30 พฤษภาคม 2558

Introduction to pilot(3)

Introduction to pilot(3)

ผ่านการสอบออรัลเทสต์(Oral test)ไปได้แบบเฉียดฉิว ก็ถึงเวลาฝึกทำหน้าที่บนเครื่องบินจริงกันแล้วครับ ตื่นเต้นระทึกใจเพราะไม่เคยมาก่อน ผมต้องฝึกทำหน้าที่เป็นซิสเต็มโอเปอเรเตอร์หรือที่เรียกย่อๆว่าเอสโอ โดยมีครูฝึกที่ทำหน้าที่เป็นเอสโอตัวจริงไปด้วยและฝึกผมให้ทำงานไปด้วย ครูฝึกท่านเป็นโคไพล๊อตซึ่งสามารถทำหน้าที่เอสโอได้ด้วย เวลาไปฝึกบินมีนักบินสี่ถึงห้าคนนั่งกันอยู่ในค๊อกพิทของเครื่องบินแบบ A300B4 หรือเรียกสั้นๆว่าบีโฟร์ กัปตันนั่งเก้าอี้ซ้าย โคไพล๊อตนั่งขวา เทรนนีอย่างผมนั่งเฝ้าแผงเครื่องวัดอยู่ด้านหลัง โดยมีครูฝึกเอสโอนั่งประกบผมไปด้วยอีกคน บางไฟลท์บินก็อาจมีเพื่อนที่เป็นเทรนนีเหมือนกันบินไปด้วย สลับกันฝึก เป็นที่ครึกครื้นและมึนงงอย่างนี้อยู่หลายเดือน

การฝึกดังกล่าวจะเป็นลักษณะแบบที่เรียกว่า On the job training คือฝึกทำหน้าที่ในเที่ยวบินจริง ความเครียดของเทรนนีอย่างกระผมก็คือ ต้องฝึกฝนและทำให้เที่ยวบินไม่ถูกกระทบเพราะความผิดพลาดของผมเอง ครูฝึกเอสโอต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้พวกกระผมทำงานรูทีน (Routine) ให้ได้ในเวลาและไหลลื่นไปกับงานของกัปตันและโคไพล๊อต แต่ก็อย่างว่าแหละครับ น้องใหม่ใสปิ๊ง การทำอะไรผิดพลาดเงอะงะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องฝึกอยู่หลายเที่ยวบินหน่อย 

ช่วงเวลาที่ฝึกทำหน้าที่เป็นเอสโอเป็นอะไรที่สนุกปนเครียด ตอนฝึกทำหน้าที่แรกๆ รู้สึกได้ว่าเวลามันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เที่ยวบินแรกที่ผมไปบินก็คือเที่ยวบินไปประเทศบรูไน  ผมไปกับเพื่อนอีกคนด้วย ครูเอสโอของผมในวันนั้นคือครูต๊ะ นพดล นาคะมาลัย อดีตนักบินเอฟสิบหกแห่งกองทัพอากาศไทย เนื่องจากเที่ยวบินแรกนี้มีชั่วโมงบินที่ยาวพอสมควร จึงไม่ค่อยจะเครียดเท่าไหร่ ครูเอสโอของผมท่านก็สุดแสนจะใจดี คอยแนะนำและให้กำลังใจไปตลอดทาง ผมแทบไม่ได้มองดูว่ากัปตันและโคไพล๊อตทำอะไรเลยเพราะมัวแต่ห่วงงานของตัวเองว่าจะไม่ดีพอ

เส้นทางบินของเครื่องแบบบีโฟร์ส่วนใหญ่จะบินภายในประเทศ สนามบินที่บินไปเป็นสนามบินใหญ่ๆเช่น เชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ ภูเก็ต ต่างประเทศก็ไปไม่ไกลมากเช่น สิงคโปร์ บรูไน เกาชุง(ไต้หวัน) เป็นต้น ตารางบินส่วนใหญ่ไปสองสามวันแบบที่เราเรียกว่า"บินเป็นพวง" เช่นวันแรกบินสามแลนดิ้ง(Landing)ไปนอนเล่นเชียงราย วันที่สองบินไปนอนดมหมอนที่สิงคโปร์ วันที่สามตื่นแต่เช้าบินกลับกรุงเทพ อะไรทำนองนี้ บางพวงก็แบบว่าบินไปอยู่หลายวันแล้วบินซอยอยู่แถวๆนั้น เช่นไปนอนค้างภูเก็ตสามวันสองคืน ความสนุกมันอยู่ตรงที่ไปบินค้างต่างจังหวัดนี่แหละ นักบินสี่คนเป็นอย่างน้อยกับลูกเรืออีกหลายชีวิตก็จะรวมตัวกันออกไปหาอะไรอร่อยๆทานกัน เทรนนีอย่างพวกผมต้องเจี๋ยมเจี้ยมนั่งสงบเสงี่ยมคอยบริการพี่ๆนักบิน ได้ฝึกทักษะการเป็นจูเนียร์ที่ต้องคอยดูแลอาหารการกินและน้ำท่าไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ทหารเก่าอย่างผมสบายอยู่แล้ว ตอนทำงานอยู่ที่กรมสรรพาวุธก่อนลาออกมาก็ทำออกบ่อย รินเหล้าเติมน้ำแข็ง ทำหน้าที่กกต.(ใกล้กระติก)อย่างขยันขันแข็ง ข้อดีของการเป็นน้องเล็กในไฟลท์บินก็คือ กินฟรีมีเกียรติครับผม ครูการบินหรือกัปตันก็มักจะเหมาจ่ายค่าอาหารการกินทั้งหมดหรืออาจจะออกเงินเยอะหน่อย มันเป็นเหมือนวัฒนธรรมองค์กรของนักบินอย่างเราครับ 

ระหว่างที่ฝึกทำหน้าที่เอสโอ พวกกระผมก็ต้องเข้าร่วมกิจกรรมของฟลีทที่มีกัปตันอนิวรรต ท้วมเริงรมย์เป็นผู้ชักชวน พวกเราเรียกท่านว่าครูท้วม ท่านเป็นผู้ใหญ่ใจดี สูงสง่า น้ำเสียงกังวาลและมีพลัง ท่านเป็นรุ่นพี่ของผมที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ตำแหน่งของท่านในตอนนั้นคือหัวหน้านักบินเครื่องบินแบบเอบีโฟร์ ท่านชอบทำกิจกรรมสนุกๆ จึงมักจะชวนพวกเราให้ทำด้วย เด็กใหม่อย่างพวกผมกลายเป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรมและสังสรรค์ต่างๆ ผมเคยแม้กระทั่งรำกลองยาวกับสาวๆแอร์โฮสเตสที่ครูท้วมชักชวนมาทำกิจกรรมแสดงโชว์ในงานเลี้ยงนักบินและงานเลี้ยงของฝ่ายบินหลายงาน ยังงงอยู่ทุกวันนี้ว่าทำไปได้อย่างไร

กัปตันอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นครูของผมเหมือนกัน ครูสันติ สิทธินันทน์ อดีตนักบินรบจากกองทัพเรือไทย ท่านมีพรสวรรค์ในการแต่งเพลง ครูท้วมท่านขอให้ครูสันติแต่งเพลงของฟลีทเอบีโฟร์ให้พวกเราร้องกัน จำได้อยู่ท่อนหนึ่ง ติดปากติดสมองมาทุกวันนี้ครับ 

“ เอบีโฟร์ แอนติคเบิร์ด เอบีโฟร์ เบสิคอินสตรูเม้นท์ เอบีโฟร์ โฟร์แลนดิ้งอะเดย์....” 

ทุกงานที่เอบีโฟร์จัดหรือเข้าร่วม เราต้องไปร้องเพลงนี้กันทุกครั้ง ขึ้นเวทีไปกันเป็นสิบๆคน ร้องเพลงบนเวทีกันอย่างสนุกสนาน ครูท้วมสอนผมเสมอว่าเรื่องการบินเป็นอะไรที่เรียนรู้ไปได้สักพักก็มีความสามารถพอกันทุกคน แต่การทำกิจกรรมให้กับสังคมก็ต้องไม่ขาด เราอยู่ตามลำพังไม่ได้ เราต้องมีสังคม ต้องเสียสละเวลาและทุนทรัพย์ส่วนตัวบ้างเพื่อสังคมที่เราอยู่ คำสอนของครูท้วมยังก้องอยู่ในใจผมทุกวันนี้ครับ

ช่วงเวลาที่เป็นเทรนนีที่ฟลีทเอบีโฟร์สนุกมาก เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่กี่เดือนผมก็ผ่านการฝึก ได้รับการติดสองขีดที่บ่าทั้งสองข้าง โดยครูสาโรช อิงสา หัวหน้าครูการบินของฟลีทเอบีโฟร์ท่านติดขีดให้ผมในค๊อกพิทเลย นักบินที่ได้รับการติดขีดเพิ่มบนบ่าก็เหมือนกับการประดับยศของทหารเลยครับ  จากนี้ต่อไปเป็นเวลาทำงานจริงในฐานะเอสโอตัวจริงแล้ว ท้องฟ้ากว้างใหญ่กับงานที่น่าภาคภูมิใจรอผมอยู่แล้วในเที่ยวบินต่อไป

ได้เวลาพักชมโฆษณาสักครู่ครับ รอแป๊บนุงนะ
———————
www.nuckbin.blogspot.com

www.facebook.com/nuckbin

28 พฤษภาคม 2558

Introduction to pilot(2)

Introduction to pilot(2)

เดือนกรกฎาคม ปีพศ.2538 เรืออากาศโทมเหศักดิ์ วงษ์ปา นักบินฝึกหัดของบริษัทการบินไทยและเพื่อนพ้องรวม16คน เดินทางจากหัวหินมารายงานตัวที่บริษัทการบินไทย ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสหน้าสดเพราะกลับมาอยู่ในแสงสีกับปีกที่สวยๆ อากาศบริสุทธิ์ที่ชายหาดหัวหินกับควันรถเหม็นหืนที่กรุงเทพช่างต่างกันลิบลับ พวกเราถูกจัดให้เข้าอบรม Orientation course มีพนักงานใหม่จากหน่วยอื่นเข้าเรียนพร้อมกัน ข้อมูลของบริษัทการบินไทยมหาชนหลั่งไหลเข้ามาให้รับทราบ เป็นการปูพื้นฐานให้พวกเราทุกคนได้เข้าใจในสิทธิ์ บทบาทและหน้าที่ จากนั้นก็เริ่มเรียน Basic course ของนักบิน อันได้แก่ความรู้ทั่วไปในการบิน เอกสารการบินของบริษัท กฏระเบียบในการบินอันได้แก่ข้อมูลต่างๆใน Flight Operations manual ซึ่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น Operations manual 

จากนั้นไม่นาน พวกเราได้รับทราบว่าจะต้องไปเรียนเป็นนักบินที่สาม หรือที่เรียกว่า System operator ของเครื่องบินแบบ Airbus A300B4 ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ต้องใช้นักบินสามคน สองคนนั่งอยู่ด้านหน้าเป็นกัปตันและโคไพล๊อต อีกหนึ่งคนนั่งอยู่ด้านหลังคอยควบคุมแผงเครื่องวัดระบบต่างๆรวมไปถึงทำงานจิปาถะเพื่อช่วยบริการให้กัปตันและนักบินผู้ช่วย เราต้องไปเบิกคู่มือการบินต่างๆจากหน่วยงานดูแลเอกสารการบินมาศึกษา แมนนวลการบินหนาหลายร้อยหน้าต้องอ่านและจำสิ่งสำคัญให้ได้ทั้งหมด ระบบต่างๆของเครื่องบินค่อนข้างซับซ้อน ไฮโดรลิค นิวเมติค น้ำมัน ไฟลท์คอนโทรล แลนดิ้งเกียร์ ไฟฟ้า และอื่นๆอีกมากมายไหลผ่านตาทั้งสองข้างจนมึนไปหมด ครูภาคพื้นที่กองโรงเรียนให้เราศึกษาด้วยตัวเองด้วย และเข้ามาบรีฟให้เราฟังด้วยเพื่อเป็นแนวทาง ช่วงนั้นพวกผมต้องทุ่มเทกันหนักถึงกับต้องมาเช่าหอพักอยู่ด้านหลังบริษัทเพื่อสะดวกต่อการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่อย่างนั้นต้องพะวักพะวงเดินทางไปกลับทุกวัน เสียเวลาอ่านหนังสืออย่างมาก

ผมกับเพื่อนอีกสามคนตกลงใจเช่าหอพักด้านหลังบริษัทอยู่ด้วยกัน แชร์กันจ่ายรายเดือนในสนนราคาที่พอรับกันได้ เช้ากลางวันและเย็น พวกเราขลุกกันอยู่ด้วยกันตลอดยกเว้นเวลาเข้าส้วมเท่านั้น เป็นช่วงเวลาที่ทั้งสนุกและเครียดปะปนกันไป เวลาที่ต้องเข้าเรียนและสอบค่อนข้างรวดเร็วเนื่องจากการจัดตารางเรียนและสอบที่แน่นมาก แต่เมื่อมีเวลาว่างบ้างในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็รวมตัวกันออกไปแร่ดบ้างตามประสาหนุ่มวัยกลัดมัน สถานที่ที่ไปกันบ่อยก็คือลานโบว์ลิ่งแถวบริษัท โยนโบว์กันไป ติวกันไป จิบเบียร์วุ้นเหล่สาวบ้างประปรายพอให้หายเครียด 

หลังจากสอบข้อเขียนเสร็จแล้ว ผ่านช่วงเวลาเผาหลอกไปแล้ว ก็ถึงเวลาเผาจริง เราต้องสอบออรัลเทสต์(Oral test) โดยครูที่กองโรงเรียนจะให้เราเข้าไปนั่งในซิมมูเลเตอร์เครื่องบินแบบ A300B4 แล้วป้อนคำถามเกี่ยวกับระบบเครื่องบินต่างๆให้เราตอบปากเปล่าปราศจากหนังสือ โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมการบินพลเรือนมานั่งฟังด้วยและเป็นผู้ให้ความเห็นว่าเราควรสอบผ่านหรือไม่ ผมเป็นคนแรกของรุ่นเลยที่ต้องสอบ จำได้ว่าเครียดมากเพราะครูใหญ่เข้ามาไซโคตั้งแต่ก่อนเข้าสอบว่า ถ้าตกต้องเรียนใหม่ และต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะได้สอบอีกครั้ง นั่นหมายถึงซีเนียรีตี้ของพวกเราด้วยที่ต้องไปต่อท้ายเพราะสอบตก ก่อนวันที่ผมเข้าสอบ รถของพ่อที่ผมยืมมาขับมาดันเสียซะอีก ลางไม่ดีซะแล้วตรู

ถึงเวลาเข้าสอบแล้ว ผมเข้าไปนั่งในซิมพร้อมกับครูและเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือน คำถามเด็ดๆถูกถามโดยครูใหญ่ของพวกเรา หน้าตาแกจริงจังมากจนผมตื่นเต้นและประหม่า ไอ้ที่เตรียมมาเต็มร้อยลดเหลือแค่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์  ความคิดของผมเองคิดว่าตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าในตอนนั้น ผมเหมือนตกเข้าไปในขุมนรกที่ไหนสักแห่งในโลกใบนี้ พอหมดเวลา ครูส่ายหน้าอย่างแรง ผมคิดได้อย่างเดียว 

“กูตกแน่”

อ๊ะ อ๊ะ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ครูพูดว่า น่าจะทำได้ดีกว่านี้เพราะคาดหวังว่าคนแรกที่มาสอบน่าจะเนียนกว่านี้ แหมครูครับ ละอ่อนอย่างผมจะไปเนียนตั้งแต่วันแรกได้อย่างไร แล้วแกก็บอกว่ายอมให้ผ่านนะ แต่ต้องอ่านหนังสือให้มากกว่านี้ โอเคมั๊ย? โอเคมากครับ ยกมือวันทากราบแทบอก แล้วรีบเดินออกจากซิม กลัวแกจะเปลี่ยนใจเรียกกลับมาสอบใหม่อีกรอบ 

โล่งอกไปเปลาะนึง ผมผ่านแบบเฉียดฉิวแต่ก็เป็นการเปิดแผลให้เพื่อนที่มาสอบต่อไปต้องเครียดหนัก กลายเป็นว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เข้าสอบ ตกไปครึ่งรุ่น ต้องไปเริ่มเรียนกันใหม่ตั้งแต่ต้น 

ก่อนจะเดินทางต่อไปกับกระผม พักชมโฆษณาสักครู่นะครับ!!!
————————
ติดตามบทความเก่าที่เขียนไว้ได้ที่
www.nuckbin.blogspot.com

www.facebook.com/nuckbin

Introduction to Pilot(1)

Introduction to Pilot(1)

ห่างเหินไปจากเฟซบุ๊คหลายวัน จนแทบจะลงแดงตายเพราะไม่มีสมาธิมานั่งพิมพ์ให้อ่านกัน ช่วงนี้ใช้สมองเยอะเนื่องจากต้องอ่านเอกสารตำหรับตำราหลายฉบับ จนรู้สึกได้ว่ารอยหยักในสมองเริ่มแตกลายงา แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบศึกษาค้นคว้าอยู่แล้ว เลยรู้สึกสนุกไปกับงานที่ได้รับในตอนนี้เป็นอย่างยิ่ง
ทำให้นึกถึงตอนที่เริ่มเข้ามาเป็นนักบินแอร์ไลนส์ที่การบินไทย การฝึกทบทวนความรู้และทักษะการบินเป็นเรื่องธรรมดาและจำเป็นต้องทำ ตอนที่สอบการบินไทยได้เป็นนักบินฝึกหัด การบินไทยส่งไปเรียนบินเครื่องบินใบพัดลำเล็กที่สถาบันการบินพลเรือนหัวหิน ผมและเพื่อนร่วมรุ่นAP-41ต้องเรียนหลักสูตรภาคพื้นหลายเล่ม ตำราเป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด มีภาษาไทยไม่กี่เรื่อง ผมโชคดีตรงที่สมัยเรียนมัธยมชอบภาษาอังกฤษ เลยพอเข้าใจได้สบายหน่อย แต่ก็ยังไม่เก็ทในทุกเรื่อง ภาษามันดิ้นได้นะครับ แปลผิดก็ไปคนละเรื่องเลย
ตอนที่เรียนบินที่หัวหิน แบ่งเป็นครึ่งปีแรกเป็นศิษย์ประถม ช่วงนี้จะฝึกบินในช่วงเช้าเนื่องจากศิษย์การบินละอ่อนอย่างพวกผมยังอ่อนโลกนัก อากาศยามเช้าที่สนามบินหัวหินลมยังสงบนิ่ง ทำให้การฝึกบินทำได้ง่ายกว่าช่วงบ่ายที่อากาศร้อนและเอาแน่นอนไม่ได้ ศิษย์ประถมจะฝึกบินในช่วงเช้าจนถึงเที่ยง พักทานอาหารกลางวัน เสร็จแล้วช่วงบ่ายย่อยอาหารด้วยการเข้าห้องเรียนภาคพื้น พอหนังท้องตึงหน้งตาก็หย่อน นั่งสัปหงกกันเป็นหมีโคอาล่า หูฟังแต่ตาหลับเป็นทักษะที่ศิษย์การบินประถมจำเป็นต้องฝึกฝนให้ช่ำชองอยู่เนืองๆ ระวังอย่างเดียวคืออย่าให้ครูจับได้ว่าแอบหลับ เพราะอาจจะถูกลงโทษจากครูปกครองไม่ให้กลับบ้านเสาร์อาทิตย์ ศิษย์การบินต้องฝึกบินกับครูการบินของตนอยู่พักใหญ่จนครูมั่นใจแล้ว ก็จะปล่อยให้เราบินเดี่ยวเองหรือที่เรียกว่าโซโล่ (Solo) ผมยังจำวันนั้นได้จนทุกวันนี้ครับ มันตื่นเต้นและดีใจเหมือนถูกหวยรางวัลเคียงข้างรางวัลที่หนึ่ง เหมือนเด็กน้อยได้ของเล่นชิ้นโปรดจากป๊ะป๋า กึ่งกลัวกึ่งกล้า กึ่งยิงกึ่งผ่าน บอกความรู้สึกไม่ถูกเลยในตอนนั้น กลัวว่าจะทำพลาดแต่ก็ใจก็อยากทำ วินาทีที่เราเอาเครื่องบินลอยขึ้นฟ้าได้ มันช่างฟินฝุดๆครับพี่น้อง เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม
ผ่านไปครึ่งปี กลายเป็นรุ่นพี่เพราะมีรุ่นน้องไล่ตามมาเรียนด้วย ขยับวิทยฐานะขึ้นเป็นศิษย์มัธยม ช่วงเช้าทานข้าวเสร็จเข้าเรียนหนังสือในห้อง ช่วงบ่ายฝึกบินกับครูการบินหรือ ”ไปเดี่ยว” คำว่าไปเดี่ยวหมายถึงเอาเครื่องบินไปฝึกบินเองโดยที่ไม่มีครูการบิน แต่บางเที่ยวบินก็จะมีเพื่อนศิษย์การบินนั่งไปเป็นเซฟตี้ไพล็อต(Safety pilot)ให้เพื่อฝึกบินเครื่องวัด (Instrument flying) เราทั้งคู่ก็จะเพลิดเพลินเจริญใจไปกับวิวทิวทัศน์รอบสนามบิน ต่างพากันชี้นกชมไม้คล้ายกับเป็นคู่รักร่วมเพศ นอกจากนี้ศิษย์การบินต้องฝึกบินเดินทาง โดยทำการบินจากสนามบินหัวหินไปลงที่สนามบินอื่น เป็นอะไรที่ร้อนแต่ก็สนุก ที่ว่าร้อนเพราะต้องนั่งเป็นไก่อบภูเขาไฟอยู่ในเครื่องบินให้แดดลามเลียเป็นเวลาหลายชั่วโมง กว่าจะถึงจุดหมายก็เกือบจะกลายเป็นบีชบอย สำหรับอุปกรณ์ที่ศิษย์การบินอย่างเราขาดไม่ได้เวลาบินเดินทางคือแว่นตากันแดด หมวก แผนที่เดินทาง และน้ำดื่ม ต้องเตรียมให้พร้อม ลืมนี่แย่เลย
บินไปบินมา ครบหนึ่งปี ทำชั่วโมงบินได้เพียงพอตามที่กำหนด ก็จะถูกจัดให้เข้ารับการตรวจสอบการบินภาคอากาศและสอบความรู้ภาคพื้นไปพร้อมๆกัน จนจบการฝึกบิน ในวันสุดท้ายที่จะต้องกลับไปที่การบินไทยเพื่อฝึกบินเครื่องบินลำใหญ่ต่อไป ผมและเพื่อนนักบินเข้าไปกราบขอพรครูการบินและครูภาคพื้น ชีวิตเพิ่งเร่ิมต้นเท่านั้นเอง ยังมีศึกใหญ่รออยู่อีกมากที่การบินไทย นักบินละอ่อนอย่างพวกผมต้องจากบ้านนาเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อฝึกบินอีกครั้ง คราวนี้เป็นการฝึกบินเพื่อทำงานจริงๆแล้ว เครื่องบินไอพ่นลำใหญ่ที่บรรทุกผู้โดยสารได้สามร้อยคนรอพวกผมให้ไปฝึกบินอยู่ครับ
เหตุการณ์จากนี้จะเป็นอย่างไร
โปรดติดตามตอนต่อไป.....หลังโฆษณาครับ