แถมยังต้องประสานงานกับทั้งลูกเรือ ผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่ภาคพื้น เจ้าหน้าที่เอทีซี แล้วยังต้องตาไวหูดีอีกต่างหาก 

“วิทย์ครับ เก็บสปีดเบรคเลเวอร์ได้แล้วนะ ความสูงของเครื่องบินตอนนี้โอเคแล้ว ทีนี้ Turn right heading 320” ภูมิบอกให้วิทย์หมุนปุ่ม HDG SEL เลี้ยวขวาไปทิศทาง 320 องศา
“ ครับผม Heading 320 “ วิทย์เข้าใจคำสั่งที่เป็น Standard Phraseology การบินบ้างแล้ว เพราะเคยเปิดฟังบ่อยๆในเว็บไซด์ของฝรั่ง

 “เอาหล่ะ ทีนี้เราต้องเริ่มลดความเร็วลงนะ วิทย์ลดสปีด (Speed) ลงมาที่ 210 น๊อตครับ” 
วิทย์หมุนปุ่ม Speed ไปทางซ้ายจนตัวเลขบนจอ LED เล็กๆใต้ปุ่มโชว์ตัวเลข 210 

“เราจะต้องเอาแฟล๊ปออกเพื่อช่วยลดสปีดและรักษาแรงยกด้วย วิทย์เห็นแฟล๊ปเลเวอร์ที่อยู่ด้านขวาของทรัสต์เลเวอร์(Thrust levers ) มั๊ยครับ ที่มันมีช่องเหมือนเป็นล๊อกๆหน่ะครับ” ภูมิเริ่มสั่งการขั้นแอดว้านซ์ไปเรื่อยๆ
“ ผมหาก่อนครับ อ่อ เจอแล้วครับ ให้ผมกางมันใช่มั๊ยพี่ “
“ ใช่ครับ ดึงมันขึ้นมานิดนึงก่อนแล้วลากลงมาที่ตำแหน่ง Flap one ครับ”
“ครับผม Flap one“  วิทย์ทำตามทันที มันติดขัดพอสมควรที่จะดึงแฟล๊ปเลเวอร์ขึ้นมา แต่ก็ไม่ยากอะไร
“ ดีครับ ทีนี้วิทย์ลดสปีดลงมาที่แฟล๊บแมนูเวอริ่งสปีด(Flap maneuvering speed) สำหรับ  Flap one ครับ” ภูมิว่าต่อไป
“ แล้วมันเท่าไหร่อะพี่ ดูตรงไหน”
“ ขอโทษทีลืมบอก วิทย์มองดูตรงแถบความเร็วบนจอ MFD ครับ มันจะมีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรเอฟสีเขียว เห็นมั๊ย นั่นหล่ะ วิทย์บิดปุ่มสปีดลงมาให้ตัวเลขตรงกับตำแหน่งตัวเอฟนั่นแหละ มันคือแฟล๊บแมนูเวอริ่งสปีดที่พี่ว่า” 
“รับทราบครับ ความเร็วลดลงมาแล้วพี่ มันอยู่ที่ 191 น๊อตครับ” วิทย์รายงานต่อไป
“ดีมากครับวิทย์ ทีนี้เอาแฟล๊ปออกต่อ ยกมาที่ตำแหน่ง Flap five ครับ แล้วลดความเร็วลงต่อไป ทำเหมือนเมื่อกี้เลย” ภูมิเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าวิทย์จะเอาอยู่
“ครับพี่ เรียบร้อยครับ Flap five และลดสปีดลงมาแล้ว แต่ความเร็วมันลดลงช้ามากเลยพี่ตอนนี้ ไม่เหมือนตอนที่กาง Flap one “ วิทย์สังเกตุเห็นความแตกต่าง
“ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะกระแสลมส่งท้ายเครื่องตอนนี้หน่ะครับ มันเป็นลมประจำถิ่นแถวๆนั้น สปีดจะลดลงช้าหน่อย แต่เดี๋ยวลมมันจะกลับมานิ่งเมื่อเราบินลงมาต่ำๆนะครับ” กัปตันภูมิอธิบายได้เหมือนไปนั่งบินอยู่บนเครื่องด้วย

“ทีนี้ เราต้องบินเข้าอินเตอร์เซ๊พท์ไอแอลเอสรันเวย์ 25 ขวา (Intercept ILS runway 25R) นะครับ วิทย์กดปุ่ม APP ที่อยู่ด้านขวาล่างของแผงแกลร์ชิลด์ครับ ไฟติดมั๊ยที่ปุ่ม?”
“ครับพี่ เห็นแล้วครับ ผมกดปุ่ม APP แล้วครับ ไฟที่ปุ่มติดแล้วพี่” 
“เยี่ยมเลยวิทย์ เรากดปุ่มนี้เพื่อให้เครื่องบินเลี้ยวเข้าหารันเวย์เซ็นเตอร์ไลน์(Runway Centerline) เองแล้วบินเข้าไปเกาะมุมร่อนเพื่อลงจอดครับ ทราบดีนะ ไอแอลเอส” ภูมิลืมไปว่าวิทย์เองก็ฝึกบินอยู่ เรื่องไอแอลเอสน่าจะรู้ดีอยู่แล้ว

“รับทราบครับ ตอนนี้สัญลักษณ์ Pink Diamond บนจอ MFD มันเลื่อนลงมาตรงกลางแล้วครับ 
มันใช่ Glideslpe หรือป่าวพี่?” Glideslope คือสัญญาณทางอิเลคทรอนิคส์ที่บอกมุมร่อนลงจอดที่ถูกส่งขึ้นมาจากเครื่องช่วยเดินอากาศไอแอลเอสนั่นเอง
“ใช่ครับ เพราะตอนนี้เราอยู่ต่ำกว่า Glideslope เครื่องบินเราจะบินเข้าไปหา Glideslope แล้วจะเกาะสัญญาณ Glideslope ลงไปเองครับ  ด้านบนของจอ MFD จะโชว์ว่า LOC กับ GS เมื่อเราอยู่บนมุมร่อนและทิศทางเข้าหารันเวย์แล้วครับผม” ภูมิอธิบายให้สิ้นสงสัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กัปตันจำเป็น
“ ครับ พี่ ตอนนี้มันเปลี่ยนเป็น GS แล้วครับ เครื่องเริ่มดีเซ็นด์(Descend)ต่อแล้วครับพี่” 
“วิทย์ครับ หมุนปุ่มความสูงไปที่ 5000 ฟุตครับ เราจะต้องเซ็ทค่านี้ไว้เผื่อว่าหากลงไม่ได้ ต้องโก-อราวนด์(Go-around) ขึ้นมาที่ความสูงนี้”
“ครับผม เซ็ทความสูง 5000 แล้วครับ” 

“ทีนี้เราจะต้องกางแลนดิ้งเกียร์ (Landing gear) นะ เห็นมั๊ยครับ มันอยู่ด้านหน้าตรงข้างๆจอ ND  เกียร์เลเวอร์ 
( Gear lever) อันเล็กๆที่มีส่วนคล้ายล้อเครื่องบินหน่ะครับ ดึงมันลงมาที่ตำแหน่งDown เลย” แลนดิ้งเกียร์คือล้อเครื่องบินนั่นเอง จะต้องถูกกางออกมาเพื่อลงจอด
“เห็นแล้วครับ ผมดึงลงมาแล้ว อุ๊บส์! เสียงดังตึ้งเลยพี่ สงสัยมันกำลังกางออก”
“ ช่ายแล้ว มันกางเสร็จหรือยัง ดูที่จอไอแคส( EICAS หรือ จอ Engine indicating and crew alerting system) ที่อยู่ตรงกลางระหว่างจอ ND ทั้งสองข้างครับ มันจะบอกว่า  Down เป็นสีเขียวทั้งหมด เห็นยัง?”
“ เอ่อ มันไม่ครบหน่ะพี่ ล้อข้างขวาไม่เปลี่ยนเป็นเขียวครับ มันยังเป็นสีเหลืองอยู่เลย” วิทย์เริ่มงง
“ รอดูนิดนึงครับ แลนดิ้งเกียร์อาจจะกำลัง transit อยู่ “ ภูมิมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน คำว่า Transit  หมายถึงอยู่ในช่วงเวลาที่เกียร์กำลังกางออก แต่ยังไม่กางเต็มที่นั่นเอง

“ตู๊ด ตู๊ด” .... 

เสียงร้องเตือนออกมาจากลำโพงอีกแล้ว ไฟ caution สีเหลืองอำพันติดขึ้นมาที่ปุ่มสี่เหลี่ยมด้านหน้าของวิทย์
“พี่ภูมิครับ มันร้องเตือนแล้วมีไฟติดขึ้นมาครับ มันเป็นอะไรครับพี่”
“เอ่อ สงสัยว่าแลนดิ้งเกียร์จะกางไม่ครบ ล้อขวาใช่มั๊ยครับ?” 
“ใช่ครับพี่ ล้อขวามันยังเป็นสีเหลืองอยู่เลย ทำยังงัยดีครับ?“ วิทย์เล่าตามที่เห็นด้านหน้า เสียงเริ่มตะกุกตะกัก ตอนนี้เขารู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรมาจุกอยู่ตรงคอ ปากเริ่มซีดและแห้งผาก หัวใจของเขาเต้นระรัว วิทย์นึกถึงพ่อกับแม่ขึ้นมา น้ำตาลูกผู้ชายมันไหลออกมาเอง

“ใจเย็นๆครับวิทย์ เครื่องบินยังบินได้ แต่เราต้องยกเลิกการลงจอดครั้งนี้ก่อนเพื่อแก้ไขปัญหากัน วิทย์ครับ มองหาปุ่มโทก้า (TOGA หรือ Takeoff/Go-around) ที่อยู่บนทรัสต์ลีเวอร์ครับ มันซ่อนอยู่ตรงด้านบน เห็นมั๊ย” ภูมิพยายามพูดให้ช้าลง เพื่อลดอาการตื่นเต้นของวิทย์
“เห็นแล้วครับ กดแล้วมันจะเป็นยังงัยครับพี่ภูมิ” วิทย์ตบหน้าตัวเองเบาๆเพื่อสลัดความกลัวออกไป เขาจะกลัวไม่ได้ ตอนนี้เขาเป็นความหวังของทุกคน

 “ถ้ากดแล้ว เครื่องยนต์จะเร่งขึ้นมา แล้วเครื่องบินจะเชิดหัวขึ้นเองและบินขึ้นไปยังความสูง 5000 ฟุตที่เราเซ็ทเอาไว้แล้ว พร้อมมั๊ยวิทย์?”  ภูมิถามเพื่อความแน่ใจว่าวิทย์จะเอาอยู่ในสถานการณ์กดดันเช่นนี้
 “ครับพี่ พร้อมครับ ให้กดปุ่มเลยใช่มั๊ย?”
“ครับวิทย์ กดเลย” 

วิทย์ทำตามคำสั่งของภูมิทันที นกยักษ์ลำใหญ่ทะยานขึ้นไปอีกเครื่อง เสียงของเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนทั้งสองเครื่องส่งเสียงคำรามให้ได้ยินว่ามันกำลังเร่งเครื่องเต็มที่ วิทย์รู้สึกได้ถึงพลังของมัน เครื่องบินไต่ระดับขึ้นไปอีกครั้ง!!! 

@@@@@@@@@@@

ซีซีหมวกเจ๊ก (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ภาพประกอบจาก 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น