18 มกราคม 2558

Survival (Episode Eight)

Survival (Episode Eight)

0422 น. (2022 UTC)

“เราจะเก็บแลนดิ้งเกียร์ก่อนนะครับ วิทย์ดึงแลนดิ้งเกียร์เก็บขึ้นไปก่อนนะครับ ตอนนี้เลย “ กัปตันภูมิสั่งการด่วน วิทย์ทำตามที่สั่งทันที เสียงดังปึ้งปั้งเล็กน้อยจากการเก็บล้อขึ้นไปใหม่ 
“วิทย์ครับ กดปุ่ม HDG SEL แล้ว Set Heading 050 ครับผม เลี้ยวขวา”
“ครับผม Heading 050 set” 
“ดีครับ เราจะต้องบินไปทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสนาม และบินอยู่แถวนั้นที่ความสูงห้าพันฟุตนะ         Set Heading 073 now ” ภูมิสั่งต่อไป เครื่องบินจะต้องบินไปตาม Missed Approach Track ซึ่งได้รับการออกแบบไว้สำหรับการบินแบบ Instrument Approach”

“พี่ครับ เครื่องบินหยุดไต่แล้ว อยู่ที่ความสูงห้าพันฟุต  Heading 073 set ครับ”
“โอเควิทย์ Now set speed 170 , Heading 120” ภูมิออกคำสั่งต่อไปทันที
“Speed 170,Heading 120 set “ วิทย์ตอบรับคำสั่งของภูมิเหมือนเป็นนักบินแอร์ไลนส์จริงๆเลย เขาเริ่มคลายความกังวลลงบ้าง

“ เดี๋ยวเราจะไปบินวนสักพักที่ความสูงห้าพันฟุต เพื่อทำเช็คลิสต์” ภูมิหมายถึงจะเปิดคู่มือสำหรับแก้ไขปัญหาในกรณีที่เครื่องบินหรือระบบใดระบบหนึ่งมีปัญหา เรียกคู่มือนี้ว่า Emergency/Malfunction หรือ Non-normal checklist

“คู่มือที่พี่ว่าอยู่ไหนครับ ต้องลุกไปหามั๊ยครับพี่?”
“ไม่เป็นไรครับวิทย์ พี่ถืออยู่ในมือแล้ว โหลดมันเอาไว้ในไอแพดของพี่เอง เดี๋ยวพี่จะอ่านแล้ววิทย์ทำตามนะ” ภูมิรอบคอบจริงๆ เขาหยิบเอาไอแพดคู่ใจที่มีเอกสารและคู่มือการบินที่สำคัญอยู่ในนั้นทั้งหมดมาจากโรงแรมด้วย

“รับทราบครับ ตอนนี้ Heading 120 ความสูงห้าพันฟุตครับ” 
“โอเคครับวิทย์ เราจะบินวนกันสักพัก วิทย์พิมพ์ตัวอักษรสองตัว แทงโก้กับเดลต้า(TD) ลงไปบนเอฟเอ็มซี(FMC) นะครับ แล้วเลื่อนนิ้วไปกดปุ่ม LEG ที่อยู่ตรงกลางๆเอฟเอ็มซี เห็นมั๊ย” แทงโก้ เป็นการอ่านในระบบการบิน หมายถึงตัวอักษรที(T) ส่วนเดลต้าแทนตัวอักษรดี(D) ส่วนคำว่า  LEG คือหน้าหนึ่งบนจอเอฟเอ็มซีที่บอกเส้นทางบินเรียงไปเป็นจุดๆ เหมือนแผนที่เดินทางที่ใช้ปากกาเรืองแสงขีดเอาไว้

“เห็นแล้วครับพี่ ผมคีย์ลงไปแล้วครับ ผมกดปุ่ม LEG นะ แล้วไงต่อพี่” 
“วิทย์เลื่อนนิ้วไปกดปุ่มแรกด้านซ้ายบนเอฟเอ็มซี แล้วเลื่อนนิ้วลงมากดปุ่ม EXEC ที่มีไฟสีขาวติดอยู่ตอนนี้ครับ เรากำลังสร้างตำแหน่งของแทงโก้เดลต้าบนหน้า LEG ” ภูมิอธิบายต่อ มือขวาเลื่อนไปหยิบไอแพดคู่กายมาวางเตรียมไว้ คำว่า EXEC ย่อมาจาก  Execute ที่แปลว่าลงมือทำ ฟังก์ชั่นนี้ทำเอาไว้เผื่อนักบินกดปุ่มสำคัญๆผิด

“ครับพี่ภูมิ เรียบร้อยครับ ไงต่อพี่”
“วิทย์กดปุ่มแอลแนฟ ( LNAV) ที่อยู่บนแผงแกลร์ชิลด์ด้านหน้าเลยครับ ปุ่มมันอยู่ข้างล่างปุ่ม HDG SEL หน่ะ”
“รับทราบครับ ตอนนี้บนจอ MFD เปลี่ยนเป็น LNAV แล้วครับ“ LNAV คือการปล่อยให้เครื่องบินบินตามเส้นทางการบินที่สร้างไว้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องแก้ไขหรือเซ็ท Heading ให้อีก 

“เราจะบินวนตรงจุดTD นะครับ ทีนี้กดปุ่มHOLD ที่อยู่ใกล้กับปุ่ม LEG นะ เจอมั๊ย”
“ครับพี่เห็นแล้ว ผมกดแล้ว มันเปลี่ยนเป็นหน้า HOLD ที่เอฟเอ็มซีแล้วครับ”
“วิทย์กดตรงปุ่มด้านข้างที่อยู่ตำแหน่งล่างสุดทางซ้ายบนหน้าปัทม์จอเอฟเอ็มซีครับ มันจะตรงกับคำว่า NEXT HOLD บนจอเอฟเอ็มซีเลย “
“ครับพี่ กดแล้วครับ “
“ วิทย์พิมพ์คำว่าTD ลงไป แล้วกดปุ่มด้านข้างที่อยู่ตำแหน่งบนสุดทางซ้าย แล้วเลื่อนนิ้วลงมากดปุ่ม EXEC ที่ด้านล่างนะ”
“โอเคครับ” วิทย์ทำตามนั้น สักพักเครื่องบินเริ่มบินวนตรงตำแหน่ง TD การบินวนอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่ง เราเรียกว่า HOLD 

แอร์เพอร์เซอร์หน้าตาตื่นเดินเข้ามาในค๊อกพิท คงจะงงว่าทำไมไม่บินลงไป
“เกิดอะไรขึ้นครับคุณวิทย์ ทำไมเรายังไม่ลงไปอีกหล่ะ” 
“มีปัญหาระบบฐานล้อครับพี่ ต้องขึ้นมาก่อนเพื่อแก้ไข”  วิทย์บอกไปตรงๆ
“ว้ายตายแล้ว เราจะรอดกันมั๊ย” เพอร์เซอร์แอน ร้องออกมาด้วยความกลัว
“พี่อย่าพูดอย่างนั้นสิ เราต้องรอด เชื่อผม ตอนนี้พี่ออกไปแจ้งผู้โดยสารนะครับ ว่าให้เตรียมตัวลงจอดฉุกเฉิน แล้วพี่ก็บอกขั้นตอนการเตรียมตัวไปเลยนะครับ ตามที่พี่เคยเรียนมาหน่ะ พี่ทำได้นะ” วิทย์กระตุกให้เพอร์เซอร์คิดในแง่บวกไว้ก่อน
“ครับ ครับ เดี๋ยวผมจะไปแจ้งน้องๆลูกเรือ แล้วจะประกาศแจ้งผู้โดยสารนะครับ” เพอร์เซอร์รีบออกไปทันที 

 “วิทย์ครับ เดี๋ยวเรามาทำเช๊คลิสต์ไปพร้อมๆกันนะ เรื่องแลนดิ้งเกียร์ไม่กาง พี่อ่านแล้ว เราต้องลองใช้ระบบสำรองในการการแลนดิ้งเกียร์ วิทย์กางเกียร์แบบวิธีปกติอีกรอบครับ”

วิทย์เอื้อมมือไปดึงแลนดิ้งเกียร์เลเวอร์ลงอีกครั้ง เสียงเกียร์กางเหมือนเดิม วิทย์จ้องมองที่จอ EICAS ตาแทบไม่กระพริบ มันกางออกมาแต่ไม่หมดเหมือนเดิม ล้อด้านขวายังไม่กาง

“พี่ภูมิครับ มันยังเหมือนเดิมพี่ กางไม่ครบ”
“ไม่เป็นไร วิทย์มองหาสวิตช์อัลเตอร์เนตเกียร์ (Alternate Gear) ที่อยู่ข้างๆแลนดิ้งเกียร์เลเวอร์ มันมีการ์ด (Guard) สีดำครอบไว้อยู่ เปิดมันออกมา แล้วกดสวิตช์ลงมาด้านล่าง กดค้างไว้จนกว่าเกียร์จะกางออกนะ ทำเลยครับ”

“แล้วครับผม เฮ้ ล้อขวามันกางเป็นสีเขียวแล้วพี่ สุดยอดเลย” วิทย์ดีใจสุดๆ
“ ได้ผลแฮะ เอาหล่ะ ทีนี้เราจะออกจากวงโฮลด์ (Holding pattern)กัน วิทย์กดปุ่ม HDG SEL แล้ว Set heading 340 ครับ” ภูมิเริ่มมั่นใจว่าวิทย์ต้องทำสำเร็จแน่นอน 

เครื่องบินเปลี่ยนทิศทางเพื่อกลับไปลงจอดอีกครั้ง วิทย์เริ่มคล่องขึ้นกับคำสั่งของภูมิ 
“ วิทย์ครับ เซ็ทความสูง4500 ฟุต แล้วกดปุ่ม LVL CHG ครับผม” 
“ ครับพี่ เรียบร้อยครับ เครื่องกำลังดีเซนด์ลงไป” 

เครื่องบินหันหัวไปเพื่อเข้าสู่ไฟนอลคอร์ส ( Final course) รันเวย์ 25ขวา อีกครั้ง วิทย์กดปุ่ม APP เหมือนเดิมเพื่อให้เครื่องบินอินเตอร์เซฟไฟนอลคอร์ส 
“ เครื่องเลี้ยวเข้าไฟนอลแล้วครับ ผมมองเห็นไฟรันเวย์แล้ว ทำยังงัยต่อครับพี่” 
“วิทย์บอกเพอร์เซอร์ให้เตรียมตัวลงจอดฉุกเฉินด้วยครับ” ภูมินึกขึ้นมาได้
“ ผมบอกไปแล้วครับพี่ เพอร์เซอร์รับทราบแล้ว”
“เยี่ยมครับวิทย์ เรากางแลนดิ้งเกียร์ไปแล้ว เครื่องอยู่บนไกลด์สโลป(Glideslope)หรือยังครับ?” 
“แล้วครับพี่ มันเปลี่ยนเป็น GS แล้ว เครื่องเริ่มร่อนลงต่อครับพี่” วิทย์รายงานต่อ
“ วิทย์เซ็ทความสูงห้าพันฟุตเลยครับ เผื่อต้องยกเลิกการลงจอดอีก แล้วดึงแฟล๊ปออกมาที่ตำแหน่ง 20 ครับ” 
“ครับผม เซ็ทความสูงห้าพัน กางแฟล๊ปยี่สิบ ลดความเร็วด้วยใช่มั๊ยครับ?”วิทย์คอนเฟิร์ม
“ใช่แล้ววิทย์ เซ็ทมาที่ความเร็ว 150 น๊อตครับ แล้วดึงแฟล๊ปมาที่ตำแหน่ง 30 ต่อเลยครับ”
“โอเคครับพี่ แฟล๊ปสามสิบ สปีดเท่าไหร่ครับ?”
“Set speed 140 ครับ ทีนี้เราพร้อมทำการลงจอดแบบอัตโนมัตินะครับ” ภูมิหมายถึง AUTOLAND หรือ Automatic landing ที่เครื่องบินจะลงจอดบนพื้นรันเวย์เอง นักบินมีหน้าที่แค่ปลดระบบออโต้ไพล๊อตเมื่อเครื่องบินชะลอความเร็วลงไปแล้วบนรันเวย์

“ ลืมไปเลย วิทย์เห็นสวิตช์ออโต้เบรค(Autobrake)ที่อยู่ใกล้ๆแลนดิ้งเกียร์เลเวอร์มั๊ยครับ หมุนมันไปที่ตำแหน่ง 3 เลย”  ภูมิหมายถึงระบบเบรคอัตโนมัติ ที่จะเบรคเองเมื่อเครื่องบินแตะพื้น นักบินเพียงแค่มอนิเตอร์ว่ามันทำงานหรือไม่ พอความเร็วลดลงพอที่จะควบคุมเครื่องบินเพื่อแท๊กซี่(Taxi) ไปบนรันเวย์และแท๊กซี่เวย์ ถึงค่อยปลดออโต้เบรคออก

“ครับพี่ เซ็ทแล้วครับ ตำแหน่งสาม”
“ดีมากครับวิทย์ ทีนี้เราแค่เฝ้ามองมันลงจอดเอง หน้าที่ของวิทย์หลังจากเครื่องสัมผัสพื้นคือ ดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์(Thrust reversers)ที่เป็นก้านสองอันบนตัวทรัสต์เลเวอร์(Thrust levers) ทั้งคู่มาด้านหลังให้สุดเลย ลองจับดูก่อนนะครับ แต่อย่าดึงตอนนี้นะครับวิทย์”  ทรัสต์รีเวอร์เซอร์คือการทำให้เครื่องยนต์ของเครื่องบินเปลี่ยนทิศทางของแรงขับไปในทิศตรงข้าม ช่วยเพิ่มแรงต้านขณะลงจอดเพื่อเสริมประสิทธิภาพการจอดของระบบเบรคอีกที 

“รับทราบครับ ผมจะต้องดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์เมื่อเครื่องบินแตะพื้น ถูกต้องนะครับ” วิทย์ทวนคำสั่ง
“ใช่แล้ววิทย์ มันมีสองจังหวะ จังหวะแรกมันจะแค่เปิดออก จังหวะที่สองเมื่อเราดึงมันต่อไปด้านหลังจนสุด เครื่องยนต์จะเร่งในทิศทางตรงข้าม ช่วยให้จอดได้เร็วขึ้น เข้าใจนะ” 
“ครับพี่ ผมหวังว่าจะทำได้อย่างที่พี่บอกครับ” วิทย์ออกตัวไว้ก่อน 
“วิทย์ทำได้ พี่เชื่อมั่นในตัวน้องเต็มที่ สู้นะ” ภูมิให้กำลังใจ
“ครับพี่ เต็มที่ครับ”

เครื่องบินค่อยๆลดความสูงลงไปเรื่อยๆ วิทย์เริ่มเห็นพื้นดินชัดขึ้น แสงไฟรันเวย์สว่างจ้ารอรับการลงจอดจนเขาต้องหรี่ตาลง เสียงเครื่องยนต์แผ่วเบาลงจากเดิม วิทย์ได้ยินเสียงเพอร์เซอร์ประกาศผู้โดยสารอย่างชัดเจน 

“เบรซ เบรซ เบรซ ” เสียงตะโกนออกมาจากลูกเรือ คำว่าเบรซ (Brace) หมายถึง คำสั่งจากลูกเรือหรือนักบินให้ผู้โดยสารและลูกเรือเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกระหว่างลงจอดที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นเอง

วิทย์กลั้นหายใจอย่างไม่รู้ตัว ภาพที่เห็นด้านหน้าของเขาเริ่มเบลอ ความกลัวทำให้ตัวของเขาเกร็งและชาไปหมดระหว่างที่เครื่องกำลังสัมผัสพื้น

“ ฟิฟตี้ โฟร์ตี้ เทอร์ตี้ ทเวนตี้ เทน.....” เสียงขานอัตโมมัติบอกให้รู้ว่าอีกกี่ฟุตล้อเครื่องบินจะสัมผัสพื้น
.
.
.
.
.
.
.

เครื่องบินแตะพื้นอย่างนุ่มนวล วิทย์เริ่มดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์ทันที เขารู้สึกถึงการเบรคของระบบอัตโนมัติ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นเมื่อวิทย์ดึงทรัสต์รีเวอร์เซอร์ไปด้านหลังสุด 

“ ดึงสปีดเบรคมาหลังสุดครับ ดึงเลย ดึงเลย” เสียงภูมิตะโกนใส่ไมค์จนวิทย์ตกใจ เขาเริ่มดึงสปีดเบรคทันที เครื่องบินกระตุกจนรู้สึกได้ 
.
.
.

“เครื่องกำลังจะหยุด  เก็บทรัสต์รีเวอร์เซอร์ลงไปครับ เก็บทรัสต์รีเวอร์เซอร์ลงไป” ภูมิสั่งการทันทีที่เห็นเครื่องบินเริ่มจะหยุด  วิทย์ทำตามที่ภูมิสั่งการ

“วิทย์ครับ กดปุ่มออโตไพล๊อตดิสคอนเนคต์(Autopilot disconnect)ที่อยู่บนก้านคอนโทรลคอลัมน์ด้านซ้ายครับ มันอยู่ตรงนิ้วโป้งที่เรากำลังจับมันอยู่นะ กดสองครั้งนะครับ ต้องปลดระบบออโต้ไพล๊อตออกก่อน” 
“ครับพี่ เจอแล้ว กดสองครั้ง เรียบร้อยครับ” วิทย์ทำได้อย่างรวดเร็ว

“ถ้าเครื่องหยุดสนิทแล้ว วิทย์ดึงปาร์คกิ้งเบรคขึ้นมาครับ ก่อนอื่นวิทย์ต้องใช้เท้าทั้งสองข้างกดลงไปที่ด้านบนของรัดเดอร์เพดัล(Rudder Pedal)และกดค้างเอาไว้ก่อน ถึงจะดึงปาร์คกิ้งเบรคได้นะครับ” ภูมิอธิบายละเอียด รัดเดอร์เพดัล คือคันบังคับที่เท้าทั้งสองข้าง มีไว้ถีบให้ล้อหน้าของเครื่องบินเลี้ยวซ้ายขวาได้ระหว่างที่อยู่บนพื้นและช่วยเสริมการเลี้ยวบนอากาศ ส่วนบนของรัดเดอร์เพดัลเป็นส่วนของเบรคเท้า ซึ่งแบ่งออกเป็นสองข้างคือเบรคของล้อซ้ายและล้อขวา ส่วนล้อหน้าไม่มีระบบเบรค

“รับทราบครับ ตอนนี้เครื่องหยุดแล้ว ผมใช้เท้ากดลงไปด้านบน แล้วดึงปาร์คกิ้งเบรค ได้แล้วครับพี่”

“ดีมากครับ ดูจากหอบังคับการบินนี่ เครื่องบินดูปกติดี ไม่มีควันไฟออกมาตอนนี้ วิทย์ครับ ดับเครื่องยนต์ทั้งสองข้างด้วยครับ เห็นฟิวคอนโทรลสวิตช์ (Fuel Control Switch)ทั้งสองอันที่อยู่ด้านล่างของทรัสต์เลเวอร์มั๊ย ดึงสวิตช์ทั้งคู่ลงมาที่ตำแหน่งคัทออฟ(Cutoff)นะ เครื่องยนต์จะดับเอง เห็นมั๊ย?” ภูมิสั่งการต่อไป

“ครับพี่ เห็นแล้วครับ ดึงมันลงมาแล้วครับ” วิทย์ถอนหายใจอย่างแรงด้วยความโล่งอก เสียงปรบมือดังสนั่นมาจากด้านหลังของเขา ผู้โดยสารทั้งลำและลูกเรือส่งเสียงร้องดีใจที่รอดตายในวันนี้

“คุณวิทย์ครับ เราจะต้องอีแวคมั๊ย?” เพอร์เซอร์แอนวิ่งเข้ามาถาม

อีแวค หรืออีแวคคูเอท( Evacuate)คือ การอพยพผู้โดยสารให้ออกทางประตูทางออกฉุกเฉินในกรณีที่นักบินเห็นว่าจะไม่ปลอดภัยหากให้ผู้โดยสารออกจากเครื่องโดยวิธีปกติ

“สักครู่ครับ ผมถามกัปตันภูมิก่อน พี่ภูมิครับ เราต้องอีแวคมั๊ยพี่?” วิทย์ถามทันที

ยังไม่ทันจะได้คำตอบจากภูมิ วิทย์ได้ยินเสียงผู้โดยสารตะโกนโหวกเหวกมาจากด้านหลัง ตามมาด้วยความโกลาหลของผู้โดยสารที่ไม่สามารถควบคุมได้


“ไฟไหม้ ไฟไหม้ ควันออกมาจากใต้ปีกด้านซ้าย แย่แล้ว แย่แล้ว !!!” 

 @@@@@@@@

ซีซีหมวกเจ๊ก (โปรดติดตามตอนต่อไป)


ภาพประกอบจาก www.jdtllc.com

โลว์คอสต์... ไฮโวลุ่ม


โลว์คอสต์... ไฮโวลุ่ม

ในยามที่เศรษฐกิจโลกตกสะเก็ด ฝืดเคืองกันไปหมดในรอบหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีข่าวดีอยู่บ้างเรื่องราคาน้ำมันในตอนนี้ที่ลดฮวบฮาบ แต่ค่าอาหารระดับคลาสสิคทั้งหลายแหล่อย่างเช่นกะเพราะไก่ไข่ดาว ของโปรดของผมที่ขึ้นเอาๆไม่ยักกะลงไปเหมือนที่ขึ้นมาเรื่อยๆเพราะอ้างว่าน้ำมันกับแก๊สมันแพง อย่างนี้มันเรียกว่า เตะหมูเข้าปากหมาไปแล้ว คงยากที่จะง้างปากมันเพื่อเอาคืนบ้าง

การเดินทางด้วยเครื่องบิน เริ่มป๊อปปูล่าร์ขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสะดวกสบายในการเดินทางที่เวลาสั้นลงมากถ้านับเฉพาะชั่วโมงบิน อย่าไปนับตอนนั่งรถแท๊กซี่จากบ้านไปสนามบินสุวรรณภูมิที่มีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์อันน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง หรือตอนที่ต้องขับรถไปหาที่จอดที่สนามบินดอนเมือง ที่จอดรถหายากยิ่งกว่าทอง แถมยังต้องล๊อคพื้นที่จอดรถไว้ให้ท่านผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งนะจ๊ะ

กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ตอนนี้เรื่องราวเกี่ยวกับโลวคอสต์กำลังอินเทรนด์เพราะเจ้าของรถทัวร์ท่านบอกว่าลูกค้าหายไปเยอะ จะอยู่กันไม่รอด ขอร้องให้ช่วยไปควบคุมการกำหนดราคาสายการบินโลวคอสต์ได้หรือไม่ กลายเป็นมหากาพย์ระดับชาติ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ท่านที่เชียร์สายการบินโลว์คอสต์ต่างให้ความเห็นเสียดสีคุณเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสาร หาว่าไม่กลับไปดูต้นทุนของรถทัวร์บ้างหล่ะว่าทำไมทำอย่างสายการบินไม่ได้ ราคาตั๋วเครื่องบินตอนนี้บางสายการบิน และก็มีไม่กี่ที่นั่ง ลงโฆษณาค่าตั๋วที่ถูกกว่าเดินทางโดยรถทัวร์ซะอีก ในขณะที่ฟากกองเชียร์ท่านรัฐมนตรีก็ออกมาบอกว่า สายการบินโลว์คอสต์หน่ะมันต้มตุ๋นฮั้วกันตัดราคา ตั๋วเครื่องบินราคาที่ว่าถูกแสนถูกนี่มันยังไม่ได้รวมเบี้ยบ้ายรายทางจิปาถะ ไหนจะค่าประกันการเดินทาง ไหนจะค่าโหลดกระเป๋าในกรณีที่ขนไปเกินน้ำหนักที่อนุญาติ และอื่นๆอีก เถียงกันไม่จบในชาตินี้ถ้าไม่พูดความจริงกันทั้งสองฝ่าย 

ว่าไปแล้ว การเดินทางโดยเครื่องบินที่มากขึ้นเป็นลำดับ มันเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยด้วยกันเริ่มหาข้อมูลกันได้เองไม่ต้องง้อเอเจนซี่ขายตั๋วเหมือนสมัยก่อน เดี๋ยวนี้มีสมาร์ตโฟน ไอแพดหรือโน๊ตบุ๊คสักตัว นำติดตัวเดินทางไปด้วยได้ตลอด อยากรู้อะไรก็ต่อไวไฟหาข้อมูลได้ดั่งใจนึก ไม่เหมือนรุ่นป้ารุ่นลุงที่เวลาอยากได้ข้อมูลต้องใช้หนังสือแนะนำ หรือต้องโทรถามการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือแม้กระทั่งต้องถามไถ่คนที่เคยใช้บริการ ค่าใช้จ่ายเวลาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จะถูกมากติดอันดับโลกอยู่หลายเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักเดินทางแบ๊คแพคเกอร์อยากจะมาลิ้มรสผลไม้ไทย ไปชิลล์ๆตามชายหาด หรือแม้กระทั่งปั่นจักรยานที่ค่าเช่าแค่ไม่ถึงร้อยบาทเพื่อเที่ยวชมเมือง เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้นักธุรกิจสายการบินหันมาแย่งเค๊กก้อนนี้กัน แน่นอนว่านักท่องเที่ยวโลว์คอสต์คงจะไม่ต้องการจ่ายค่าตั๋วแพงเพื่อเดินทางเพราะต้องเก็บงบประมาณเอาไว้ ดังนั้นการมองหาตั๋วราคาถูกในโลกออนไลน์จึงเป็นอะไรที่ธรรมดามาก สายการบินโลว์คอสต์ไหนทำตลาดอย่างนี้เก่ง ก็คงกวาดลูกค้าได้เยอะ

โลว์คอสต์ ชื่อก็บอกอยู่แล้ว เค้าบริการท่านตามอัตภาพ ที่นั่งก็พอนั่งให้อึดอัดเล็กน้อยสำหรับคนตัวอวบๆและขี้รำคาญ เรื่องอาหารการกินอย่าไปหวัง น้ำดื่มก็ไม่มีนะในบางสายการบิน ถ้าอยากจะดื่มต้องจ่ายเงินซื้อ คนที่ขึ้นเครื่องบินบ่อยๆเค้าใช้วิธีไปซื้อน้ำในเทอร์มินอลหรือดื่มไปก่อนขึ้นเครื่อง ถ้านั่งใกล้ๆแค่หนึ่งชั่วโมงคงไม่ถึงกับคอแห้งจนอยู่ไม่ได้ อีกอย่างนึงไม่ต้องลุกไปฉี่ด้วย กระเป๋าสัมภาระก็หนีบขึ้นเครื่องกันไปเหมือนรถเข็นผัก ไม่อยากโหลดใต้ท้องเครื่องเพราะขี้เกียจรอกระเป๋าตอนลงจากเครื่อง สรุปง่ายๆคือทนเอา เพื่อประหยัดเงินเอาไว้ลั้ลลาที่จุดหมายปลายทางตามฐานะของแต่ละคน

เวลาที่สายการบินจะเปิดเส้นทางบินใหม่หรือจะเพิ่มความถี่เที่ยวบิน จะต้องวิเคราะห์ความต้องการก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน อยู่ดีๆคงไม่มโนเอาเองว่าเปิดแล้วจะมีคนมาซื้อตั๋วเราเพราะของเรามันดี ตั๋วเครื่องบินมันไม่เหมือนกระเป๋าหลุยส์ที่แบบว่าซื้อเพราะภูมิใจที่ได้ใช้มัน คนเรามันจะต้องการเดินทางจึงจะซื้อตั๋ว ดังนั้นจะไปเปิดเส้นทางสุ่มสี่สุ่มห้าแบบขอไปก่อนเผื่ออนาคตมันจะดีก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าของสายการบินไหนคิดได้อย่างนี้ก็คงต้องรอวันเจ๊ง 

ปัจจัยสำคัญของการเดินทางของนักท่องเที่ยวแบบโลว์คอสต์คือ ค่าครองชีพของเมืองที่จะไป ลองมาดูกันเล่นๆนะครับว่า เมืองไหนบ้างในย่านอาเซียนที่มีค่าครองชีพถูกแสนถูกจนน่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวประเภทแบ๊คแพ๊คให้ไปนั่งเล่นนอนเล่นกันสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ไล่จากถูกไปหาแพงทั้งสิ้นสิบอันดับ โดยการรวบรวมข้อมูลของ www.priceoftravel.com คิดทุกอย่างจากการใช้จ่ายแบบมินิมอลแต่ก็ครอบคลุมความจำเป็นของชีวิตทุกอย่าง ประมาณนั่งรถเมล์ไปเที่ยวสถานที่ป๊อปปูลาร์ของเมืองนั้น ทานอาหารท้องถิ่น นอนโรงแรมระดับสามดาวที่อยู่ใกล้ย่านท่องเที่ยวยอดนิยม แถมยังรวมค่าเบียร์ยี่ห้อโลคอลอีกสองกระป๋องด้วยนะจ๊ะ 

1.ฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม นำมาเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 17.42 USD ต่อวัน

2.โฮจิมินห์ซิตี้ หรือไซง่อน ประเทศเวียดนาม ตามมาติดๆเป็นอันดับสองด้วยค่าใช้จ่าย 17.74 ยูเอสดอลล่าร์

3.เชียงใหม่ ไทยแลนด์ ช่วยกู้ชื่อช้างศึกเอาไว้ด้วยค่าใช้จ่าย 19.85 USD ต่อวัน

4.เวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว วัฒนธรรมที่น่าสนใจ อารมณ์ท่องเที่ยวประมาณอยู่ในเมืองเล็กๆในต่างจังหวัดของบ้านเรา ผมชอบเวียงจันทน์มากโดยเฉพาะเบียร์ลาวที่รสชาตินุ่มลิ้นปนน่ารักแบบสาวเวียงจันทน์ ตามเชียงใหม่มาเป็นอันดับสี่ ด้วยค่าใช้จ่าย 20.22 USD

5.หลวงพระบาง อดีตเมืองหลวงเก่าของประเทศลาว อากาศเย็นสบายในเกือบทุกฤดูกาล โรงแรมค่อนข้างแพง จึงควรใช้บริการโฮสเตลมากกว่าถ้าอยากประหยัด มาเป็นอันดับห้าด้วยค่าใช้จ่าย 23.51 USD ต่อวัน

6.พนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา มีดีตรงเบียร์ไม่อั้นช่วงแฮปปี้อาวร์ตามร้านอาหารริมแม่น้ำ รวมไปถึงวัฒนธรรมและด้วยความที่เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเดินทางไปเที่ยวเสียมเรียบที่มีปราสาทนครวัด จึงมีนักท่องเที่ยวแวะมานอนเล่นกันมากพอควร มาเป็นอันดับที่หก ด้วยค่าใช้จ่ายที่ 23.75 USD

7.ฮอยอัน เวียดนาม เมืองชายทะเลที่สวยงามที่อยู่ทางใต้ของเมืองดานัง มีหมู่บ้านชาวประมงแบบจีนๆที่เค้ารักษาเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาเดินเล่นจิบเบียร์เย็นๆกันยามเย็น มีค่าใช้จ่ายต่อวันที่ 23.83 USD

8.กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมร สมเป็นนครแดนฟ้าราตรี ไม่ต้องอธิบายคุณสมบัติก็คงทราบดีว่าจ๊าบขนาดไหน  เป็นสถานที่ที่นักเดินทางแบ๊คแพคหลงไหลได้ปลื้มว่าต้องมาให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต จริงๆแล้วค่าครองชีพจะถูกกว่านี้ถ้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่แพง พวกขาเมาเลยเซ็งนิดนึงตรงนี้ กรุงเทพเข้ามาเป็นที่แปดในย่านอาเซียน ด้วยค่าครองชีพเฉลี่ย 24.83 USD

9.จาการ์ต้า อินโดนีเซีย เมืองหลวงใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ใครอยากมาเที่ยวอินโดนีเซีย ถ้าไม่สนใจบาหลีก็จะมาเริ่มต้นที่นี่ทั้งนั้น มีทุกอย่างที่คุณต้องการในราคาถูกเป็นอันดับที่เก้าในย่านอาเซียน สนนราคาค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 26.84 USD ต่อวันเท่านั้น

10.มะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศที่ถูกหวยเรื่องพายุไต้ฝุ่นได้ทุกปี มาเป็นอันดับที่สิบ ด้วยค่าใช้จ่าย 27.49 USD ต่อวัน

ถ้าปัจจัยค่าใช้จ่ายจะเป็นแฟคเตอร์สำคัญในการเดินทางของแบ๊คแพ๊คเกอร์ ก็เชื่อได้ว่าเที่ยวบินจากทุกมุมโลกคงจะหันหัวเครื่องบินไปลงเวียดนามเยอะขึ้นแน่ๆในอนาคต อันนี้คงต้องเป็นการบ้านให้โลว์คอสต์แอร์ไลนส์บ้านเราได้ขบคิดกันว่าจะมีกลเม็ดเด็ดพรายอะไรไปสู้กับสายการบินเพื่อนบ้านของเราเพื่อแบ่งเค้กก้อนโตในอนาคตที่กำลังจะมาถึง
---------------------

ภาพประกอบจาก
ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบินและนักบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com




17 มกราคม 2558

Amoeba Management ตอนที่สอง

Amoeba Management  ตอนที่สอง

Masaru Onishi, Chairman of Japan Airlines Co.Ltd.(JAL)

ในตอนที่แล้ว ผมได้นำเอาบทความของคุณ มาซารุ โอนิชิ ประธานคณะกรรมการบริษัทแจแปนแอร์ไลนส์ หรือ JAL มานำเสนอ เกี่ยวกับปัญหาขององค์กรที่กำลังจะล้มละลายและสามารถฟื้นกลับมาใหม่ได้ ส่วนหนึ่งจากแรงบันดาลใจของท่านประธานคนก่อนคือคุณคาซูโอะ อินาโมริ ผู้ซึ่งมีอาวุโสกว่า และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเคียวเซร่าและ บริษัท KDDI ของประเทศญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและวิธีการทำงานของพนักงานองค์กรเก่าแก่ที่มีความเป็น Bureaucracy สูงตามสไตล์ญี่ปุ่นรุ่นเก่า เป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก ทั้งท่านประธานอินาโมริและคุณคาซูโอะ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอในช่วงนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาองค์กร ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัท ลดค่าใช้จ่ายลงจำนวนมาก ทั้งในส่วนของค่าจ้างพนักงาน ลดจำนวนฝูงบินที่มีมากแบบเกินไป ปรับเปลี่ยนเส้นทางบินและปิดสถานีปลายทางลงไป และพยายามลดขนาดองค์กรนี้ลงเหลือเพียงแค่สองในสามจากแต่ก่อน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมากเพราะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานของJAL ที่จะต้องถูกลดจำนวนลงและปรับลดค่าตอบแทนลงไป หลังจากได้แก้ไขในส่วนของค่าใช้จ่ายลงไปแล้ว แต่ในส่วนของจิตใจและขวัญของพนักงานก็สำคัญเช่นกัน เรามาดูว่า คุณมาซารุ โอนิชิ ได้ผลักดันความคิดของท่านประธานอินาโมริ ให้กลายเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และนี่คือบทความของเขาในตอนสุดท้ายครับ

@@@@@@@@@@


การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพนักงานเกิดขึ้นได้เพราะโปรแกรมอบรมผู้บริหารและปรัชญาใหม่ของบริษัทที่เราพยายามนำเสนอ ในอดีตเราเคยพยายามเปลี่ยนทัศนคติของพนักงาน JAL มาก่อนแล้ว เรามุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารภายในองค์กร และเราได้นำเอาวิธีการแบบไคเซน (Kaizen) ของโตโยต้ามาปฏิบัติตาม อย่างไรก็ดี ความพยายามของเราไม่สม่ำเสมอและทำได้ไม่ต่อเนื่อง

ผมคิดว่า เราอาจจะคิดว่าทุกอย่างมันง่าย เราคิดว่าที่ทำงานของพวกเราจะมีชีวิตชีวาขึ้นหากพนักงานรุ่นหนุ่มสาวได้โอกาสแสดงออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มันไม่พอที่จะพัฒนาเรื่องเหล่านี้ให้ต่อเนื่องและไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายออกไปของแนวคิดดังกล่าว ในขณะที่เรามีอิสระในฐานะองค์กรแห่งหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่เพียงพอสำหรับ JAL

ถ้าทัศนคติจะเปลี่ยนได้ มันต้องเริ่มตั้งแต่พนักงานระดับบน ดังนั้นการให้ความรู้แก่พนักงานระดับบริหารจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง

เราได้เริ่มโปรแกรมอบรมพนักงานระดับบริหารภายในห้าเดือนนับจากเริ่มประกาศแก้ไขภาวะล้มละลาย หลายเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จ รวมไปถึงการสร้างแผนการจัดองค์กรใหม่ เราทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงโครงสร้างของบริษัทไม่สามารถทำให้บริษัทดีขึ้นได้ทันที มันจะต้องเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของพนักงานด้วยจึงจะสำเร็จ โชคชะตะของบริษัทขึ้นอยู่กับเราสามารถเริ่มโปรแกรมอบรมพนักงานระดับบริหารได้รวดเร็วขนาดไหน ผลปรากฏว่าเราทำให้มันเกิดขึ้นได้เร็วอย่างน่าประหลาดใจแม้กระทั่งตัวผมเอง

เราได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากบริษัทเคียวเซร่า เราไม่มีโนว์ฮาวเกี่ยวกับการจัดโปรแกรมอบรมเลย และเราแทบจะไม่เคยจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของเราเอง อย่างไรก็ดี เราสามารถจัดคอร์สอบรม 17 วันสำหรับพนักงานของเราจำนวน 52 ท่านรวมไปถึงผู้บริหารหน่วยระดับผู้จัดการแผนกที่สำคัญๆด้วย

แรกๆ เรากังวลว่าบรรดาพนักงานจะยอมเข้าร่วมอบรมอย่างจริงจังหรือไม่ แต่ในที่สุด ทุกคนตั้งใจเข้ารับการอบรมอย่างดี ผมเชื่อว่า JAL ในวันนี้จะยังคงอยู่รอดต่อไปไม่ได้หากเราไม่สามารถเริ่มโปรแกรมอบรม 17 วันดังกล่าว มีผู้จัดการแผนกอีกหลายท่านขอเข้าร่วมอบรมอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จในการให้ความรู้พนักงานระดับบริหารทำให้ผมเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรมันเป็นไปได้

โปรแกรมอบรมที่กล่าวมาข้างต้นได้ถูกพัฒนาต่อไปจนเป็นโปรแกรมการอบรมพนักงานทุกท่านที่มีตำแหน่งในการบริหาร มีพนักงานผ่านการอบรมไปแล้วมากกว่า 3000 คนภายในสองปีครึ่งที่ผ่านมา และเพื่อพัฒนาต่อไป ผมต้องการให้มีการจัดอบรมพนักงานระดับหัวหน้างานทั้งหมดด้วย ผมเชื่อว่าพนักงานที่มีหน้าที่สั่งการลูกน้องจำนวนห้าถึงหกคนทำงานในตอนเช้าของทุกวันทำงานเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร สิ่งที่พวกเขาได้บอกกล่าวแก่ลูกทีมในตอนเช้าของทุกวันจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งองค์กร ดังนั้นผมจึงอยากจะขยายโปรแกรมอบรมให้ครอบคลุมไปถึงพนักงานระดับหัวหน้ากลุ่มงานด้วย

นอกจากโปรแกรมอบรมดังกล่าวแล้ว เราได้เปิดอบรมพนักงานทุกๆสามเดือน มันเป็นการนำเอาพนักงานต่างหน่วยงานมาเรียนรู้และอบรมร่วมกัน ในรายละเอียดของโปรแกรมจะเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองต่อกลุ่มและอธิบายว่าตัวเขานั้นทำงานอะไรให้บริษัท

JAL ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานและมีประเภทของงานที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น หน่วยงานที่เตรียมอาหารสำหรับผู้โดยสาร หน่วยงานขนส่งกระเป๋าสัมภาระ หน่วยงานซ่อมบำรุง ส่วนของนักบินและลูกเรือ อย่างไรก็ตาม งานดังกล่าวต้องใช้ความชำนาญที่แตกต่างกัน พนักงานแต่ละหน่วยจึงไม่ค่อยที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานของหน่วยอื่น เราต้องการให้แชร์ความรู้และความเข้าใจระหว่างพนักงานด้วยกัน เมื่อเริ่มต้นโปรแกรมนี้ พนักงานที่เข้ารับการอบรมบางคนมักจะพูดโดยใช้คำศัพท์เฉพาะที่เข้าใจเฉพาะคนในหน่วยงานของตนเองเท่านั้น ทำให้พนักงานจากหน่วยอื่นไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารออกไป แต่เดี๋ยวนี้พนักงานต่างหน่วยเริ่มจะเข้าใจการทำงานของต่างหน่วยมากขึ้น เป็นเพราะการเข้าร่วมอบรมในโปรแกรมนี้นั่นเอง

ปัญหาองค์กรของเรามันคือ การร่วมกันทำงานได้ไม่ราบรื่น และขาดซึ่งเอกภาพ เพราะการที่มีพนักงานที่มีความแตกต่างในเนื้อหาของงานมาอยู่ร่วมกัน แต่ละคนพยายามที่จะอ้างตำราของตนเพื่อทำให้งานของตนดูมีหลักการน่าเชื่อถือ คำพูดที่ว่า “ฉันพูดตามตำราเลยนะ” ถูกใช้บ่อยครั้งโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อลูกค้าของเรา ทุกคนพูดอย่างนี้เพื่อปกป้องตัวเอง แต่มันกำลังจะเปลี่ยนไปแล้วในตอนนี้

ในขณะที่เราดำเนินการอบรมพนักงานอย่างต่อเนื่อง เราก็ได้พัฒนาปรัชญาของพนักงาน JAL ไปพร้อมๆกัน เพื่อให้กระจายเข้าไปสู่พนักงานทั้งองค์กร เราได้ยินเสียงบ่นจากบางคนในช่วงแรกว่า  “ เหมือนกับว่าบริษัทกำลังพยายามทำอะไรใหม่อีกแล้ว ขอฉันพักบ้างเถอะน่า!” ความพยายามของพวกเราจะไม่มีค่าเลยหากเราไม่สามารถแก้ไขทัศนคติแย่ๆอย่างนั้นให้หมดไปจากองค์กรและสร้างบางอย่างที่ดีกว่าเข้ามาทดแทน ผมคิดว่าทีมงานที่ผมแต่งตั้งเพื่อผลักดันโปรแกรมอบรมและปรัชญาของบริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างมาก หนังสือเล่มเล็กๆที่มีเนื้อหาสำคัญอยู่ 40 หัวข้อที่ต้องการถ่ายทอดไปยังพนักงานถูกตีพิมพ์เพื่อเตรียมแจกพนักงาน และผมทราบว่าทีมงานของผมไม่ได้พักผ่อนในวันหยุดของพวกเขาเลยเพราะต้องการทำหนังสือดังกล่าวให้เสร็จภายในห้าเดือน

สิ่งเหล่านี้คือความพยายามที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาในอดีต บรรดาผู้บริหารรุ่นเก่าจะใช้วิธีการสั่งการพนักงานแล้วแจ้งให้พนักงานทราบเท่านั้น เขาจะบอกลูกน้องว่า  “ เอาเอกสารนี้ไปอ่าน แล้วทำตามนี้นะ” เราได้เปลี่ยนแปลงมันแล้วในตอนนี้ ด้วยการสอบถามพนักงานในแต่ละหน่วยว่าพวกเขาคิดอย่างไรและสะท้อนความเห็นของพวกเขาลงไปในแนวการทำงานด้วย

เจ้าหน้าที่บริหารในแต่ละหน่วยได้คิดวิธีการที่จะทำให้หนังสือเล่มเล็กๆที่เป็นเหมือนคัมภีร์แจกพนักงานฉบับนี้ให้ได้ผลสำเร็จจริง ดังนั้นจึงไม่เพียงแค่ตีพิมพ์แล้วแจกจ่าย พวกเขาให้ความสำคัญต่อหนังสือเล่มนี้โดยการมอบให้พนักงานตัวต่อตัวในพิธีปิดการอบรมแต่ละครั้งและพูดกับพวกเขาว่า “ ฉันต้องการแบ่งปันสิ่งนี้กับคุณ” มันได้ผลจริงๆที่ใช้วิธีนี้ และผมเชื่อว่ามีส่วนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ทัศนคติของพนักงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดจากผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้น แม้แต่เหล่านักบินซึ่งมีหลายคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับบริษัท ก็ยังเปลี่ยนแปลงไป จากที่ไม่เคยสนใจเรื่องค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเลย ก็กลับมาพยายามกันมากขึ้นเพื่อจะลดการใช้น้ำมันอย่างไม่จำเป็นลงไป

ความแตกต่างเห็นได้ชัดเจนจากการประกาศต้อนรับและให้ข้อมูลแก่ผู้โดยสารของเราโดยนักบิน แต่ก่อนนี้จะประกาศเป็นรูปแบบอย่างพื้นๆ เดี๋ยวนี้นักบินพยายามพัฒนาการสื่อสารและให้ข้อมูลกับผู้โดยสารได้ดีขึ้นและเป็นกันเอง 

ผมมีความรู้สึกว่า JAL ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก จึงหวังว่าลูกค้าที่เคยผิดหวังกับการให้บริการของพวกเราในอดีตจะให้โอกาสพวกเราได้กลับมารับใช้ท่านอีกครั้ง 


ส่วนเรื่องระบบบัญชีแบบแยกส่วนที่พยายามทำให้เกิดขึ้น เมื่อผมมองย้อนหลังกลับไปว่า JAL เคยเป็นองค์กรแบบไหนมาก่อน ผมมองเห็นว่าเราเป็นองค์กรแห่งผู้วิจารณ์อย่างไม่มีความรับผิดชอบ เราขาดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าขององค์กรและไม่มีความรู้เรื่องการสร้างผลกำไร เราไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับงบกำไรขาดทุนของบริษัท เราแค่สนใจว่าจะทำอย่างไรให้สามารถแบ่งงบประมาณจำนวนมากมาที่หน่วยงานของตน งบประมาณเป็นเพียงชัยชนะที่ได้มาจากการแย่งชิงกันเอง และเมื่อได้รับมาแล้ว เราก็พยายามเพียงที่จะใช้มันให้หมดโดยไม่ได้คิดถึงสถานะที่แท้จริงของบริษัทกันเลย มันอาจจะเป็นเพราะความหมายของมันนี่เองที่ทำให้เราคิดเพียงเท่านั้น ท่านประธานอินาโมริแนะนำผมให้เลิกใช้คำว่า”งบประมาณ”ในการพูดต่อพนักงานของเรา

ท่านประธานอินาโมริกล่าวว่า มันมีจิตวิญญาณอยู่ในคำพูด ดังนั้นคำพูดที่เราเลือกใช้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะมันจะมีผลต่อแนวความคิดของเราด้วย หากเราใช้คำว่า “งบประมาณ” มันจะหมายถึงการต้องช่วงชิงมันมาและใช้มันให้หมดไปให้ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลงความคิดที่ฝังรากลึกนี้ออกไปให้ได้ สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดเกี่ยวกับระบบบัญชีแยกส่วนก็คือเราได้เปลี่ยนแบบองค์กรและชี้ให้เห็นชัดเจนว่าใครกันบ้างในแต่ละหน่วยงานที่จะต้องรับผิดและรับชอบต่อรายรับและรายจ่ายของหน่วยงานตนเอง

ว่าไปแล้ว การทำให้ตัวเลขในงบกำไรขาดทุนถูกมองเห็นได้ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง สิ่งที่เราอยากได้จากระบบนี้คือเราได้สถาปนาบทบาทและความรับผิดชอบในแต่ละหน่วยงานขึ้นมา และทำให้พนักงานผู้ได้รับมอบหมายต้องรับผิดชอบเรื่องรายรับรายจ่ายร่วมไปด้วย ผมเชื่อว่าหากเราดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ จะไม่เพียงระดับบุคคลผู้ซึ่งดูแลเรื่องตัวเลขในบัญชีโดยตรงเท่านั้น แต่มันจะหมายถึงผู้ที่อยู่ในหน่วยย่อยต่างๆที่เราเรียกมันว่า Amoeba ก็จะรู้สึกร่วมรับผิดชอบต่อรายรับรายจ่าย และพยายามทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรที่วางเอาไว้

ในอีกมุมหนึ่ง ยังคงมีงานค้างอยู่อีกมากสำหรับพวกเรา ผมเชื่อว่าหากแต่ละคนคิดว่าจะต้องทำงานของตนในเวลาเพียงสองปีโดยมีชีวิตอยู่กับเป้าหมายที่วางไว้ มันก็จะสำเร็จได้ แต่มันจะมีความรู้สึกเหมือนอะดรินาลีนถูกขับออกมาเพราะต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้บริษัทอยู่รอดให้ได้ ผมเชื่อมั่นว่าเรายังขาดความแข็งแกร่งที่จะรักษาสิ่งที่เราได้ทำสำเร็จแล้วแม้ในยามสถานการณ์บริษัทยังคงดีอยู่ และยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำก่อนที่เราจะสามารถกลับมาสร้างผลกำไรได้เหมือนบริษัทเอกชนอื่นๆ เราจะยังคงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและขอให้ทุกท่านช่วยสนับสนุน JAL ต่อไปด้วยครับ

—————————————

ข้อมูลจาก   www.kcmc.co.jp

ภาพประกอบจาก www.bloomberg.com

ติดตามอ่าน “Amoeba Management  ตอนที่หนึ่ง”

และเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบินและนักบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

Survival (Episode Seven)


Survival (Episode Seven)

0410 น. (2010 UTC)

หอบังคับการบิน สนามบินเช๊คแล๊ปก๊อก ฮ่องกง

“ เขาจะไหวมั๊ยครับกัปตันภูมิ ?” คุณพิชิต ซีอีโอของกินรีแอร์ โทรมาสอบถามด้วยความกังวลในโชคชะตาของผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินที่กำลังพยายามลงจอดโดยผู้โดยสารที่เพียงแค่มีประสบการณ์บินเครื่องบินเล็กๆไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

“ผมจะพยายามให้ถึงที่สุดครับท่าน แต่ก็อยู่ที่น้องวิทย์คนที่กำลังควบคุมเครื่องบินอยู่ด้วย เราน่าจะโชคดีนะครับ ผมขออนุญาตเรียนท่านแค่นี้ก่อนนะครับ “ กัปตันภูมิรีบจบบทสนทนากับซีอีโอหนุ่มแห่งกินรี 

“ขอให้โชคดีนะครับกัปตัน ทุกคนฝากความหวังไว้ที่คุณ”พิชิตอวยพรมาตามสาย 

ภูมิกดปุ่มหยุดสนทนาบนมือถือของแดน เจ้าหน้าที่ของกินรีที่ยื่นมาให้คุยด้วยกับซีอีโอ แล้วกลับมาดูความเร็ว ความสูงและระยะทางจากเครื่องบินมาถึงสนามบิน ในจอเรดาร์มันบอกว่า เครื่องบินอยู่ห่างออกไปประมาณ 25 ไมล์ ด้วยความสูง10000 ฟุต และความเร็ว 250น๊อต เครื่องบินมันอยู่สูงไปเกินไป คงต้องบอกให้วิทย์แก้ไข 

“Kinny 10 จากฮ่องกง ได้ยินมั๊ยครับ?” 
“ได้ยินครับผม เครื่องบินมันเอียงไปมาครับ ควบคุมไม่อยู่ มันมีเสียงเตือนออกมาพร้อมกับไฟเตือนก่อนที่เครื่องบินมันจะเอียงไปมา ผมต้องจับคอนโทรลคอลัมน์เอาไว้หน่ะครับพี่ มันเป็นอะไรเหรอครับ” วิทย์รายงานปัญหาให้ภูมิต้องขบคิด
“ ผมคิดว่า ออโต้ไพล๊อต (Autopilot) น่าจะดิสคอนเนคต์(Disconnect) เองนะครับ วิทย์เห็นปุ่ม A/P บนแผงแกลร์ชิลด์ด้านหน้ามั๊ยครับ มันมีไฟติดมั๊ย?”
“ไฟไม่ติดครับพี่ ให้ผมกดปุ่มนี้ใช่มั๊ย?” วิทย์เดาไปตามที่เห็น พร้อมๆกับมือซ้ายที่ควบคุมคอนโทรลคอลัมน์อยู่ 
 “ใช่แล้วครับ ลองดูนะ” ภูมิโล่งอกที่วิทย์เข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายๆ
“โอเคแล้วครับ ตอนนี้ไฟที่ปุ่มA/P ติดแล้ว ผมปล่อยคันบังคับได้แล้วครับ เครื่องเริ่มนิ่งแล้ว”
“ดีมากครับ วิทย์ครับ ตอนนี้ความสูงของเครื่องบินจากพื้นมันเริ่มจะสูงเกินไปที่เราจะนำเครื่องลงจอดได้ ต้องรีบแก้ไขนะ วิทย์เห็นสปีดเบรคเลเวอร์ (Speedbrakes lever) ที่อยู่ทางซ้ายของปาร์กกิ้งเบรค(Parking brake)ที่อยู่ข้างขาขวาของวิทย์มั๊ยครับ”
“ เห็นแล้วพี่ “
“ ก่อนอื่น เซ็ทความสูงไปที่ 4500 ฟุต แล้วกดปุ่ม LVL CHG เพื่อลดความสูงลงไป เสร็จแล้วยกสปีดเบรคเลเวอร์ขึ้นมานิดนึงแล้วดึงมันลงมาด้านล่างครับ เราจะเพิ่มแดร็ก(Drag)ด้วยสปีดเบรค แผ่นสปอยเล่อร์ (Spoilers)แผ่นเล็กๆหลายแผ่นบนปีกทั้งสองข้างจะกางตั้งขึ้นมาบนผิวปีกเพื่อช่วยให้เครื่องบินเสียความสูงเร็วขึ้นเพื่อแก้ไขอาการค้ำ” ภูมิเลคเชอร์ต่อ

วิทย์ทำตามที่ภูมิบอกทันที เครื่องบินดีเซนด์(Descend)ต่อพร้อมกับอาการสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นสปอยเล่อร์ที่ปีกถูกกางออกเมื่อวิทย์ดึงสปีดเบรคเลเวอร์ เวิร์คโหลดเริ่มมากขึ้นในตอนนี้ วิทย์เข้าใจแล้วว่าทำไมนักบินแอร์ไลนส์ถึงได้เป็นกันยาก มันต้องใช้คนประเภทที่รับความกดดันได้ดีในเวลาวิกฤตินั่นเอง แถมยังต้องประสานงานกับทั้งลูกเรือ ผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่ภาคพื้น เจ้าหน้าที่เอทีซี แล้วยังต้องตาไวหูดีอีกต่างหาก 

“วิทย์ครับ เก็บสปีดเบรคเลเวอร์ได้แล้วนะ ความสูงของเครื่องบินตอนนี้โอเคแล้ว ทีนี้ Turn right heading 320” ภูมิบอกให้วิทย์หมุนปุ่ม HDG SEL เลี้ยวขวาไปทิศทาง 320 องศา
“ ครับผม Heading 320 “ วิทย์เข้าใจคำสั่งที่เป็น Standard Phraseology การบินบ้างแล้ว เพราะเคยเปิดฟังบ่อยๆในเว็บไซด์ของฝรั่ง

 “เอาหล่ะ ทีนี้เราต้องเริ่มลดความเร็วลงนะ วิทย์ลดสปีด (Speed) ลงมาที่ 210 น๊อตครับ” 
วิทย์หมุนปุ่ม Speed ไปทางซ้ายจนตัวเลขบนจอ LED เล็กๆใต้ปุ่มโชว์ตัวเลข 210 

“เราจะต้องเอาแฟล๊ปออกเพื่อช่วยลดสปีดและรักษาแรงยกด้วย วิทย์เห็นแฟล๊ปเลเวอร์ที่อยู่ด้านขวาของทรัสต์เลเวอร์(Thrust levers ) มั๊ยครับ ที่มันมีช่องเหมือนเป็นล๊อกๆหน่ะครับ” ภูมิเริ่มสั่งการขั้นแอดว้านซ์ไปเรื่อยๆ
“ ผมหาก่อนครับ อ่อ เจอแล้วครับ ให้ผมกางมันใช่มั๊ยพี่ “
“ ใช่ครับ ดึงมันขึ้นมานิดนึงก่อนแล้วลากลงมาที่ตำแหน่ง Flap one ครับ”
“ครับผม Flap one“  วิทย์ทำตามทันที มันติดขัดพอสมควรที่จะดึงแฟล๊ปเลเวอร์ขึ้นมา แต่ก็ไม่ยากอะไร
“ ดีครับ ทีนี้วิทย์ลดสปีดลงมาที่แฟล๊บแมนูเวอริ่งสปีด(Flap maneuvering speed) สำหรับ  Flap one ครับ” ภูมิว่าต่อไป
“ แล้วมันเท่าไหร่อะพี่ ดูตรงไหน”
“ ขอโทษทีลืมบอก วิทย์มองดูตรงแถบความเร็วบนจอ MFD ครับ มันจะมีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรเอฟสีเขียว เห็นมั๊ย นั่นหล่ะ วิทย์บิดปุ่มสปีดลงมาให้ตัวเลขตรงกับตำแหน่งตัวเอฟนั่นแหละ มันคือแฟล๊บแมนูเวอริ่งสปีดที่พี่ว่า” 
“รับทราบครับ ความเร็วลดลงมาแล้วพี่ มันอยู่ที่ 191 น๊อตครับ” วิทย์รายงานต่อไป
“ดีมากครับวิทย์ ทีนี้เอาแฟล๊ปออกต่อ ยกมาที่ตำแหน่ง Flap five ครับ แล้วลดความเร็วลงต่อไป ทำเหมือนเมื่อกี้เลย” ภูมิเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าวิทย์จะเอาอยู่
“ครับพี่ เรียบร้อยครับ Flap five และลดสปีดลงมาแล้ว แต่ความเร็วมันลดลงช้ามากเลยพี่ตอนนี้ ไม่เหมือนตอนที่กาง Flap one “ วิทย์สังเกตุเห็นความแตกต่าง
“ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะกระแสลมส่งท้ายเครื่องตอนนี้หน่ะครับ มันเป็นลมประจำถิ่นแถวๆนั้น สปีดจะลดลงช้าหน่อย แต่เดี๋ยวลมมันจะกลับมานิ่งเมื่อเราบินลงมาต่ำๆนะครับ” กัปตันภูมิอธิบายได้เหมือนไปนั่งบินอยู่บนเครื่องด้วย

“ทีนี้ เราต้องบินเข้าอินเตอร์เซ๊พท์ไอแอลเอสรันเวย์ 25 ขวา (Intercept ILS runway 25R) นะครับ วิทย์กดปุ่ม APP ที่อยู่ด้านขวาล่างของแผงแกลร์ชิลด์ครับ ไฟติดมั๊ยที่ปุ่ม?”
“ครับพี่ เห็นแล้วครับ ผมกดปุ่ม APP แล้วครับ ไฟที่ปุ่มติดแล้วพี่” 
“เยี่ยมเลยวิทย์ เรากดปุ่มนี้เพื่อให้เครื่องบินเลี้ยวเข้าหารันเวย์เซ็นเตอร์ไลน์(Runway Centerline) เองแล้วบินเข้าไปเกาะมุมร่อนเพื่อลงจอดครับ ทราบดีนะ ไอแอลเอส” ภูมิลืมไปว่าวิทย์เองก็ฝึกบินอยู่ เรื่องไอแอลเอสน่าจะรู้ดีอยู่แล้ว

“รับทราบครับ ตอนนี้สัญลักษณ์ Pink Diamond บนจอ MFD มันเลื่อนลงมาตรงกลางแล้วครับ 
มันใช่ Glideslpe หรือป่าวพี่?” Glideslope คือสัญญาณทางอิเลคทรอนิคส์ที่บอกมุมร่อนลงจอดที่ถูกส่งขึ้นมาจากเครื่องช่วยเดินอากาศไอแอลเอสนั่นเอง
“ใช่ครับ เพราะตอนนี้เราอยู่ต่ำกว่า Glideslope เครื่องบินเราจะบินเข้าไปหา Glideslope แล้วจะเกาะสัญญาณ Glideslope ลงไปเองครับ  ด้านบนของจอ MFD จะโชว์ว่า LOC กับ GS เมื่อเราอยู่บนมุมร่อนและทิศทางเข้าหารันเวย์แล้วครับผม” ภูมิอธิบายให้สิ้นสงสัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กัปตันจำเป็น
“ ครับ พี่ ตอนนี้มันเปลี่ยนเป็น GS แล้วครับ เครื่องเริ่มดีเซ็นด์(Descend)ต่อแล้วครับพี่” 
“วิทย์ครับ หมุนปุ่มความสูงไปที่ 5000 ฟุตครับ เราจะต้องเซ็ทค่านี้ไว้เผื่อว่าหากลงไม่ได้ ต้องโก-อราวนด์(Go-around) ขึ้นมาที่ความสูงนี้”
“ครับผม เซ็ทความสูง 5000 แล้วครับ” 

“ทีนี้เราจะต้องกางแลนดิ้งเกียร์ (Landing gear) นะ เห็นมั๊ยครับ มันอยู่ด้านหน้าตรงข้างๆจอ ND  เกียร์เลเวอร์ 
( Gear lever) อันเล็กๆที่มีส่วนคล้ายล้อเครื่องบินหน่ะครับ ดึงมันลงมาที่ตำแหน่งDown เลย” แลนดิ้งเกียร์คือล้อเครื่องบินนั่นเอง จะต้องถูกกางออกมาเพื่อลงจอด
“เห็นแล้วครับ ผมดึงลงมาแล้ว อุ๊บส์! เสียงดังตึ้งเลยพี่ สงสัยมันกำลังกางออก”
“ ช่ายแล้ว มันกางเสร็จหรือยัง ดูที่จอไอแคส( EICAS หรือ จอ Engine indicating and crew alerting system) ที่อยู่ตรงกลางระหว่างจอ ND ทั้งสองข้างครับ มันจะบอกว่า  Down เป็นสีเขียวทั้งหมด เห็นยัง?”
“ เอ่อ มันไม่ครบหน่ะพี่ ล้อข้างขวาไม่เปลี่ยนเป็นเขียวครับ มันยังเป็นสีเหลืองอยู่เลย” วิทย์เริ่มงง
“ รอดูนิดนึงครับ แลนดิ้งเกียร์อาจจะกำลัง transit อยู่ “ ภูมิมองโลกในแง่ดีไว้ก่อน คำว่า Transit  หมายถึงอยู่ในช่วงเวลาที่เกียร์กำลังกางออก แต่ยังไม่กางเต็มที่นั่นเอง

“ตู๊ด ตู๊ด” .... 

เสียงร้องเตือนออกมาจากลำโพงอีกแล้ว ไฟ caution สีเหลืองอำพันติดขึ้นมาที่ปุ่มสี่เหลี่ยมด้านหน้าของวิทย์
“พี่ภูมิครับ มันร้องเตือนแล้วมีไฟติดขึ้นมาครับ มันเป็นอะไรครับพี่”
“เอ่อ สงสัยว่าแลนดิ้งเกียร์จะกางไม่ครบ ล้อขวาใช่มั๊ยครับ?” 
“ใช่ครับพี่ ล้อขวามันยังเป็นสีเหลืองอยู่เลย ทำยังงัยดีครับ?“ วิทย์เล่าตามที่เห็นด้านหน้า เสียงเริ่มตะกุกตะกัก ตอนนี้เขารู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรมาจุกอยู่ตรงคอ ปากเริ่มซีดและแห้งผาก หัวใจของเขาเต้นระรัว วิทย์นึกถึงพ่อกับแม่ขึ้นมา น้ำตาลูกผู้ชายมันไหลออกมาเอง

“ใจเย็นๆครับวิทย์ เครื่องบินยังบินได้ แต่เราต้องยกเลิกการลงจอดครั้งนี้ก่อนเพื่อแก้ไขปัญหากัน วิทย์ครับ มองหาปุ่มโทก้า (TOGA หรือ Takeoff/Go-around) ที่อยู่บนทรัสต์ลีเวอร์ครับ มันซ่อนอยู่ตรงด้านบน เห็นมั๊ย” ภูมิพยายามพูดให้ช้าลง เพื่อลดอาการตื่นเต้นของวิทย์
“เห็นแล้วครับ กดแล้วมันจะเป็นยังงัยครับพี่ภูมิ” วิทย์ตบหน้าตัวเองเบาๆเพื่อสลัดความกลัวออกไป เขาจะกลัวไม่ได้ ตอนนี้เขาเป็นความหวังของทุกคน

 “ถ้ากดแล้ว เครื่องยนต์จะเร่งขึ้นมา แล้วเครื่องบินจะเชิดหัวขึ้นเองและบินขึ้นไปยังความสูง 5000 ฟุตที่เราเซ็ทเอาไว้แล้ว พร้อมมั๊ยวิทย์?”  ภูมิถามเพื่อความแน่ใจว่าวิทย์จะเอาอยู่ในสถานการณ์กดดันเช่นนี้
 “ครับพี่ พร้อมครับ ให้กดปุ่มเลยใช่มั๊ย?”
“ครับวิทย์ กดเลย” 

วิทย์ทำตามคำสั่งของภูมิทันที นกยักษ์ลำใหญ่ทะยานขึ้นไปอีกเครื่อง เสียงของเครื่องยนต์เทอร์โบแฟนทั้งสองเครื่องส่งเสียงคำรามให้ได้ยินว่ามันกำลังเร่งเครื่องเต็มที่ วิทย์รู้สึกได้ถึงพลังของมัน เครื่องบินไต่ระดับขึ้นไปอีกครั้ง!!! 

@@@@@@@@@@@

ซีซีหมวกเจ๊ก (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ภาพประกอบจาก 


15 มกราคม 2558

Amoeba Management ตอนที่หนึ่ง

Amoeba Management  ตอนที่หนึ่ง

Masaru Onishi, Chairman of Japan Airlines Co.Ltd.(JAL)

เมื่อวันก่อน ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับแจแปนแอร์ไลนส์หรือ JAL เกี่ยวกับการกลับมาเดินเครื่องได้อย่างน่าประหลาดใจหลังจากการยื่นขอเข้ากระบวนการล้มละลายในปีคศ.2010 โดยอาศัยฝีมือการบริหารจากมืออาชีพซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อตั้งบริษัทเคียวเซร่าและบริษัทKDDI ของญี่ปุ่น นั่นก็คือคุณ คาซูโอะ อินาโมริ  ซึ่งได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของพนักงานใน JAL และแนวทางการหารายได้ในแบบที่เขาเคยทำได้สำเร็จที่เคียวเซร่า นั่นคือวิธีที่เขาเรียกมันว่า  “Amoeba management” คุณ มาซารุ โอนิชิ ผู้ซึ่งทำหน้าประธานคณะกรรมการบริษัท JAL และยังควบตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปฝ่ายความปลอดภัยองค์กรในขณะนี้ เขาทำหน้าที่สืบต่อจากคุณคาซูโอะ อินาโมริ ตั้งแต่ปีคศ.2013 จนถึงปัจจุบัน โดยก่อนหน้าที่เขาจะมารับหน้าที่ดังกล่าว ตัวเขาเองได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของ JAL จากประสบการณ์ในการทำงานกับJAL มาตั้งแต่ปีคศ.1978  ดังนั้นจึงเป็นผู้ที่รับทราบและเข้าใจวิธีการเปลี่ยนแปลงJAL ให้กลับมาผงาดได้อีกครั้งหนึ่ง และนี่คือบทความที่เขาได้เขียนไว้เกี่ยวกับ JAL และวิธีคิดแบบ Amoeba management ครับ

————————————-

ในวันที่19 มกราคม  คศ.2010 บริษัทในกลุ่ม JAL ทั้งสามบริษัท อันได้แก่ บริษัท Japan Airlines บริษัท Japan Airlines International และ บริษัท JAL Capital ได้สมัครเข้ากระบวนการขอแก้ไขปัญหาองค์กรจากปัญหาการเงินภายใต้กฏหมายการปรับปรุงองค์กรนิติบุคคลของญี่ปุ่น ในขณะนั้นผมเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของJAL 

พูดกันตามจริง ผมไม่ทราบเลยว่าเราควรจะเริ่มต้นกันอย่างไรในตอนนั้น วันที่จัดแถลงข่าวเพื่อแนะนำตัวและทีมงานบริหารชุดใหม่ ผมได้รับคำถามว่าจะทำอย่างไรบ้างกับ JAL มันเห็นได้ชัดเจนว่าจะต้องมีเจ้าหนี้หลายเจ้าที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการประกาศขอล้มละลายในครั้งนี้ และก็แน่นอนว่าใบหุ้นของ JAL ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้ถือหุ้นจำนวน 440,000 ราย ถืออยู่ จะต้องกลายเป็นกระดาษไร้ค่าไป

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สิ่งเดียวที่ผมพูดได้ในวันนั้นก็คือ JAL จะต้อง ”เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากในอดีต” เราจะต้องเปลี่ยนแปลงและสร้างJAL ขึ้นมาใหม่ ผมจำคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี ท่านประธานคาซูโอะ อินาโมริ บอกผมว่า ผมจะต้องบอกทุกคนได้ว่าทำไมJAL ถึงต้องล้มละลาย นั่นเป็นคำแนะนำแรกที่ท่านได้ให้กับผม ผมเริ่มคิดหนัก หาคำตอบของคำถามที่ว่าทัศนคติและแนวคิดใดของJAL ที่ได้นำพาบริษัทไปสู่การล้มละลายในครั้งนี้

สาเหตุแรกที่คิดได้ ก็คือเรายึดมั่นเกินไปกับพันธกิจที่จะต้องเป็นสายการบินที่สนองต่อการเดินทางสาธารณะในฐานะสายการบินแห่งชาติ แน่นอนว่าพันธกิจนี้สำคัญและละทิ้งไปไม่ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือเราใช้พันธกิจนี้เป็นเป้าหมายหลักในการตัดสินใจโดยตลอด ทัศนคติที่ว่า “เพราะว่าเราเป็นสายการบินแห่งชาติ” มันช่างแข็งแกร่งเสียจนเราลืมกำหนดระดับความสำคัญของวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้ง JAL ขึ้นมาเพื่อทำให้มันอยู่รอดได้ในธุรกิจด้วย ผลที่เกิดขึ้นมาคือเราต้องมาลำบากกับปัญหาเส้นทางบินที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไรจำนวนมาก

สาเหตุที่สองคือ สไตล์การบริหารจัดการของพวกเรามีพื้นฐานอยู่บนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งๆที่ความจริงก็คือยุคทองแห่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ผ่านไปแล้ว เรายังหนีไม่พ้นจากความคิดอ่านแบบเดิมที่พยายามจะขยายตัวให้โตขึ้นเรื่อยๆเหมือนสมัยล่าอาณานิคม เราไม่เคยคิดถึงการปรับลดขนาดการปฏิบัติการบิน เราแสร้งหลับตาไม่มองหาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่ในกรณีกองทุนบำนาญหลังเกษียณของพนักงาน เราแทบจะไม่สงสัยกันเลยว่ามันจะไปไม่รอดหากยังนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพียงแค่ห้าเปอร์เซ็นต์เป็นอย่างมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน

สาเหตุที่สามก็คือ สิ่งแวดล้อมที่มีผู้ร่วมแข่งขันจำนวนจำกัดมาเป็นเวลานาน ทำให้เรามีความคิดแยกส่วนออกมา ด้วยความที่มีคู่แข่งเพียงสายการบินเดียวในประเทศ นั่นคือ สายการบิน All Nippon Airways หรือ ANA  เราจึงได้แต่เปรียบเทียบตัวเรากับ ANA เท่านั้น ทำให้ไม่เกิดแนวคิดใหม่ขึ้นเลย สามัญสำนึกที่เราเคยใช้บริหารกันมาในอดีต จึงกลายเป็นสิ่งธรรมดาไปสำหรับเราและ ANA

สาเหตุที่สี่ การขาดแคลนสล๊อต(Slot)ในการวิ่งขึ้นและลงจอดที่สนามบินในเมืองหลวง โดยที่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของเที่ยวบินในญี่ปุ่นจะบินขึ้นลงจากสนามบินนาริตะและฮาเนดะ แต่จำนวนเที่ยวบินไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว ถ้าโมเมนตัมเศรษฐกิจเหวี่ยงขึ้นทำให้ความต้องการการบินมากขึ้น หนทางเดียวที่จะแก้ไขคือต้องเปลี่ยนขนาดเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้น นั่นหมายถึงมันเป็นไปไม่ได้ที่จะลดขนาดเครื่องบินลงเมื่อความต้องการลดลง ซึ่งนำพวกเราไปสู่ปัญหาขยายตัวอย่างไม่เหมาะสมดังที่กล่าวข้างต้น ถ้ายังไม่มีการเพิ่มสล๊อตวิ่งขึ้นและลงจอดในเขตโตเกียว นั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจของญี่ปุ่นก็คงจะไม่มีทางเพิ่มขึ้นได้ แต่ในตอนนั้น JAL ยังไม่มีปัญหาอะไรจากเหตุนี้เพราะอยู่ในเสถียรภาพจากการไร้คู่แข่ง

และสาเหตุสุดท้ายคือ ประวัติศาสตร์ของ JAL ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของ ทำให้ขาดวินัยการเงินมาโดยตลอด

ผมรู้สึกได้ว่าเราต้องเปลี่ยนโครงสร้างของธุรกิจในทันทีที่ทำได้ สิ่งแรกที่เราต้องทำก็คือสร้างโครงสร้างบริษัทที่สามารถทำผลกำไรได้หลังจากเราทำการเปลี่ยนแปลง เราต้องปรับลดขนาดบริษัทและยกเลิกเส้นทางบินที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร เราตัดเส้นทางบินระหว่างประเทศลงไป 40% และปรับลดเส้นทางบินในประเทศลงไป 30% เราลดสเกลธุรกิจของเราลงเหลือแค่สองในสามจากขนาดเดิมที่เคยทำมา เราเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินที่ขนาดเล็กลง และในขณะเดียวกัน เราเลือกที่จะลดจำนวนแบบเครื่องบินลง ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดขนาดของฝูงบินที่เรามีอยู่ ในอดีตเรามีเครื่องบินหลายแบบอยู่ในการครอบครอง ตั้งแต่เครื่องบินขนาดใหญ่แบบ B747  ไปจนถึงแบบ B737 ที่รับผู้โดยสารได้ประมาณ 150 คน คงจะดีกว่ามากหากเราเลือกที่จะปลดประจำการเครื่องบินทุกแบบแทนที่จะเลือกเก็บไว้บางแบบ การเลือกปฏิบัติแบบนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารและเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เราปรับโครงสร้างฝูงบินของเราโดยเหลือเครื่องบินไม่กี่แบบ

แต่มันมีผลกระทบข้างเคียงเกิดขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับนักบิน นักบินถูกจำกัดให้สามารถบินเครื่องบินได้แบบเดียวในแต่ละช่วงเวลา การเลิกใช้งานเครื่องบินบางแบบ ทำให้มีนักบินบางส่วนว่างงานทันที เราจำเป็นต้องให้เงินชดเชยการว่างงานชั่วคราวแก่นักบินกลุ่มนั้น แต่มันก็ยังคุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ลดลงไปจากการลดแบบเครื่องบิน เราจึงดำเนินการต่อไป

เรายังได้ปรับลดจุดหมายปลายทางที่เราบินไปลง ค่าใช้จ่ายคงที่จะยังคงเพิ่มขึ้นถ้าเราเพียงแค่ลดเที่ยวบินแต่ยังเปิดปฏิบัติการที่สถานีปลายทางอยู่ เราจึงเลือกปิดสถานีปลายทางลงจำนวนหนึ่ง แต่การตัดสินใจครั้งนี้มีผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่เรายังจำเป็นต้องดำเนินตามแผนปรับลดขนาดบริษัทและทำการลดเส้นทางบินลงต่อไป

เราได้ทำการปรับลดจำนวนพนักงานลง เราจำเป็นต้องตัดสินใจทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่นหากยังต้องการสงวนการจ้างงานต่อสำหรับพนักงานที่เหลืออยู่ เป้าหมายตามแผนการลดจำนวนพนักงานลงก็คือ จากพนักงานจำนวน 48700 คนในปีงบประมาณคศ.2009 จะเหลือเพียง 32600 คน เมื่อสิ้นปีงบประมาณคศ.2010

ผู้จัดการตามสถานีต่างประเทศและต่างจังหวัด และผู้จัดการในแผนกต่างๆในบริษัท ต้องรับมือกับการอธิบายและโน้มน้าวให้พนักงานบางส่วนสมัครใจลาออกทั้งแบบปกติและแบบพิเศษ ผมเคยได้รับฟังคำวิจารณ์ของลูกจ้างซึ่งได้ออกจากบริษัทไปแล้ว หลายคนพูดว่า “ ผมจะเกษียณจากงานที่นี่  แต่ใจผมต้องการให้คุณทำให้ JAL อยู่รอดต่อไป” เราพยายามโน้มน้าวให้พนักงานสมัครใจลาออก บางคนขออยู่ต่อจนงานของพวกเขาเสร็จสิ้น การปฏิรูปองค์กรดำเนินการต่อไปและก่อให้เกิดปัญหากับพนักงานจำนวนมาก

เราได้ดำเนินการตัดลดค่าตอบแทนพนักงาน ทุกคนในบริษัทต่างต้องรับผลกระทบพอๆกันในแต่ละสาขางาน ต้ังแต่พนักงานภาคพื้นไปจนถึงนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สหภาพพนักงานยอมรับข้อเสนอที่จะต้องตัดลดค่าตอบแทนพนักงานลงไปสูงสุดถึง 30% ไม่มีการโต้เถียงหรือคัดค้านแต่อย่างใดในตอนนั้นจากสหภาพ เพราะเราสามารถทำใหพนักงานเข้าใจสถานการณ์ได้เพียงแค่บอกว่า” เราเป็นบริษัทที่กำลังจะล้มละลาย แต่เราได้รับอนุญาติให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้” เราเพียงพูดความจริงให้พนักงานของเราได้รับรู้

บริษัทได้ทบทวนนโยบายบำนาญพนักงาน โดยปรับลดลงไป 30% สำหรับผู้เกษียณไปแล้ว และปรับลดบำนาญลงไปถึง 50% สำหรับพนักงานในปัจจุบัน ผมเชื่อว่ามันเป็นการปรับลดที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ความยากอยู่ตรงการอธิบายให้ผู้ที่กำลังจะเกษียณได้เข้าใจและยอมรับ เราพยายามติดต่อไปยังทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ค่อยมีใครอยากให้เราไปหาหรือแม้แต่จะรับโทรศัพท์ที่พยายามติดต่อไป อย่างไรก็ดีเราจำเป็นต้องทำเพื่อให้JAL อยู่รอด ในที่สุดก็สามารถทำข้อตกลงได้เกือบ 90%ของผู้เกษียณไปแล้วทั้งหมดและเริ่มปรับเปลี่ยนจำนวนเงินบำนาญลงตามแผนที่วางแผน

ท่านประธานอินาโมริให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเฉียบแหลมกับผม ท่านบอกว่า “ บริษัทJAL มีพนักงานจำนวนมากที่ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์กรต่อไป” คำพูดของท่านมันช่างน่าเจ็บปวดแต่เป็นความจริง ว่ากันง่ายๆ เวลาเราถูกตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสร้างผลกำไร ไม่มีใครยกมือรับเลยว่าตนเองเกี่ยวข้องด้วย ผมในฐานะที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของ JALจำเป็นต้องยกมือยอมรับว่าตัวผมเองเป็นผู้รับผิดชอบต่อการสร้างผลกำไรของบริษัท นั่นเป็นแบบที่เคยเป็นมาก่อน เราได้สร้างองค์กรที่ไม่เคยมีใครกล้ายกมือยอมรับและเดินเข้ามาพูดว่า “ ผม/ดิฉัน เป็นผุ้รับผิดชอบต่อการสร้างผลกำไรของหน่วยงานของผม/ดิฉัน” ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองเกี่ยวข้องต่อการสร้างผลกำไร จึงไม่มีความคิดอ่านหรือความตั้งใจที่จะเพิ่มรายรับหรือลดรายจ่าย

ท่านประธานอินาโมริได้ชี้ให้เห็นว่า มันยังไม่มีปรัชญาการทำงานเกิดขึ้นที่ JAL ในขณะนั้น จริงๆแล้วพวกเราเข้าใจผิดกันมาตลอด เราเคยเชื่อกันว่าเราเป็นบริษัทที่มีอิสระในการทำงานและเราเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดอิสระ นั่นอาจจะดีกับกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อทำงานอย่างสนุกสนาน แต่มันเป็นทัศนคติที่ไม่ควรจะถูกปลูกฝังให้กับองค์กรที่มีเป้าหมายการทำงานจำเพาะเจาะจงอย่าง JAL

ในขณะที่ความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์บริษัทคือ เราไม่มีหลักในการบริหารจัดการหรือไม่มีปรัชญาขององค์กร เราเข้าใจกันผิดๆว่าบริษัทที่ดีต้องยอมให้พนักงานมีอิสระในความคิด แต่ปัญหาคือองค์กรของเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะความที่ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการจัดการที่ชัดเจน ทำให้พนักงานทุกคนทำอะไรก็ได้ตามความคิดอ่านของตน 

เราขาดซึ่งระบบการจัดการ มันไม่มีระบบที่กำหนดว่าบริษัทจะถูกจัดการอย่างไร เราไม่มีดัชนีชี้วัดการบริหารจัดการ และเราก็ไม่สามารถมองเห็นและรวบรวมภาพที่กระจัดกระจายเข้าหากันได้ เป็นเพราะเราไม่มีวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการที่ชัดเจน เราไม่เคยปฏิบัติกันมาก่อน ความจริงในสถานการณ์ตอนนั้นคือ ไม่มีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ไม่เป็นเอกภาพหรือเป้าหมายการทำงานร่วมกัน และเพราะความไม่รู้ว่าจำเป็นต้องสร้างผลกำไร เราจึงไม่ได้เฉลียวใจกันว่าวิกฤติได้เกิดขึ้นมานานแล้ว

เราจะพุ่งเป้าหมายไปที่ไหน แนวความคิดของเราจะมีแก่นความคิดจากอะไร เราจะเป็นกลุ่มคนแบบไหน?

เพื่อที่จะสร้างปรัชญาของJAL ขึ้นมา เราจึงเริ่มสร้างระบบการจัดการแบบใหม่ขึ้นมาใน JAL นั่นคือ ระบบ Amoeba Management ซึ่งเป็นระบบบริหารบัญชีแบบแยกเป็นส่วน ระบบที่จะสนับสนุนปรัชญาใหม่ของ JAL อย่างเป็นระบบ สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในองค์กรไปอย่างสิ้นเชิง

(มีต่อตอนที่สอง .....)
————————————————-
ข้อมูลจาก www.kcmc.co.jp
ภาพประกอบ จาก www.bloomberg.com

ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบินและนักบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com