15 มกราคม 2558

Survival (Episode Six)

Survival (Episode Six)

0401 น. (2001 UTC)

หอบังคับการบิน สนามบินเช็คแล๊ปก๊อก ฮ่องกง

“ Kinny 10 Kinny 10 ได้ยินแล้วตอบด้วย” ภูมิเรียกกลับไปหลายครั้งแล้ว ไม่มีเสียงตอบกลับจากวิทย์
“ Kinny 10 Kinny 10 ได้ยินแล้วตอบด้วย” เขาพยายามอีกครั้ง แต่ได้ยินเพียงเสียงคลื่นรบกวนจากวิทยุเท่านั้น ภูมิเริ่มเครียดอีกครั้ง กาแฟหมดถ้วยไปนานแล้ว เขาเริ่มค้นหาบุหรี่ในเสื้อโค๊ต แต่ก็ลืมไปว่าตัวเองพยายามเลิกสูบได้พักใหญ่เพราะลูกสาววัยเก้าขวบขอไว้ให้เลิกสูบเป็นของขวัญวันเกิดของเธอ

………………

สามนาทีผ่านไป ทุกคนที่ยืนล้อมรอบภูมิเริ่มถอนหายใจด้วยความเครียด แดนทนอยู่ไม่ไหว ต้องหันหน้าเดินหนีไปสูดอากาศด้านนอก เอทีซีฮ่องกงที่นั่งอยู่ข้างๆภูมิเพื่อคอยบอกทิศทางให้เครื่องบินพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยเพื่อสแตนด์บายไว้ในบริเวณที่เครื่องบินบินอยู่ เพราะไม่เห็นสัญญาณของเครื่องบินในจอเรดาร์ได้พักใหญ่

ภูมิจ้องมองจอเรดาร์แบบตาไม่กระพริบ สัญญาณบนเรดาร์สะท้อนให้เห็นเมฆก้อนมหึมาอยู่ในทิศทางที่เครื่องบินน่าจะบินผ่านพอดี มันอาจจะเป็นหายนะที่แท้จริงในวันนี้ก็ได้ แสงไฟสลัวในห้องนี้มันช่างบีบอารมณ์ของเขาเหลือเกิน เขาเริ่มคิดถึงครอบครัวของนักบิน ลูกเรือ และผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินที่ประสบชะตากรรมอยู่ มันคงเหมือนค้อนปอนด์มาทุบหัวภูมิถ้าเขาไม่สามารถช่วยอะไรได้อีก ภูมิรู้จักครอบครัวของกัปตันรอนเป็นอย่างดีเพราะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน เคยไปมาหาสู่กันอยู่บ่อยๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งกังวลเข้าไปอีก

“ Are you ok, Captain?” เอทีซีถามภูมิด้วยความห่วงใย เพราะเกรงว่าเขาจะควบคุมสติไม่อยู่
“ I’m okay , thank you. We must go on  to  help them over there.” ภูมิชี้นิ้วขึ้นไปบนฟ้า เพื่อปลอบใจตัวเองและทีมงาน

……
……

“ได้ยินมั๊ยครับ ได้ยินมั๊ยครับ ฮ่องกงจากKinny 10 ได้ยินแล้วตอบด้วยครับ” เสียงของวิทย์ดังขึ้นมาอีกครั้ง
“ ได้ยินครับ Kinny10 ชัดเจนกำลังห้า โอย ดีใจจริงๆ เป็นอย่างไรบ้างครับวิทย์” ภูมิถอนหายใจด้วยความโล่งอก ทุกคนมีรอยยิ้มกลับมาอีกครั้ง
“เครื่องบินส่ายไปมาและเขย่าอย่างแรงครับ กระจกข้างหน้าผมมันเหมือนจะแตกเลยแต่ก็ไม่ใช่ เสียงเหมือนอะไรมากระแทกกระจกตลอดเวลาเลยครับ แล้วกระจกหน้ามีแสงไฟวาบเหมือนฟ้าผ่าตลอด ผมพยายามติดต่อกลับไปหลายครั้งครับ แต่ไม่ได้ยินอะไรเลย” วิทย์พยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“น่าจะเป็นเซลล์เมฆซีบี(Cumulonimbous หรือ CB)ครับ ผมขอโทษด้วยที่บอกช้าเกินไป จะได้บินหลบทัน ไม่อยากจะอธิบายวิธีการใช้เรดาร์ตรวจอากาศบนเครื่องบินครับ มันค่อนข้างซับซ้อนและต้องเรียนรู้ด้วยการบินจริงๆก่อน” ภูมิออกความเห็นให้วิทย์ฟัง

“พี่ครับ เครื่องบินมันยังลดระดับอยู่นะครับ ตอนนี้Heading270 เหมือนเดิม ผมเห็น Symbol สีขาวๆ อยู่บนหน้าจอND อยู่สองสามอัน เหมือนเครื่องบินจะบินอยู่รอบๆผม ใช่มั๊ยครับพี่”
“ ถูกต้องครับวิทย์ ทางฮ่องกงส่งเครื่องบินทหารไปบินป้องกันให้สองลำ เผื่อจะช่วยอะไรได้และรายงานสถานการณ์กลับมาให้ทางเราทราบครับ บางครั้งเครื่องบินไฟท์เตอร์อาจจะบินเข้ามาใกล้บ้างจนทำให้สัญญาณทีแคส(TCAS หรือ Traffic Collision Avoidance System)ร้องเตือนบ้าง ก็อย่าตกใจนะ”  TCAS ช่วยเตือนให้เครื่องบินที่บินเข้ามาใกล้กันจนอาจจะเฉี่ยวชนให้รีบบินห่างจากกัน หรือบางครั้งก็เพียงแจ้งให้ทราบว่ามีเครื่องบินลำอื่นที่ติดตั้งระบบ TCAS เหมือนกันบินอยู่ใกล้ๆ เพื่อเพิ่ม Situation Awareness ให้นักบิน
“โอเคครับพี่ ตอนนี้ที่ผมเห็น มันเป็นSymbol สีขาว แล้วถ้ามันเข้ามาใกล้มันจะร้องเตือนใช่มั๊ยครับ?”
“ใช่ครับ และตัว Symbol ก็จะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง หมายถึงต้องระวัง และถ้าเป็นสีแดงหมายถึงมีสิทธิ์ชนกันได้ถ้าไม่รีบบินหลบกัน ซึ่งนักบินจะต้องรีบบินเปลี่ยนระดับความสูงตามที่คอมพิวเตอร์แนะนำทันที” ภูมิอธิบายอย่างละเอียดให้วิทย์พอเข้าใจ
“รับทราบครับ” วิทย์กดไมค์ตอบพร้อมกับหันไปมองด้านหลังของเขา ลูกเรือกำลังพยายามช่วยชีวิตพี่มนัส นักบินผู้ช่วยที่นอนหมดสติอยู่บนพื้นด้านหลังเก้าอี้นักบิน

“ วิทย์ครับ เลี้ยวขวาไปHeading 280 ครับ” ภูมิสั่งการมาตามคำแนะนำของเอทีซีฮ่องกง วิทย์หมุนปุ่ม HDG SELไปทางขวา เครื่องบินเริ่มเลี้ยวตามคำสั่งที่ป้อนให้มันอย่างนุ่มนวล
“ความเร็วเครื่องบินตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 310 น๊อต ถูกต้องมั๊ย?” ภูมิสอบถามความเร็วเครื่องบินขณะนี้ คำว่าน๊อต ย่อมาจากคำว่าน๊อตติคอลไมล์เปอร์อาวร์(Nautical mile per hour)
“ใช่ครับพี่”
“งั้นลดความเร็วลงมานิดนึงนะ หมุนปุ่มลดความเร็วที่อยู่ด้านซ้ายของปุ่ม HDG SELนะ บิดไปทางซ้ายเพื่อลดความเร็วลงมาที่ 250  น๊อตนะครับ
“รับทราบครับ สปีด250 น๊อต” วิทย์ค่อยๆหมุนปุ่มลดความเร็วลงมา รู้สึกตัวเองเหมือนนักบินบนยานอวกาศในหนังเรื่องStar trek ที่ได้รับคำสั่งจากกัปตันเคิร์กให้เปลี่ยนความเร็วและทิศทางบิน อย่างไงอย่างงั้นเลย
เครื่องบินค่อยๆบินผ่านน่านฟ้าอันมืดมืดลงไปยังพื้นดินด้านล่าง วิทย์เริ่มมองเห็นทัศนียภาพรอบๆฮ่องกง มันช่างสวยงามจริงๆ แสงไฟจากตัวเมืองช่วยปลุกให้ตัวเค้าเองรู้ว่า ของจริงกำลังใกล้เข้ามาแล้ว นี่เขากำลังจะเอานกยักษ์ลำมหึมาลำนี้บินลงจอด เขาจะทำได้เหรอ วิทย์เริ่มจิตหลอน

“ตอนนี้เราอยู่ประมาณ 40 ไมล์จากสนามบินนะ จะใช้รันเวย์ 25 ขวา สำหรับลงจอด ทิศทางลมผิวพื้นที่สนามในตอนนี้ 250 ดีกรี 5 น๊อต  ทัศนวิสัยมากกว่าสิบกิโลเมตร มีเมฆบางส่วน ไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงจอดนะครับวิทย์” ภูมิรายงานสภาพอากาศที่สนามบินให้วิทย์ฟังเป็นข้อมูล วิทย์เองพอจะเข้าใจ เขาก็เป็นนักบินเหมือนกัน

“ พี่ขอให้วิทย์ช่วยแก้ไขข้อมูลในเอฟเอ็มซีนิดนึงนะครับ”ภูมิพูดถึงเอฟเอ็มซี (Flight management computer หรือ FMC)ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่นักบินที่เลือกใช้ข้อมูลที่มีอยู่หรือป้อนข้อมูลให้แก่ระบบการบิน เพื่อใช้ในการควบคุมทิศทาง ความเร็ว ความสูง เครื่องช่วยเดินอากาศ และช่วยคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองของน้ำมันด้วย เอฟเอ็มซีเป็นเหมือนผู้ช่วยชั้นดีเลิศของนักบิน แต่ถ้ามันเสีย เครื่องบินก็ยังบินได้เหมือนเดิม แต่นักบินต้องคำนวณและบินเอง

 “ วิทย์เห็นเอฟเอ็มซีมั๊ยครับ มันอยู่ด้านล่างข้างหน้าวิทย์เลย จอสี่เหลี่ยมที่มีปุ่มอยู่รอบๆหน้าปัทม์ของมันหน่ะ” 
“เห็นแล้วครับ ให้ผมแก้ไขอะไรครับ” วิทย์เคยเห็นมันมาบ้างในเกมไฟลท์ซิม มันใกล้เคียงกันนะ
“ โอเคครับ กดปุ่มด้านล่างที่มันบอกว่า NAV นะครับ มันจะเปลี่ยนเป็นหน้าที่เราสามารถใส่ฟรีเควนซี่ของไอแอสเอสได้ครับ เห็นมั๊ย?” 
“กดแล้วครับ มันเปลี่ยนมาหน้า NAV แล้วครับพี่ ทำงัยต่อครับ” วิทย์ทำตามที่ภูมิบอกได้อย่างคล่องแคล่ว
“ วิทย์พิมพ์คลื่นความถี่ของไอแอลเอสรันเวย์25ขวาลงไปครับ พิมพ์อย่างนี้นะ หนึ่งหนึ่งศูนย์จุดเก้าสแลชสองห้าสาม(110.9/253)”  ภูมิบอกคลื่นความถี่วิทยุสัญญาณไอแอลเอส(Instrument landing system หรือ ILS) ซึ่งเมื่อใส่ลงไปแล้ว มันจะทำการจูนวิทยุเพื่อหาสัญญาณนำร่องจากรันเวย์ที่บอกทิศทางทั้งในแกนตั้งและแกนนอนเหมือนเส้นสองเส้นตัดกันเพื่อให้เครื่องบินบินตามแนวเส้นนี้ลงมาอย่างง่ายดาย
 “ครับพี่ หนึ่งหนึ่งศูนย์จุดเก้าสแลชสองห้าสาม แล้วจะใส่มันเข้าไปยังงัยครับ ตัวเลขมันยังอยู่ด้านล่างขอจอเอฟเอ็มซีอยู่อะ” วิทย์งงนิดๆ
“วิทย์กดที่ปุ่มแรกด้านบนซ้ายครับ คลื่นความถี่ที่เราพิมพ์มันจะเข้าไปเอง ลองดูนะ”
“ครับพี่ โอเค ได้แล้วครับ มันเข้าไปแล้ว เฮ้ มันมีSymbol ขึ้นมาด้านล่างของจอ MFD ครับพี่ เป็นรูปเหมือนข้ามหลามตัดนะครับ ใช่สัญญาณล๊อคคาไลเซอร์(Localizer) หรือป่าวครับพี่?” วิทย์เริ่มคุ้นๆแล้ว มันก็เหมือนของเครื่องบินเล็กและในไฟลท์ซิมเลย
“ถูกต้องนะครับ ตอนนี้จะรับได้เฉพาะสัญญาณล๊อคคาไลเซอร์นะ สักพักถึงจะเห็นสัญญาณไกลด์สโลป (Glideslope)” ภูมิพูดถึงสัญญาณในแนวร่อนจากสนามบินที่มีมุมร่อนเหมาะสมกับการลงจอด ส่วนล๊อคคาไลเซอร์จะเป็นสัญญาณที่พาเครื่องบินบินตรงเข้าหาหัวรันเวย์ในทิศทางตรงกับทิศทางรันเวย์เลย
“ครับพี่  ตอนนี้ผมอยู่ห่างจากสนามบินประมาณ35ไมล์ ใช่มั๊ยพี่?” วิทย์เริ่มอ่านเครื่องวัด ที่มุมซ้ายบนของจอMFD มีบอกระยะทางจากสนามให้ด้วย มันคือ DME หรือ Distance Measuring equipment นั่นเอง

 “ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ด” เสียงเตือนดังออกมาจากลำโพงเหนือศีรษะของวิทย์ เครื่องบินเริ่มโคลงเคลง แล้วเริ่มเอียงไปด้านซ้ายโดยที่วิทย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรบนแผงควบคุม หัวเครื่องบินส่ายไปมาเหมือนว่าว วิทย์เริ่มงง มันเกิดอะไรขึ้นอีก!!!
@——————————————@

ซีซีหมวกเจ๊ก(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ภาพประกอบจาก  www.flylouisville.com


ติดตามอ่าน Survival Episode one , two,three,four,five ย้อนหลังได้ที่  www.nuckbin.blogspot.com


0————————————————————————-0

1 ความคิดเห็น: