28 มิถุนายน 2557

ลิเวอร์พูล VS การบินไทย

ลิเวอร์พูล VS การบินไทย

ถ้าจะไม่พูดถึงตัวแปรที่เข้าไปแตะต้องหรือแก้ไขไม่ได้ ผมนั่งใคร่ครวญดูสถานการณ์ของบริษัทเจ้าจำปีอันเป็นที่รักของตัวกระผมและเพื่อนร่วมงาน มันกำลังจะเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในเวลาไม่ไกลจากนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้พนักงานช่วยกันทำคือ ทำความเข้าใจในธุรกิจการบินให้มากขึ้น การที่เราจะอยู่รอดได้ องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และความเข้าใจธุรกิจที่กำลังทำกันอยู่ หากไม่มีหรือมีน้อย โอกาสที่จะพัฒนาองค์กรให้มีผลกำไรอย่างยั่งยืนคงยาก

มีเพื่อนๆหลายคนพูดถึงบทบาทของฝ่ายตลาดกับความสามารถในการขาย หลายท่านบ่นว่า หาลูกค้าไม่เก่งบ้าง ใช้ระบบเอเจนซี่ที่ไม่โปร่งใสบ้าง อะไรทำนองนี้ และทำให้การบินไทยย่ำแย่ ซึ่งที่พูดก็มีส่วนถูก แต่ไม่ทั้งหมด ยังมีอีกหลายส่วนที่ถูกมองข้าม เพราะมันกระทบกับความเป็นอยู่ของพนักงาน นั่นคือต้นทุนคงที่

ทำไมถึงกระทบ แหงๆเลย ถ้าผู้นำองค์กรเดินมาบอกท่านว่า เราจะขอลดเงินเดือนท่านสักสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเวลาหกเดือนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทในช่วงที่ผลประกอบการไม่ดี พนักงานทั่วๆไปที่อยู่ในฝ่ายปฏิบัติการที่ถูกมองว่าเป็น COST CENTER ก็จะต่อต้าน และเริ่มก่นด่าฝ่ายตลาดว่าหาเงินไม่เป็นหรืออย่างไร ในขณะที่ฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายหาเงินอื่นๆที่ถูกมองว่าเป็น REVENUE CENTER ก็จะค่อนแคะว่าฝ่ายปฏิบัติการดีแต่ใช้เงิน ทำไมไม่ลดบ้างหล่ะ สรุปง่ายๆคือโทษกันไปมา

ถ้าได้เรียนรู้บัญชีกันบ้าง น่าจะตอบได้ว่า มันมีผลทั้งคู่นั่นแหละ ทั้งฝ่ายหาเงิน และฝ่ายใช้เงิน ตราบใดที่ยังไม่พยายามพัฒนากระบวนการคิดให้สอดคล้องกัน

อันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุน ปริมาณการผลิต และผลกำไร เรียกภาษาอังกฤษอย่างเท่ๆว่า COST-VOLUME-PROFIT หรือ CVP ANALYSIS ที่คนเรียนบัญชีมา (ผมไม่ได้เรียนมาโดยตรง แค่แอบศึกษาอย่างเงียบๆ แต่ก็ยังโง่อยู่ดี) น่าจะคุ้นกันอยู่ เริ่มที่คำที่เราๆคุ้นเคยกันก่อน

Sales(ยอดขาย) = จำนวนสินค้าที่ขายได้ คูณด้วย ราคาขายสินค้าต่อหน่วย

Variable Cost (ต้นทุนแปรผัน) = คือต้นทุนรวมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสัดส่วนเมื่อเราผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลง (ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยเท่าเดิม) ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเป็นต้น

Fixed Cost (ต้นทุนคงที่) = ต้นทุนรวมที่คงที่แม้เราจะผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้นหรือน้อยลง (ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง) ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าที่สำนักงานหรือโรงงานเป็นต้น

มีอีกคำ จำไว้เท่ๆครับ
Contribution Margin (กำไรส่วนเกิน) = Total Sales – Total Variable Cost

ดังนั้น ถ้าคิดต่อหน่วย Contribution Margin/Unit (กำไรส่วนเกินต่อหน่วย) = Price/Unit – Variable Cost/Unit

เอาหล่ะ คราวนี้มาดูความสัมพันธ์ที่จะทำให้เข้าใจง่ายๆ เริ่มที่สมการอมตะนิรันดร์กาล

Sales (ยอดขาย) – Variable Cost (ต้นทุนผันแปร) – Fixed Cost (ต้นทุนคงที่) = Net Income (กำไร+ หรือ ขาดทุน-)

ถ้าให้ Q เป็นจำนวนที่ทำการผลิต จะได้ว่า

(Price/unit x Q) – ( Variable Cost/unit x Q ) – Fixed Cost = Net Income

จัดรูปร่างหน่อยจะได้ว่า

( Price/unit – Variable Cost/unit) x Q = Fixed Cost + Net Income

หรือจะใช้ศัพท์เท่ๆได้ว่า

Contribution Margin/Unit x Q = Fixed Cost + Net Income

จัดข้างหน่อย จะได้ว่า

Q (จำนวนหน่วยที่ทำการผลิต) = (Fixed Cost + Net Income) / Contribution Margin ต่อหน่วย

ที่นี้ เราสามารถหาได้เลยครับว่า ถ้าเราต้องการกำไรเท่านี้ เราต้องผลิตสินค้าเท่าไหร่ แต่ถ้าคิดแค่เท่าทุน ก็แค่ให้ Net Income เป็นศูนย์ ก็จะเหลือสมการที่บอกได้ว่าต้องผลิตและขายให้ได้เท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน นั่นคือ

Q (จำนวนหน่วยที่ทำการผลิต) = Fixed Cost / Contribution Margin ต่อหน่วย

จะเห็นได้ว่า ตัวแปรหลักคือทั้ง Fixed Cost และ Contribution Margin มีผลต่อจุดคุ้มทุนทั้งคู่ ถ้าสามารถหาวิธีการอันแยบยลในการลด Fixed Cost ลงได้ โดยไม่กระทบต่อความพึงพอใจของผู้โดยสารและความเป็นอยู่ของพนักงานที่เป็นกำลังการผลิตหลักที่แท้จริงมากนัก ก็จะช่วยให้จำนวนหน่วยที่จะต้องทำการผลิตเพื่อให้คุ้มทุนลดลง ในขณะเดียวกัน ถ้าเพิ่ม Contribution Margin โดยการเพิ่มยอดขาย(Total Sales) หรือลด Variable Cost (ต้นทุนแปรผัน)โดยการเพิ่มช่องทางการขาย การตอบสนองต่ออุปสงค์อย่างรวดเร็ว หรือการจัดซื้อจัดหาอย่างโปร่งใสและได้ต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลงแต่ยังคงคุณภาพที่ดี ก็ได้ผลไปในทางเดียวกัน

การจะไปเร่งการขายแต่อย่างเดียวโดยไม่ได้หันมาลดต้นทุนคงที่อย่างแท้จริง มันก็ได้แต่คงเหนื่อยหนัก ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าใครชอบดูบอลพรีเมียร์ลีคของอังกฤษ ในปีที่ผ่านมา หงส์แดงลิเวอร์พูลจบฤดูกาลโดยเป็นที่สองรองจากทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้ โดยมีสถิติยิงกระจาย คือยิงมากแชมป์อีกต่างหาก แต่กลับมีสถิติการเสียประตูที่มากกว่าแชมป์อยู่มาก ทั้งนี้เพราะกลยุทธ์ในการสร้างทีมรุกมีประสิทธิภาพดียิ่ง เปรียบได้กับการขายที่ทะลุเป้า ในขณะที่เกมรับแย่กว่าท๊อปไฟว์หลายทีม เปรียบได้กับการควบคุมต้นทุนคงที่ที่ไม่ดี สรุปสุดท้าย แทนที่จะได้แชมป์ ก็เลยได้แค่รองแชมป์

พนักงานการบินไทยที่เก่งๆยังมีอยู่เยอะมากครับ เสียดายความรู้ความสามารถ
ดังนั้นพนักงานควรต้องร่วมกันรับผิดชอบ คิดในเชิงบวก เลิกโทษเลิกหาแพะ ทำความเข้าใจปัญหาและเรียนรู้ร่วมกัน ตั้งใจฟังปัญหาของกันและกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูงต้องลงมาดูแล ให้ข้อมูลและเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จริงใจและสร้างสรรค์ เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เลยครับ

แล้วฤดูกาลหน้า หงส์แดงจะกลับมาแชมป์แน่ๆ

THAI will never walk alone !!!!!!!!!

ขอบคุณข้อมูลจาก www.siraekabut.com
ภาพประกอบ : www.shm.com.au
————————————————

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่
www.nuckbin.blogspot.com

25 มิถุนายน 2557

หรือว่ามันถึงเวลาแล้ว?

หรือว่ามันถึงเวลาแล้ว?

อ่านข่าวการขาดทุนอย่างต่อเนื่องของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ ประกาศผลขาดทุนในไตรมาสแรกของปีนี้เป็นจำนวนเงิน 137.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับประมาณ 4475 ล้านบาท รวมไปถึงการที่หุ้นของสายการบินมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีมูลค่าเหลือเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของมูลค่าหุ้นในปีที่แล้ว ราคาหุ้นหล่นลงไปถึง 0.05 เหรียญสหรัฐหรือเท่ากับประมาณหุ้นละ 1.62บาท ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

อันที่จริง มาเลเซียแอร์ไลนส์ขาดทุนมาต่อเนื่องสามปีติดกันแล้ว ดังนั้นจะไปโทษว่าเหตุการณ์ MH 370 ที่เกิดขึ้นไม่นานนี้มีส่วนให้ผลการดำเนินการย่ำแย่อย่างเดียวก็คงไม่ถูก อีกทั้งการที่ต้องแข่งขันกับแอร์เอเซียที่ทำได้ดีกว่าเห็นๆมาหลายปีแล้ว ยิ่งตอกย้ำชะตากรรมของมาเลเซียแอร์ไลนส์เข้าไปอีก

แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซียยังเคยเอ่ยปากว่า การยอมให้มาเลเซียแอร์ไลนส์ล้มละลายอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหา

นักวิเคราะห์หุ้นชาวต่างชาติให้ความเห็นว่า หากคิดว่าจะใช้วิธีการฉีดเม็ดเงินเข้าไปพร้อมกับประกาศแนวทางการดำเนินกิจการใหม่ๆจะช่วยให้กลับมาได้อีกครั้ง คงต้องคิดใหม่ เพราะมาเลเซียแอร์ไลนส์เคยทำอย่างนี้มาสามครั้งแล้ว ผลที่ได้ก็กลับมาขาดทุนอีกหลายรอบ และเหตุการณ์ MH370 ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่หนักเข้าไปอีก

ดังนั้น การประกาศล้มละลาย หรือการรีบปรับเปลี่ยนองค์กรแบบผ่าตัดใหญ่ก่อนจะล้มละลายจริงๆ น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปแบบไม่รู้ทิศทางเหมือนที่ผ่านมา เหมือนกับฝันร้ายที่กลับกลายมาเป็นดีในปัจจุบัน อย่างที่สายการบินแจแปนแอร์ไลนส์ และสายการบินอเมริก้นแอร์ไลนส์ ยอมผ่าตัดใหญ่มาแล้วในปี2010 และ 2011 ตามลำดับ

เขียนบทความนี้แล้วอดเปรียบเทียบกับเจ้าจำปีของเราไม่ได้   มันรู้สึกเสียวๆปนดีใจยังไงก็ไม่ทราบ ใจนึงก็กลัวผ่าตัด ขอแค่กินยาหม้อพอทุเลา อีกใจนึงก็อยากเจ็บตัวทำคีโม ยอมให้ผมร่วงแต่พอจะฆ่าเซลมะเร็งไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ จะได้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตปกติเสียที

อันนี้ต้องแล้วแต่คนป่วยกับญาติจะพิจารณาด่วนแล้วครับ เวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว

สู้ตายค่ะ


ข้อมูลจาก www.cnbc.com
ภาพประกอบ : www.fuh.my
—————————————————————————————

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ 
www.nuckbin.blogspot.com

แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ กับธุรกิจการบิน


ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับการใช้ดาราหรือนักกีฬาในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจหลายๆประเภท ในเรื่องของการบิน เราเห็นไทยแอร์เอเซียจ้างซูเปอร์สตาร์อย่างณเดชมาสปีคอีสานเป็นที่น่ารักในโฆษณาทีวีมาแล้วสักระยะหนึ่ง รวมไปถึงการบินไทยที่เลือกใช้ตุ๊กกี้ชิงร้อย มาเพิ่มลูกค้า แม้จะมีหลายคนค่อนแคะว่าไม่เหมาะกับแบรนด์ไฮโซอย่างการบินไทยเท่าใดนัก แต่ผมชอบนะครับ มันเข้าถึงได้ง่ายดี 

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการประกาศรางวัล THE AIRLINE STRATEGY AWARDS ที่กรุงลอนดอน โดยรางวัลที่มอบให้กับฝ่ายการตลาดยอดเยี่ยม ตกเป็นของสายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์ (TURKISH AIRLINES)จากตุรกี

คุณ TEMEL KOTIL ซึ่งเป็นซีอีโอของเตอร์กิชแอร์ไลนส์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้สายการบินจะมีความต้องการขยายเครือข่าย เพิ่มความถี่การบิน หรือเพิ่มจุดบินมากเท่าไหร่ คงไม่สำเร็จหากไม่มีการสร้างแบรนด์เพื่อสนับสนุนแผนการที่วางไว้ เขากล่าวว่า เมื่อคุณกำลังจะไปเคาะประตูบ้านคนอื่นที่ไม่รู้จักคุณเลย มันจำเป็นที่คุณจะต้องพาบางคนที่เค้ารู้จักไปกับคุณด้วยในฐานะแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ เตอร์กิชกระตุ้นให้ผู้คนรู้จักมากขึ้นผ่านการโฆษณาและมัลติมีเดียทีใช้นักกีฬาชื่อดังระดับโลก

เตอร์กิชลงทุนใช้ทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจากเกาะอังกฤษ และจ้างโกบี ไบรอัน นักบาสเกตบอลชื่อดังจากอเมริกาที่เล่นในNBA รวมไปถึงไลโอเนล เมสซี่ ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังโลกจากอาร์เจนตินาที่เล่นให้กับสโมสรบาร์เซโลน่าแห่งสเปน โฆษณาของเตอร์กิชที่ผ่านยูทูบโดยใช้ซูเปอร์สตาร์เหล่านี้มาเล่น มียอดเข้าชมเป็นร้อยล้านวิว ทั้งๆที่แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศหรือคนตุรกี แต่สามารถทำให้ผู้คนสนใจได้มากมาย ด้วยความที่ทำให้ผู้คนรู้สึกได้ว่า เตอร์กิชแอร์ไลนส์ก็ไฮโซและน่าสัมผัสพอๆกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ไบรอัน หรือแม้กระทั่งเมสซี่นั่นเอง

ซีอีโอของเตอร์กิชบอกว่า เค้าไม่ได้ชอบฟุตบอลเลย แต่ในยุโรป เอเซียตะวันออก ฮ่องกง กรุงเทพ และญี่ปุ่น ฟุตบอลเป็นอะไรที่ป๊อปปูลาร์มากๆ ในขณะที่ถ้าอยากจะให้คนในสหรัฐอเมริกาหันมามอง ต้องเลือกโคบี้ ไบรอัน เพราะอเมริกันชนคลั่งไคล้ NBA นั่นเอง และยังบอกว่า ถ้าเราต้องการส่งข่าวให้คนที่ไหน ควรจะใช้อะไรที่เป็นพื้นฐานความคิดความชอบของคนที่นั่น

เขาเพิ่มเติมว่า การตลาดต้องใช้วิธีที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่การขาย แต่ละวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเพื่อเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าที่เป็นผู้โดยสารผู้มีพระคุณ เขายกตัวอย่างว่า ครั้งนึงเคยมีสุภาพสตรีชาวเคนย่าชื่อ AMA ส่งรูปถ่ายของเธอที่สวมใส่แหวนซึ่งทำมากจากแท็กกระเป๋าของสายการบินเตอร์กิชแอร์ไลนส์ คุณ TEMEL KOTIL ได้เชิญเธอและครอบครัวมาที่อิสตันบุล เมืองหลวงของเตอร์กี เพื่อมาถ่ายทำโฆษณาที่จะใช้บุกตลาดแอฟริกา 

“ สำหรับแอฟริกา ฟุตบอลเป็นอะไรที่นิยม บาสเกตบอลก็เหมือนกัน แต่สุภาพสตรีท่านนี้มาจากเคนย่า ตรงๆเลย นอกจากนี้ การสร้างแบรนด์ไม่ใช่คณิตศาสตร์ คุณต้องการมืออาชีพในการสร้างสรรค์ผลงานโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว พวกเขากระฉับกระเฉง รู้สึกและรับรู้ในสิ่งที่พวกเขากำลังลงมือทำอยู่ตลอดเวลา ผมใช้ทีมงานที่มีอายุไม่มากในการสร้างสรรค์ผลงานการตลาดออกมา ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ทำผลงานออกมาตอบโจทย์อย่างยิ่ง”  ซีอีโอคนเก่งกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้


24 มิถุนายน 2557

เอมิเรตส์ กลยุทธ์ธุรกิจที่น่าลอกเลียนแบบ

เอมิเรตส์ กลยุทธ์ธุรกิจที่น่าลอกเลียนแบบ
ยักษ์ใหญ่ในวงการบินของโลกรายหนึ่งที่น่าศึกษากลยุทธ์ก็คือ เอมิเรตส์แอร์ไลนส์ สายการบินในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือเรียกย่อๆว่ายูเออี 
รูปแบบการทำธุรกิจของเอมิเรตส์ทำให้เกิดความได้เปรียบสูง เป็นเพราะค่าจ้างแรงงานต่ำมากๆทำได้พอๆกับสายการบินโลว์คอสต์ การใช้ผังองค์กรที่ไม่เป็นปิระมิดคือเป็นแบบแบนราบ(Flat Organization) เป็นผลดีต่อการตัดสินใจที่รวดเร็วและทำให้ค่าใช้จ่ายโสหุ้ยต่ำ
นักวิเคราะห์ธุรกิจสายการบินเชื่อกันว่า ต้นทุนต่อที่นั่งของเอมิเรตส์ต่ำมากๆ เป็นอันดับสองรองจากสายการบินไรอันแอร์ โลวคอสต์ชื่อดังในไอร์แลนด์ ทั้งนี้เนื่องมาจากต้นทุนการทำการบินที่ทำให้ต่ำได้จากการใช้ดูไบเป็นฐานการบิน จึงทำให้เอมิเรตส์สามารถทำกำไรจากการเปิดเส้นทางบินไปยังเมืองระดับรองๆของโลกโดยใช้ดูไบเป็นฮับ(Hub)
เอมิเรตส์เลือกที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของพันธมิตรการบินใหญ่ๆของโลกเช่น สตาร์อัลไลแอนซ์(ที่การบินไทยเข้าร่วมตั้งแต่ต้น) หรือ สกายทีม
เพราะมองว่าเข้าไปร่วมตอนหลังแล้ว ไม่ได้ประโยชน์เท่ากับสมาชิกเริ่มต้นที่เป็นผู้นำตลาดที่มักจะออกนโยบายของพันธมิตรเพื่อประโยชน์ของสายการบินตัวเองมากกว่าเพื่อกลุ่ม  ดังนั้นจึงคิดว่าทำตลาดเองน่าจะดีกว่า
เอมิเรตส์ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่อย่างเช่น แอร์บัส A380 และ โบอิ้ง 777 ในการบิน จึงทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับสายการบินขนาดใหญ่อื่นๆที่มักจะเลือกใช้เครื่องบินหลายขนาดปะปนกัน การที่ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ จึงทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้จำนวนมากไปพร้อมๆกับการขนส่งผู้โดยสาร เป็นการสร้างรายได้เพิ่มได้อีก
ข้อได้เปรียบอีกอย่างของเอมิเรตส์คือ การที่สนามบินแห่งชาติดูไบไม่มีเคอร์ฟิวห้ามบินในช่วงกลางคืนเหมือนในยุโรป เอมิเรตส์จึงใช้งานเครื่องบินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งวัน 
นอกจากนี้ ค่าแรงของพนักงานระดับรากหญ้าของเอมิเรตส์ก็ถูกมากๆ เป็นเพราะไม่มีสหภาพแรงงาน และมีแรงงานราคาถูกจากอินเดียและปากีสถานให้เลือกใช้มากมาย
แต่ก็ใช่ว่าเอมิเรตส์จะมีแต่ข้อได้เปรียบตลอดไป การที่ไปเปิดเส้นทางบินเข้าสู่ยุโรปและการที่ได้เปรียบต้นทุนอย่างนี้ จึงถูกคู่แข่งโจมตีและฟ้องร้องเสมอว่าไม่แฟร์เพราะทุ่มตลาดและเอาความได้เปรียบแรงงานและต้นทุนจากการทำการบินที่ดูไบ 
เอมิเรตส์เลือกใช้กลยุทธ์การตลาดที่ชาญฉลาด ประกอบกับนโยบายของประเทศที่สอดคล้องกัน จึงทำให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการบินที่นับวันจะใหญ่บิ๊กบึ้มขึ้นเรื่อยๆ ขนคนเข้าออกประเทศเป็นว่าเล่น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพิงรายได้จากการขุดน้ำมันมาขาย มาเป็นสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆที่มาพร้อมกับการเคลื่อนไหวและการเดินทางของผู้คนจากทั่วสารทิศ 
กลับมามองบ้านเรา ผมอยากให้ผู้นำประเทศเล็งเห็นประโยชน์จากการสนับสนุนให้สายการบินแห่งชาติผงาดในการบินระดับโลกให้มากขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะไม่ใช่แค่จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่มันหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะเข้าสู่ประเทศจากธุรกิจอื่นๆอีก ดังนั้นการวางกลยุทธ์ของการบินไทยจะสำเร็จไม่ได้หากขาดการหนุนหลังจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลนั่นเอง ที่จะต้องคัดสรรคนเก่งมาทำงานและผลักดันนโยบายดีๆออกมาให้สอดคล้องกับแนวทางของการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศชาติ
เริ่มต้นเลยดีไหมครับท่าน

ภาพประกอบ : www.emirates.com
—————————————————————————————

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ 
www.nuckbin.blogspot.com

23 มิถุนายน 2557

Upside of Thai airways ???

Upside of Thai airways ???

ข้อมูลทางการเงินที่ได้จากการวิเคราะห์โดยโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ควรลงทุนในหุ้น THAI เนื่องจากสาเหตุหลักๆดังนี้

1.การบินไทยมีต้นทุนสูง มีภาระในการชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวจำนวนมาก ในขณะที่กระแสเงินสดในไตรมาสแรกติดลบ และคาดว่าไตรมาสที่สองก็คงเหมือนกัน
2.ผลกระทบจากการความไม่สงบทางการเมือง ทำให้สายการบินแห่งชาติได้รับผลกระทบอย่างแรง เนื่องจากกว่าร้อยละ70ของรายได้หลักของการบินไทยมาจากเส้นทางบินระหว่างประเทศ
3.คู่แข่งการค้าเกิดขึ้นมามาก โดยเฉพาะสายการบินฟอร์มใหญ่จากตะวันออกกลาง มาแย่งลูกค้าจากยุโรปและออสเตรเลียไปเยอะ

หลายโบรกเกอร์คาดการณ์ว่า ปีนี้การบินไทยจะมีผลขาดทุนเมื่อจบไตรมาสที่สี่ ถึงแม้ว่าในไตรมาสที่สามและสี่ นักวิเคราะห์หุ้นคาดการณ์ว่าผลประกอบการจะกลับมาดีขึ้นหลังจากภาวะอุปทานล้น(Oversupply)กำลังจะจบลง ทั้งนี้ สายการบินอื่นๆในประเทศไทย มีผลประกอบการที่ดีกว่าการบินไทย เนื่องจากรูปแบบการให้บริการและความคล่องตัวในการบริหารกิจการแบบเอกชนมีส่วนช่วยได้อย่างมาก 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาการเมืองมานานเกือบเจ็ดเดือนกว่าจะมีเริ่มคลี่คลาย นกแอร์และไทยแอร์เอเซียซึ่งพบปัญหาเดียวกับการบินไทยเช่นกัน แต่โบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ยังคงเชียร์ให้นักลงทุนซื้อหุ้น เพราะอุปสงค์การเดินทางในประเทศจะเริ่มกลับมาดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ในประเทศเริ่มคลี่คลาย และเป็นเพราะในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง หลายสายการบินลดราคาค่าตั๋วเพื่อโปรโมทให้กลับมาใช้บริการให้มากขึ้น ดูเหมือนว่าผู้คนจะเริ่มหันมาใช้บริการเดินทางในประเทศด้วยเครื่องบินมากขึ้น จากสมัยก่อนค่าตั๋วเครื่องบินแพงกว่ารถไฟรถทัวร์มาก เดี๋ยวนี้ ตั๋วเครื่องบินราคาพันกว่าๆ สูสีกับค่าตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งหรือรถทัวร์ระดับเทพ ทำให้คนเริ่มคุ้นชินกับการใช้เครื่องบินมากขึ้น จนเป็นไปได้ว่าจะใช้บริการเครื่องบินในการเดินทางในประเทศแทนรถไฟรถทัวร์มากขึ้น ซึ่งยิ่งช่วยให้นกแอร์และแอร์เอเซียน่าจะทำกำไรได้มากขึ้นอีกด้วย หลังจากซบเซามาระยะหนึ่ง

หากจะเปรียบเทียบการบินไทยกับไทยแอร์เอเซียหรือนกแอร์ ก็คงจะเหมือนเปรียบมวยผิดรุ่น ถ้าจะวัดกันจริงๆ ต้องมองให้ไกลออกไป อย่างน้อยก็ต้องเป็นพรีเมี่ยมแอร์ไลนส์ด้วยกันในภูมิภาค มองไปรอบๆตัวเรา หลายสายก็ประสบปัญหาเหมือนๆกับเรา เนื่องจากสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของโลก จะมียกเว้นก็พวกสายป่านยาวเงินทุนหนาจากตะวันออกไกล อย่างนั้นเราคงไปเปรียบเทียบไม่ได้

สิงคโปร์แอร์ไลนส์ สายการบินแห่งชาติของสิงคโปร์ เมื่อเทียบกำไรสุทธิ เปรียบเทียบเดือนมีนาคมของปีนี้กับมีนาคมปีที่แล้ว กำไรลดลงจาก 378.9ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลงมาเหลือ 359.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ทั้งๆที่รายรับค่อนข้างคงที่ ทั้งนี้เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังกำไรอยู่ ทั้งนี้ สิงคโปร์เคยทำกำไรสุทธิในเดือนมีนาคม 2011 ได้ถึง 1092ล้านเหรียญสิงคโปร์ หลังจากนั้นตัวเลขก็ลดลงมาอยู่ในหลัก 300กว่าล้านเหรียญสิงคโปร์มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตหลังจากปี2011 สูงขึ้นทุกปี แต่กลับสร้างรายได้ไม่มากขึ้นตาม ทำให้กำไรสุทธิที่เคยทำได้ดีในปี2011 กลับลดลงมา แต่อย่างน้อย สิงคโปร์แอร์ไลนส์ก็ยังทำรายได้คงที่ ไม่ลดลงฮวบฮาบ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีผลกระทบทางการเมืองเหมือนไทย และความฉลาดในการสร้างมูลค่าและโปรโมทประเทศสิงคโปร์เองอย่างสม่ำเสมอ

คาเธ่ย์แปซิฟิค ของฮ่องกง ทำผลประกอบการได้ลุ่มๆดอนๆ แต่ก็ทำกำไรมาตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา โดยที่รายรับขยับขึ้นทุกปีๆประมาณ1000ล้านเหรียญฮ่องกงในขณะที่ต้นทุนการจัดหาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตกลับก้าวกระโดดจากปี2010 เป็นต้นมา ทำให้Gross Profit ลดลงมากอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิก็เป็นบวกมาโดยตลอด เพียงแต่ขึ้นๆลงๆตามรายได้หรือรายจ่ายที่ไม่ใช่จากการบินโดยตรงเท่านั้น

การูด้า สายการบินแห่งอินโดนีเซีย สามารถสร้างรายรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละสองร้อยล้านเหรียญสหรัฐมาตั้งแต่ปี2012 แต่เป็นเพราะต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นพอๆกัน บวกกับไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ตัวเลขกำไรสุทธิเมื่อปลายปี2013 หล่นลงมาอยู่ที่ 11ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี2012 ที่เคยทำกำไรสุทธิได้ 110ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ก็ยังมีกำไร อย่างน้อยสถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่ฉุดกระชากให้การูด้าแย่ลงไป

มาเลเซียแอร์ไลนส์ เพื่อนบ้านของเรา  ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011 โดยในปี2013 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 1173 ล้านริงกิต ทั้งๆที่รายรับมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่สามารถควบคุมต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าคงคลังได้ดี ดูๆแล้วแย่กว่าการบินไทยด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้กำไรมาหลายปีแล้ว

แจแปนแอร์ไลนส์ หลังจากทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง ทำให้กลับมากำไรในปี2012 และทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะควบคุมต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขายอย่างจริงจัง เดือนมีนาคม 2014 ทำกำไรสุทธิ 166251ล้านเยน น่าปรบมือให้จริงๆ

สายการบินโคเรียนแอร์ไลนส์ แห่งเกาหลีใต้ ก็มีผลงานลุ่มๆดอนมาตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมา กำไรจากการทำธุรกิจจริงๆเริ่มติดลบเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี2013 จากที่สามารถทำได้เป็นบวกมาตั้งแต่ปี2010 โดยที่ขาดทุนสุทธิในปี2013 เป็นจำนวนเงิน 224994ล้านวอน สาเหตุหลักๆมาจากรายรับที่ลดลงและมีค่าใช้จ่ายจากค่าเสื่อมราคาที่มากขึ้น ที่น่าสังเกตุคือโคเรียนแอร์ไลนส์ขาดทุนจากการลงทุนอื่นๆที่ไม่ใช่การบิน เป็นจำนวน 255569ล้านวอน ซึ่งฉุดให้กำไรสุทธิติดลบทันทีด้วย

จากตัวอย่างที่ยกมาให้ดู จะเห็นได้ว่า หลายๆสายๆการบินที่ทำธุรกิจการบินในลักษณะที่คล้ายๆกับการบินไทย ก็อยู่ในภาวะลุ่มๆดอนๆเช่นกัน ธุรกิจการบินเป็นอะไรที่ปราบเซียนมากๆ ยิ่งถ้ามาเจอสถานการณ์การเมืองไม่สงบแบบมาราธอนอย่างบ้านเรายิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นถ้าอยากจะอยู่กันให้รอดนานๆ เราต้องเอาวิกฤตมาใช้ให้เป็นโอกาสกันดีกว่า ทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง หลายๆอย่าง เราช่วยกันได้ตั้งแต่วันนี้ด้วยตัวพนักงานเอง เริ่มจากทำงานให้คุ้มค่าเงินที่บริษัทจ่าย ไม่โกงบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม ช่วยกันชี้เบาะแสคนโกง ชื่นชมและสนับสนุนให้คนเก่งและมีความรับผิดชอบได้มีโอกาสเข้าทำงานในหน้าที่สำคัญ ฝึกคิดแต่ในเชิงบวก ช่วยกันคิดหาหนทางสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นสายการบินแห่งชาติไทยของเรา

ระหว่างรอพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยผ่าตัดใหญ่ ตัวประกอบอย่างเราก็ทำให้หนังแฮปปี้เอนดิ้งได้เหมือนกัน

แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนแล้วครับ

ภาพประกอบ : www.fastcompany.com
—————————————————————————————

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

14 มิถุนายน 2557

อันนี้มิได้มโน เรื่องจริงจากบนเครื่องบิน

อันนี้มิได้มโน เรื่องจริงจากบนเครื่องบิน

ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้โดยสารระดับแพลตินั่มของการบินไทยท่านหนึ่งระหว่างการเดินทางทริปสั้นๆในประเทศ  เป็นนักธุรกิจไทยเชื้อสายอินเดีย ท่านเดินทางบ่อยมากๆโดยเลือกบินกับการบินไทยเป็นหลัก ไม่ว่าจะต่างประเทศหรือในประเทศ จึงได้ขออนุญาตสอบถามความเห็นบางอย่างเกี่ยวกับการบินไทย มีคำตอบที่ผมสนใจมากๆเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบิน ท่านบอกผมว่า ที่เลือกการบินไทยเป็นหลัก เพราะเห็นว่ามีความปลอดภัยสูงมาก และทำให้เห็นได้ชัดเจน ท่านได้ยกตัวอย่างให้ผมฟังอีกหลายอย่างที่ไม่ประทับใจในการดูแลเรื่องความปลอดภัยในการบินของสายการบินอื่นๆที่เป็นคู่แข่ง

ผมถามไปว่า เรื่องความปลอดภัยที่การบินไทยมีอยู่สามารถใช้เป็นจุดขายทางการตลาดได้หรือไม่ ท่านตอบว่าได้สิ โดยเฉพาะลูกค้าแบบผมๆนี่แหละ มีกำลังซื้ออยู่แล้ว ขอเรื่องความปลอดภัยมาก่อน 

อีกเรื่องนึงที่ท่านรู้สึกผิดหวังกับการบินไทยคือ ผู้โดยสารระดับโกลด์หรือแพลตินั่ม ต้องการให้พนักงานให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ขอแค่ขึ้นเครื่องมาแล้วเข้ามาทักทายขอบคุณที่เป็นลูกค้าชั้นดีของการบินไทย แค่นี้ก็ผูกใจให้อยู่ต่อได้อีกยาว

ผู้โดยสารระดับโกลด์หรือแพลตินั่ม จะเดินทางบ่อยมากๆ และไม่ได้เรียกร้องเรื่องการบริการเต็มรูปแบบบนเครื่องเท่าใดนัก ส่วนใหญ่จะนอนหลับ อ่านหนังสือ แทบไม่ทานอะไรเท่าไหร่ แต่ขอความสงบและสะดวกเป็นหลัก ไม่เหมือนกับผู้โดยสารบิสซิเนสคลาสหรือเฟิร์สคลาสทั่วไป ที่อาจจะนานๆขึ้นเครื่องบินแต่เก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อมาใช้บริการระดับสูงจากการบินไทย หรือผู้โดยสารที่อัพเกรดขึ้นมา(ทุกรูปแบบ)ที่จะใช้บริการเต็มพิกัด กินมันทุกอย่าง ดื่มจนเมามาย อย่างที่การบินไทยพยายามจะเน้นเรื่องอาหาร ผู้โดยสารอย่างนี้ โอกาสน้อยที่จะกลับมาใช้บริการอีก เพราะเรื่องค่าตั๋วเป็นปัจจัยในการเลือกใช้บริการ

ท่านบอกผมว่า ถ้าเป็นระดับแพลตินั่ม การจองตั๋วหรือการเช็คอินดีมากๆที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่พอขึ้นเครื่องแล้วบ่อยครั้งที่ไม่ได้รับการทรีตที่แตกต่าง มันเหมือนกับผู้โดยสารทั่วไป จึงเกิดการเปรียบเทียบทันที แล้วเดี๋ยวนี้ผู้โดยสารระดับโกลด์เยอะมากๆ เดินทางไปกลับอเมริกาสักสองรอบก็เป็นได้แล้ว(แต่เดี๋ยวนี้ทราบว่าเป็นยากขึ้น) แต่ระดับแพลตินั่มยังมีน้อยมากเป็นหลักร้อย จึงอยากจะแนะนำการบินไทยว่า ทำให้แพลตินั่มอย่างท่านแตกต่างจากระดับรองลงมาได้หรือไม่ พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เมื่อเป็นแพลตินั่มแล้ว น่าจะมีสมนาคุณอะไรเพิ่มเติมบ้างระหว่างการเพิ่มขึ้นของไมล์เดินทางหรือคะแนนสะสม ท่านยกตัวอย่างว่า สายการบินชั้นนำของโลกจะส่งของที่ระลึกหรือสิทธิในการเดินทางลดราคามาให้แทนคำขอบคุณ อาจจะระบุเวลาในการใช้สิทธิ์ก็ได้ไม่ว่ากัน ผู้โดยสารจะใช้หรือไม่เป็นอีกเรือง แต่สิ่งที่การบินไทยได้แน่ๆจากผุ้โดยสารระดับนี้คือ BRAND LOYALTY ที่มีมูลค่าต่อเนื่องมากมายกว่าเงินที่ลงทุนไปนิดๆหน่อยๆ

สรุปได้ง่ายๆจากการพูดคุยกับลูกค้าชั้นดีท่านนี้  การจะรักษาลูกค้าชั้นดีเอาไว้ คือ เน้นประชาสัมพันธ์ความปลอดภัยในการบินและนำเสนอกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งความปลอดภัยให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะพนักงานFront line ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้โดยสารต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในเรื่องความปลอดภัย และสร้างความรู้สึกดีๆกับลูกค้าชั้นดีมากๆโดยมอบสิทธิ์พิเศษอย่างต่อเนื่องให้ผู้โดยสาร เป็นการซื้อความรู้สึกดีๆและความเป็นแฟนพันธ์ุแท้การบินไทยเอาไว้โดยการลงทุนไม่มาก แต่ได้กลับคืนมาเยอะกว่า

ในความเห็นของผม มิใช่ว่า ผู้โดยสารของการบินไทยทั่วไป ไม่ต้องให้ความสำคัญ ลูกค้ายังไงก็เป็นพระเจ้าสำหรับเรา แต่เราก็ต้องทราบดีว่า การโฟกัสให้ตรงจุดว่า ความต่อเนื่องในการทำให้ลูกค้าชั้นดีกลับมาใช้บริการซ้ำๆมันต้องทำอย่างไร และกลุ่มลูกค้าแบบไหนที่จะสร้างกำไรให้เราอย่างต่อเนื่องและมีมาร์จิ้นกว่ากัน อันนี้น่าจะต้องดูกันอย่างจริงๆจัง และต้องรีบปรับปรุงโดยด่วน 

ถ้าทำกันจริงๆ ทำกันทั้งระบบ ลูกค้าชั้นดีจะเป็นผู้โฆษณาให้การบินไทยเองโดยไม่ต้องลงทุนไปจ้างCNN BBC TIMES หรืออะไรให้สิ้นเปลืองเกินเหตุ และการบินไทยก็จะกลับมาเทคออฟอีกครั้ง เชื่อผม



ภาพประกอบ : www.businessclassinternational.co.uk

———————————————————————————
ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

11 มิถุนายน 2557

เป็นมโนของผมล้วนๆ My fiction, not real

เป็นมโนของผมล้วนๆ My fiction, not real 

ณ สายการบิน HighCost Airlines  นักบิน Generation X พยายามโน้มน้าวไม่ให้นักบิน Generation Y ลาออก

นักบิน Generation X: ทำไมไม่รักองค์กรเลย บริษัทเราจ่ายเงินเลี้ยงดูและสร้างน้องๆขึ้นมา แล้วน้องจะยังอยากย้ายไปอีกเหรอ รู้มั๊ยอยู่ที่นี่สบายสุดแล้ว ลองไปเทียบดูได้นะน้อง

นักบิน Generation Y: ครับพี่ ( แต่ในใจคิดว่า “ มันเรื่องของกูนิ    Generation Y อย่างพวกกูก็อยากก้าวหน้าในอาชีพนะโว้ย แล้วเรื่องรักองค์กรมันเกี่ยวอัลไลเนี่ย?” )

นักบิน Generation X: ปัญหาที่น้องคิดว่า เป็นสาเหตุที่น้องต้องการย้ายออกคืออะไร บอกพี่ได้มั๊ยครับ ?

นักบิน Generation Y: ผมอยากเป็นกัปตันเร็วๆครับพี่ ที่อื่นเค้าเป็นกันเร็ว เพื่อนผมที่สายการบินอื่นเป็นกันหมดแล้ว ( แต่ในใจคิดว่า “ กูเบื่อมึงอ่ะ ไม่เคยฟังพวกกูเลย ถามอะไรไป ก็บอกแต่ว่าเป็นนโยบายบริษัท แก้ไขอะไรไม่ได้ ดีแต่พูดเรื่องเก่าๆ แล้วยังบังคับให้กูทำตามทุกอย่าง เวร”)

นักบิน Generation X: อยากจะให้ทบทวนใหม่นะครับ พี่เสียดายน้องๆที่ใกล้จะถึงฝั่งแล้ว เหลืออีกนิดเดียวเอง ถ้าขอให้ น้องอยากได้อะไรครับ ที่จะทำให้ไม่ลาออก

นักบิน Generation Y: ผมอยากได้ค่าตอบแทนเพิ่มครับ ตอนนี้เงินเดือนผมน้อยกว่านักบินอายุงานเท่ากันในสายการบินข้างเคียงแล้วครับ ( แต่ในใจคิดว่า “ นิดเดียวอะไรหล่ะ อีกตั้งนาน แล้วที่ไปหน่ะ ไม่ใช่เรื่องเงินหรอก เพียงแต่สายการบินข้างเคียงเค้าทำให้ผมรู้สึกว่า ผมสำคัญสำหรับองค์กรของเขา และต้องการผมจริงๆ แค่นั้นเอง “ )

นักบิน Generation X: พี่เสียดายน้องมากนะครับ แต่ถ้าตัดสินใจแล้ว ก็คงต้องเคารพการตัดสินใจนะครับ ( แต่ในใจคิดว่า “ มึงไปเสียเถอะ กูเบื่อคุยกับมึงเต็มที่แล้ว อีกอย่าง ทำไมกูต้องแคร์มึงด้วย หาใหม่ก็ได้วะ “ )



ภาพประกอบ : www.fatherlyadviceandrants.com

———————————————————————————
ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

In my opinion about THAI ground and flight service

ความเห็นส่วนตัว

ในช่วงนี้ที่บ้านเมืองของเราเพิ่งเกิดความชัดเจนทางการเมือง ผู้โดยสารต่างชาติลดน้อยลงไปเพราะยังไม่แน่ใจในความปลอดภัยหรืออะไรก็ตามที สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตุเห็นได้คือ ผู้โดยสารชั้นธุรกิจของการบินไทยยังคงมีอัตราการเดินทางที่สูงอยู่ อย่างน้อยก็มากกว่าชั้นประหยัดในสัดส่วนที่เปรียบเทียบกัน ผมคิดว่า แบรนด์การบินไทยยังคงมีเสน่ห์และความดีที่รุ่นพี่ๆทำไว้ให้กับรุ่นน้องๆยังมีผลต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ผู้โดยสารที่ติดใจในการบริการของการบินไทยยังคงมีอยู่มาก แต่การสร้างฐานผู้โดยสารใหม่ยากกว่าหลายเท่า เป็นเพราะคู่แข่งแข็งแกร่งมากขึ้นแต่เราลดความเข้มลงไป

พนักงานที่ต้องติดต่อกับผู้โดยสารโดยตรงอย่างพนักงานเช็คอิน กราวด์สต๊าฟ ลูกเรือ พนักงานขายตั๋ว พนักงานCall Center เหล่านี้ สำคัญมากๆต่อความอยู่รอดของบริษัทและผลกำไรของบริษัท เพราะต้องเป็นผู้รับศึกหนักตลอด รวมทั้งการพูดจาและให้ข้อมูลทุกอย่างมีผลต่อการกลับมาใช้บริการอีก ผมเองเวลาเดินทางไปไหนกับสายการบินอื่น ก็มักจะเปรียบเทียบกับสายการบินของตัวเองเสมอ หลายๆอย่าง เรามีดีกว่ามากๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกนุ่มนวล ให้เกียรติผู้โดยสารอย่างสูง รวมไปถึงความใส่ใจและการคาดเดาได้ถึงความต้องการของผู้โดยสารแต่ละท่าน และพยายามจะทำให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ สิ่งนี้มันต้องฝึกฝนและตั้งใจสังเกตุอากัปกิริยาของผู้โดยสารเสมอๆเพื่อเป็นข้อมูลในการรับมือและดูแลต้อนรับผุ้โดยสารทุกท่าน ให้รู้สึกว่าเราเข้าใจ เราจะพยายามดูแลท่านให้ดีที่สุด โดยต้องไม่แสดงอาการไม่พอใจออกมา

เรื่องอย่างนี้มันไม่ใช่การเสแสร้งทำ แต่มันคือการพยายามเข้าใจผู้โดยสารในฐานะมนุษย์ปุถุชนเหมือนเราๆที่มีความคาดหวังจากการบริการ ดังนั้นผู้ที่เป็นหัวหน้างานที่ดูแลแต่ละส่วนเหล่านี้ จำเป็นต้องหมั่นคอยดูแลตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้กระทำอะไรที่จะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกเหมือนกับไม่ได้รับความสนใจ อันนี้เป็นโจทย์หลักที่สำคัญมากๆสำหรับธุรกิจบริการ

เรื่องง่ายๆแต่ถ้าพลาด มันจะพังกันทั้งบริษัท

ภาพประกอบ: www.i149.photobucket.com
————————————————————————
ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

7 มิถุนายน 2557

เครื่องผลิตเงินสด

การเริ่มทำธุรกิจใดๆก็ตาม เจ้าของหรือผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจบัญชีบริหารอย่างถ่องแท้และนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการนั้นๆให้ได้กำไรและอยู่รอด ถ้าท่านๆที่เคยเรียนบัญชีมาบ้าง ก็พอจะจำกันได้ ในงบดุลของบริษัท ด้านขวาคือส่วนของเงินทุนที่ได้มาจากสองแหล่งคือ จากส่วนของเจ้าของ และจากการกู้ยืม ส่วนทางด้านซ้ายของงบดุล ก็คือการนำเอาเงินจากด้านขวามาเปลี่ยนไปเป็นสินค้าหรือบริการ ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพย์สินหมุนเวียน และ ทรัพย์สินถาวร

ทรัพย์สินถาวร เปรียบเสมือนเครื่องผลิตเงินสด เราเอาเงินที่ระดมมาได้จากฝั่งขวาของงบดุล เทใส่เครื่องผลิตเงินสดตัวนี้ เพื่อผลิตสินค้าหรือทรัพย์สินหมุนเวียนออกมาจำหน่าย เมื่อได้เงินสดกลับมา ก็นำเงินสดบางส่วนกลับมาเทใส่เครื่องผลิตเงินสดอันนี้อีก เป็นวัฎจักรไปเรื่อยๆ บริษัทที่อยู่รอดและทำกำไร จะต้องบริหารจัดการเครื่องผลิตเงินสดให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอและจะต้องทำงานตลอด จะหยุดก็ต่อเมื่อต้องซ่อมแซมปรับปรุงบ้าง

การได้มาของทรัพย์สินถาวร เราได้มาจากสองแหล่งเงิน ตามหลักการ เราควรจะใช้เงินทุนในส่วนของเจ้าของมาจัดหา แต่หากไม่พอ หรือเล็งเห็นว่าการกู้ยืมเงินจากภายนอกมาเพื่อซื้อเครื่องผลิตเงินสด น่าจะคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบดอกเบี้ยกู้ยืมกับรายรับที่ได้ หรือที่วงการการเงินเขาเรียกกันว่า เลเวอเรจ(Leverage) 

หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ชัดเจน ดีดลูกคิดแล้วว่าการตัดสินใจใช้เงินกู้ยืมมาจัดหาเครื่องผลิตเงินสดเพื่อมาดำเนินกิจการ น่าจะคุ้มกว่าการใช้เงินทุนส่วนของเจ้าของทั้งหมด เมื่อกู้มาซื้อทรัพย์สินถาวรแล้วเริ่มดำเนินกิจการได้ตามแผน ก็สามารถปั๊มเงินสดออกมาได้มาก เพื่อที่จะใช้เงินสดดังกล่าวส่วนหนึ่งมาเดินเครื่องต่อ อีกส่วนหนึ่งเอาไปใช้หนี้เงินกู้ ธุรกิจก็จะดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่หากตัดสินใจผิดพลาด หรือมีอะไรมาบังตากันทั้งฝ่ายบริหาร ไปหาเงินกู้มาจัดซื้อ โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อนว่า คุ้มหรือไม่ในระยะยาว ปัญหาที่ตามมาก็คือ เครื่องผลิดเงินสดไม่ได้ผลิตเงินสด เมื่อไม่ผลิต ก็ไม่มีเงินสดออกมาเพื่อนำมาเติมใส่เครื่องผลิตเงินสดต่อ และก็ไม่มีเงินสดไปจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อีกด้วย และก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าในส่วนของค่าใช้จ่ายทั่วไปก็ต้องมีผลกระทบด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

หันกลับมาดูการบินไทย เครื่องผลิตเงินสด หรือทรัพย์สินถาวรที่มีอยู่ บางส่วนไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ เครื่องบินหลายลำถูกจอดทิ้งเพราะเหตุผลที่บอกว่า บินแล้วไม่ทำกำไร ขาดทุนถ้าจะบิน เรื่องเหล่านี้มันฟ้องให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารช่วงที่ผ่านมา เครื่องบินแบบ A340-500 จำนวนสี่ลำ ที่การบินไทยสั่งซื้อมาเมื่อหลายปีก่อน จอดนิ่งสนิทมาหลายเดือนเพราะเหตุผลที่ฝ่ายวางแผนบอกว่าบินไปก็เจ๊ง เลยหยุดทำงานดีกว่า ก่อนหน้าที่หลายเดือน เคยมีบริษัท AVCON ขอเสนอซื้อหนึ่งลำในราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐในขั้นต้น ดูไปดูมาขอต่อเหลือ 23.5ล้านเหรียญ ฝ่ายบริหารการบินไทยเลยตัดสินใจไม่ขายเพราะบอกว่าถูกเกินไป รอลูกค้ารายใหม่ซึ่งจนป่านนี้ยังเงียบกริบ

ไม่ว่าเหตุผลการหยุดบินเครื่องแบบ A340-500 จะถูกหรือผิดก็ตาม แต่ผลกระทบที่มองเห็นได้ชัดคือ บริษัทยังคงต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้หรือค่าเช่าเครื่องผลิตเงินสดตัวนี้ต่อไปไม่ว่าจะบินหรือไม่ก็ตาม  ผลที่ตามมาก็คือ เงินทุนส่วนของเจ้าของก็จะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆเพราะต้องเอาไปเติมใส่เครื่องผลิตเงินสด และต้องนำไปจ่ายค่าเช่าเครื่องบินที่จอดเฉยๆอีกด้วย

ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายบริหารของการบินไทยต้องเร่งทำโดยด่วนคือ กำจัดเครื่องบินที่ไม่ได้เป็นเครื่องผลิตเงินสดอีกแล้วออกไปโดยด่วน เพื่อเร่งนำเงินสดกลับมาเติมใส่เครื่องผลิตเงินสดและลดหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้เกิดกำไรสะสมต่อไปได้ วัฎจักรธุรกิจจึงจะเดินต่อได้ดีขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่เห็นว่ามีความคืบหน้าใดๆเลย เครื่องบินแบบดังกล่าวยังคงจอดนิ่งเป็นค่าใช้จ่ายและต้นทุนเสียโอกาสต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับมีคนไม่อยากให้ไปแตะมัน น่าจะมีอะไรอยู่ในกอไผ่

เสียดายเงินและเวลาที่ผ่านไปเรื่อยๆ ชีพจรของการบินไทยเต้นเบาลงแล้วนะครับ ท่านผู้บริหารที่รัก จะทำอะไรก็รีบทำเถอะ ก่อนจะสายเกินไป

ภาพประกอบ : www.the-fruit-stand.com

--------------------------------------

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ 
www.nuckbin.blogspot.com


5 มิถุนายน 2557

ธุรกิจการบินพลเรือนไทยประเทศไทย อะไรทำให้ไม่โต

ธุรกิจการบิน เหมือนเป็นอะไรที่ดูหอมหวาน น่าเข้ามาสัมผัส โดยเฉพาะถ้ายังจำกันได้ ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้คนในวงการศึกษาและหลายสถาบันให้ความสนใจในสาขาวิชาเกี่ยวกับการบิน ถึงขนาดเปิดทำการเรียนการสอนเกี่ยวกับการบิน ไม่ว่าจะเป็นสอนให้เป็นนักบิน เป็นแอร์ เป็นช่าง เป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้น รวมไปถึงการบริหารจัดการแอร์ไลน์ เป็นต้น ในช่วงนั้น บรรยากาศเกี่ยวกับการบินในประเทศไทยดูจะมองเห็นอนาคต น้องๆหลายคนที่มีความใฝ่ฝันในวัยเด็กอยากจะเป็นนักบิน เพราะเป็นอาชีพที่ดูดีมีเกียรติ เงินดี ได้เดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลก เฮกันเข้ามาเรียนการบิน ผ่านหลายๆสถาบันที่เปิดสอนไปพร้อมๆกับการเรียนในระดับปริญญาตรี โดยคาดหวังจะได้งานทำทันทีที่เรียนจบเพราะกระแสข่าวบอกว่า นักบินแอร์ไลน์ยังขาดแคลนอีกมากในโลก ค่าเรียนก็ไม่ได้ถูกเลย เป็นหลักสองล้านขึ้นไป บางคนฐานะทางบ้านไม่ได้ดี ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินไปเรียน พร้อมกับความหวังว่า ถ้าเรียนจบแล้ว จะได้เอาเงินที่ได้จากการเป็นนักบินไปใช้หนี้ที่กู้มา

จนแล้วจนรอด พอเรียนจบ กลับพบว่าโลกการบินไม่ได้เปิดรอรับพวกเขาอย่างง่ายๆ หลายคนดั้นด้นไปสมัครกับหลายสายบินในประเทศ พบว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมีไม่เพียงพอกับความต้องการจริงในเกือบทุกสายการบิน ส่วนบริษัทที่รับสมัครนักบินที่จบจากโรงเรียนการบินแบบใหม่ถอดด้ามก็แทบจะไม่มีเลย ส่วนใหญ่ต้องการนักบินที่มีประสบการณ์มาแล้วทั้งนั้น เพราะรับเข้ามาปุ๊บก็ใช้งานได้เลย 

สภาพเช่นนี้ เสมือนว่าอุปทาน(Supply)ที่มีในตลาดการบินมีอยู่มากแต่ไม่ตรงเป้าหมายเลยทีเดียวนัก ในประเทศสหรัฐอเมริกา นักบินที่จะมีสิทธิ์เข้าเป็นนักบินแอร์ไลน์ได้ จะต้องไปทำชั่วโมงบินหลังจากเรียนการบินจบมากพอ เพื่อสร้างประสบการณ์เสียก่อน อาจจะไปเป็นครูสอนการบิน ไปเป็นนักบินเกษตรพ่นยาฆ่าแมลงในไร่ เป็นนักบินรับจ้างพาบินชมวิวโดยใช้เครื่องลำเล็กๆแบบพาณิชย์เหมือนกัน อะไรทำนองนี้ เมื่อมีชั่วโมงบินพอ จึงจะมีโอกาสไปลองทดสอบที่สายการบิน จะเห็นได้ว่า การเปิดรับสมัครนักศึกษาไปเรียนการบินโดยไปสร้างความหวังให้ว่า จบแล้วมีงานทำแน่นอนเพราะนักบินขาด มันมีความจริงอยู่แค่ครึ่งหนึ่ง ไม่ได้บอกอีกครึ่งหนึ่งว่า จบแล้วต้องไปบินหาประสบการณ์ก่อนจึงจะมีโอกาส 

ผมเชื่อว่า ธุรกิจการบินของประเทศเรายังคงไปต่อได้เรื่อยๆ ตราบใดที่คนยังต้องการเดินทาง หลายสายการบินวางแผนขยายกิจการ ซื้อเครื่องบินมาเพิ่มเพื่อเปิดเส้นทางบินแข่งขันกันในประเทศและภูมิภาค ความต้องการนักบินยังมีอยู่ตลอด แต่ในเมื่อเราต้องการนักบินที่มีประสบการณ์การบินหลังจากจบจากโรงเรียนการบินพอสมควร แต่ไม่มีเวทีให้นักบินจบใหม่พวกนี้ได้สร้างเสริมประสบการณ์ เนื่องจากกลไกรัฐไม่ได้ช่วยสนับสนุนการบินพลเรือนโดยเฉพาะแบบที่ฝรั่งเรียกว่า General Aviationในประเทศเท่าที่ควร

การมีเครื่องบินมาครอบครอง การเปิดให้บริการรับขนส่งการบิน ยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากและหยุมหยิม เพราะฝ่ายรัฐไม่ได้ช่วยให้งานมันง่ายขึ้น เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ระเบียบข้อบังคับและกฏหมายการบินของบ้านเราก็ยังล้าหลังกว่าเพื่อนบ้าน มีผู้ลงทุนหลายรายพยายามจะทำธุรกิจการบินในประเทศไทย แต่ก็ม้วนเสื่อไปในเวลาไม่นาน ที่เหลืออยู่ก็ร่อแร่ จะมีรอดไปสวยๆก็ต้องอึดพอตัว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เวทีการบินที่จะให้น้องๆเหล่านี้ที่จบการบินมาใหม่ๆไปสร้างประสบการณ์ก็แทบจะไม่มี

การบ้านข้อนี้ ได้พยายามแก้ไขกันโดยทั้งภาครัฐและเอกชน แต่กลับกลายเป็นวิ่งไปชนตึก เพราะผู้ที่มีอำนาจพิจารณาสั่งการไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ มันขาดคำว่าวิสัยทัศน์ ถ้าท่านเดินทางผ่านไปแถวๆซอยงามดูพลี ถนนพระรามสี่ ที่นั่นเป็นที่ตั้งของกรมการบินพลเรือน หน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีหน้าที่กำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศเรา  ท่านจะเห็นตึกเก่าๆ กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่ตามได้รับมอบหมาย งบประมาณที่ผ่านเข้ามามีน้อยมาก เพราะผู้บริหารฝ่ายรัฐบาลที่ผ่านมามิได้เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศเรา จึงเรียกได้ว่า แทบไม่มีการเดินหน้าอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย ในความเห็นส่วนตัว บ้านเราควรจะมีหน่วยงานอิสระในรูปแบบรัฐวิสาหกิจขึ้นมาอีกหน่วย ทำหน้าที่เป็นผู้โปรโมตอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะ เพื่อความคล่องตัวในการบริการ ทำหน้าที่สนับสนุนการบินพลเรือนและการบินพาณิชย์ให้เติบโตสู้กับเพื่อนบ้านได้ 

มาเลเซีย เพื่อนบ้านของเรา ให้การสนับสนุนการบินพลเรือนอย่างมาก การบินเครื่องบินส่วนตัวเข้าไปในมาเลเซียไม่จำเป็นต้องขออนุญาตบินเข้า แค่ทำไฟลท์แปลน(Flight Plan)ส่งไปให้ก็บินเข้าได้ มีอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินส่งมาขายในเมืองไทยและประเทศอื่นๆ มาเลเซียไม่มีเก็บค่าบริการเดินอากาศเครื่องบินพลเรือน(Air Navigation Fee) และยินดีต้อนรับเครื่องบินส่วนตัวลำเล็กๆ เพราะเล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมการบินในประเทศจะช่วยโปรโมตอุตสาหกรรมการบินไปในตัว จึงมีกฏระเบียบที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน เรื่องอย่างนี้มันคือวิสัยทัศน์ครับ

อยากเห็นการบินพลเรือนในประเทศของเรามันเดินหน้าเร็วกว่านี้ เพราะมันคือการพัฒนาการบินทั้งระบบไปด้วย ลองคิดดูว่า ประเทศของเรา กว้างใหญ่กว่ามาเลเซีย มีพื้นที่ให้ทำสนามบินของพลเรือนอีกมากมาย หากกฏระเบียบของรัฐและการส่งเสริมสนับสนุนการบินพลเรือนโดยเฉพาะGeneral Aviationถูกปลุกขึ้นมาทำกันอย่างจริงๆจัง ผมเชื่อว่าเม็ดเงินมหาศาลที่มีคุณภาพจากนักลงทุนในอุตสาหกรรมการบินจะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเมืองไทยอย่างแน่นอน รวมไปถึงน้องๆนักบินที่จบใหม่ๆจะได้มีเวทีในการสร้างประสบการณ์การบิน เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะสายการบินที่จะได้นักบินที่มีประสบการณ์และมีคุณภาพเข้ามาทำงานให้ มันวินๆทุกฝ่ายครับ 

มาช่วยกันปลดล๊อคเถอะครับ ผมอยากเห็นการบินพลเรือนในประเทศเราพัฒนากว่านี้ 

ภาพประกอบ: www.flightglobal.com
---------------------------------------------
ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

4 มิถุนายน 2557

เสียงเครื่องบินกับการขัดขวางทางธุรกิจการบิน

ด้วยความที่คนยุโรปมีความต้องการสงบสุขส่วนตัวสูงมาก จึงให้ความสำคัญกับการรักษาความสงบเป็นพิเศษ ใครที่ไหนจะมาทำเสียงดังเอะอะมะเทื่องนี่ไม่ได้เลย โดนฟ้องร้องกันเป็นที่เอิกเกริก แม้แต่เรื่องการบินเองก็ยังต้องหลีกทางให้ หลายๆสนามบินในยุโรปมีช่วงเวลาเคอร์ฟิวไม่ให้เครื่องบินขึ้นลงในเวลากลางคืน จึงทำให้เกิดปัญหาการการจัดการบินของหลายๆสายการบินที่เห็นช่องทางธุรกิจแต่ทำไม่ได้เพราะติดเรื่องเคอร์ฟิวนี่แหละ 
นายอัล เบเกอร์ ท่านซีอีโอแห่งสายการบินกาตาร์แอร์เวยส์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ควรจะเปิดให้บริการสนามบินแบบ24/7 คือยี่สิบสี่ชั่วโมงทั้งเจ็ดวันในหนึ่งสัปดาห์ได้แล้วจ๊ะนายจ๋า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ลอนดอน ไม่อย่างนั้น จะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางการบินให้กับดูไบหรือโดฮาก็เป็นได้
“ เรื่องที่สนามบินในยุโรปไม่ให้บินขึ้นลงในช่วงเวลาตั้งแต่ห้าทุ่มจนถึงตีห้าครึ่งนี่มันเป็นการขัดขวางการเติบโตของยุโรปชัดๆ โดยเฉพาะเส้นทางการบินจากตะวันออกมาตะวันออก ถ้าไม่ขยายขนาดแอร์พอร์ตที่ฮีทโธรว์หรือแก๊ตวิค ลอนดอนก็อาจจะถูกแซงหน้าไปโดยสนามบินอื่นๆที่ใกล้เคียง เพราะผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินอื่นๆเพื่อต่อเข้ามาที่ลอนดอน”
นายเบเกอร์ยังให้ความเห็นอีกว่า คนในอังกฤษทำไมต้องเซ้นซิถีฟกับเรื่องเสียงเครื่องบินนักหนา เขากล่าวอีกว่า “ คนในกาตาร์ไม่เห็นจะอะไรกับเสียงเครื่องบินเท่ากับในยุโรป ผมว่านะ ลองคุณมีบ้านอยู่ใต้เส้นทางขึ้นลงของเครื่องบิน สักพักคุณก็จะแทบไม่ได้ยินเสียงแล้ว เพราะมันจะกลายเป็นความเคยชิน”
เออ จริงของมัน
แหล่งข่าว : www.arabianaerospace.aero
ภาพประกอบ : www.noisecontrol.com
--------------------------------------------
ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

Etihad takeoff, Thai Airways landing?


Etihad takeoff, Thai Airways landing?


เพื่อนนักบินแอร์ไลนส์ในประเทศไทยของผมหลายคน ออกไปตกทองนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินเจ้าหนึ่งในเอเซียตะวันออกกลางที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2003 นั่นคือสายการบินเอทิฮัด แห่งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศแห่งนี้มีสายการบินระดับโลกอยู่สองสาย อีกหนึ่งเจ้าคือ เอมิเรตส์แอร์ไลนส์ ซึ่งมีฐานการบินตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานดูไบ ทั้งสองสายการบินต่างก็แข่งขันกันในตลาดโลกอย่างคึกคัก ผลกำไรตอบแทนที่รายงานต่อสื่อทั้งหลายออกมาในแง่บวก นั่นอาจจะเป็นเพราะเงินถุงเงินถัง รัฐบาลสนับสนุนทั้งเรื่องการเงินและการโปรโมตผ่านสื่อยักษ์ใหญ่ทั่วโลก และมองไกล จึงไม่ยากที่จะประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ เค้าบริหารอย่างมืออาชีพ จ้างผู้บริหารต่างชาติที่เป็นมืออาชีพ ข้อดีคือไม่ต้องมีความลำเอียง ว่ากันตามกติกาสากล ดีคือดี ผิดคือผิด ทำไม่ได้ก็เดินออกไป ทำได้ดีได้รางวัลและทำต่อไป แฟร์เกม 

ชื่อของเอทิฮัด ซึ่งเป็นภาษาอารบิค มีความหมายว่า “ สหภาพ “หรือ "Union" ในภาษาอังกฤษ ฟังดูดี เพราะมันหมายถึงร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันทำให้สำเร็จสมหวังทุกคนที่เป็นสมาชิกนั่นเอง สายการบินเอทิฮัดทำการบินมากกว่าหนึ่งพันเที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไปยัง 96 จุดหมายเดินทางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป เอเซีย ออสเตรเลีย และทวีปอเมริกา มีเครื่องบินเกือบ90 ลำ ทั้งของแอร์บัสและโบอิ้ง ในปี2012 ทำกำไรได้ถึง 42ล้านเหรียญสหรัฐ 

เอทิฮัดเป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับที่สี่ในตะวันออกกลาง และเป็นอันดับสองรองจากสายการบินเอมิเรตส์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยกัน นอกจากธุรกิจสายการบิน เอทิฮัดยังทำธุรกิจทัวร์และขนส่งสินค้าอีกด้วย เอทิฮัดมีศูนย์การบินตั้งอยู่ที่สนามบินอาบูดาบี และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงคาลิฟา เอทิฮัดเพิ่งมารายงานว่ามีกำไรจริงๆก็เมื่อปี 2011 ที่ผ่านมานี่เอง คือมีกำไร14ล้านเหรียญสหรัฐ ตามแผนกลยุทธ์ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี2006 ว่าจะเริ่มเห็นกำไร โดย เจมส์ โฮแกน ซีอีโอของเอทิฮัด

ในเดือนธันวาคม 2011 เอทิฮัดประกาศการเข้าไปถือหุ้น 29.21%ในสายการบินแอร์เบอร์ลิน (Air Berlin)สายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับหกของยุโรป จากนั้นก็ทำแบบเดียวกันกับกับอีกหลายสายการบินในโลก ไม่ว่าจะเป็น แอร์ซีเชลส์(Air Seychelles) ซึ่งมีหุ้นอยู่ 40 % สายการบินแอร์ลิงกัส(Air Lingus) มีหุ้นอยู่ 2.987% สายการบินเวอร์จินออสเตรเลีย (Virgin Australia)มีอยู่10% นอกจากนี้ยังเริ่มเจรจาเพื่อเข้าถือหุ้นในสายการบินเจ็ทแอร์เวยส์(Jet Airways)ของอินเดีย 

วันที่ 1 สิงหาคม 2013 เอทิฮัดเซ็นสัญญาถือหุ้น49%กับสายการบินแห่งชาติของเซอร์เบีย เดิมชื่อ Jat Airways/Air Serbia โดยรัฐบาลเซอร์เบียถือหุ้น51% และเปลี่ยนชื่อสายการบินเป็น Air Serbia 

ในปีเดียวกันนี้เอง ในงานดูไบแอร์โชว์ เอทิฮัดได้ประกาศว่ากำลังจะได้ถือหุ้นจำนวน33.3% ของสายการบินดาร์วินแอร์ไลน์ ซึ่งดำเนินกิจการอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ และได้เปลี่ยนแบรนด์เป็น เอทิฮัดริจินัล (Etihad Regional) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2014 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เอทิฮัดก็กำลังบรรลุข้อตกลงในการเข้าถือหุ้นใหญ่ในสายการบินแห่งชาติของอิตาลี นั่นคือ อาลิตาเลีย นั่นหมายถึง การเข้าสู่ยุทธจักรการบินในยุโรปอย่างมั่นคงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

หันมาดูบ้านเรา การบินไทยเองประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมาหลายไตรมาส เราเคยยิ่งใหญ่ในสมัยก่อน แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เคยได้เปรียบ ตอนนี้ไม่ได้เปรียบแล้ว หลายเรื่องเริ่มเสียเปรียบแล้วด้วย ผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นว่า ถ้าจะรักษาสายการบินแห่งชาติของเราไว้ ต้องทำเดี๋ยวนี้ 

แย่นิดนึงตรงที่ ป่านนี้ยังหาผู้มานำไม่ได้เลย ต้องรอกระบวนการสรรหาดีดี คือซีอีโอ คนใหม่ ใช้เวลานานและเยิ่นเย้อ ผมเชื่อว่า องค์กรใหญ่ๆที่มีการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมาร์จิ้นต่ำและใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ผู้ที่จะเข้าร่วมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ คงต้องการเห็นผู้นำองค์กรที่นำเชื่อถือ เคยมีผลงานให้เห็นเป็นประจักษ์ในวงการธุรกิจ ยิ่งเกี่ยวกับการบินได้ยิ่งดี มิฉะนั้น คงไม่กล้าเอาเงินมาลงทุนแน่นอน 

อย่างไรก็ดี ความเป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้ว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีฟรีโฟลตเกือบ 30% แต่ก็ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างเหนียวแน่น ไล่ไปตั้งแต่ผังการบริหารทีฟุ่มเฟือยแบบเหมือนจะรอบคอบแต่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันในตลาดโลกเพราะกลัวจะผิดกฏหมาย อีกทั้งบุคลากรในบริษัทเองก็ยังเป็นลักษณะเตี้ยอุ้มค่อม ไม่ได้สร้าง smooth flow ในการทำงาน จึงอืดอาด เชื่องช้า รอวันล้มหายตายจาก เป็นลักษณะ Passive management คือตั้งรับกันท่าเดียวเลย คนเก่งๆก็เคยมีอยู่เยอะ เดี๋ยวนี้ กระโดดหนีหายไปก็เยอะ 

ดังนั้น จะคาดหวังให้อยู่ดีๆกลับมาเดินเครื่องเต็มสูบกันในไม่กี่เดือน โดยที่ไม่มีหัวเครื่องของจริงนำเครื่องบินพุ่งทะยานขึ้นฟ้า ผู้โดยสารอย่างผมๆคงไม่กล้าขึ้นหรอก เชื่อเหอะ

แหล่งข่าว : en.wikipedia.org

ภาพประกอบ : www.nycaviation.com , www.i47.photobucket.com

--------------------------------------------

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

3 มิถุนายน 2557

ใครอยากเป็นเจ้าของร่วมสายการบินน้องใหม่ ยกมือขึ้น

ใครอยากเป็นเจ้าของร่วมสายการบินน้องใหม่ ยกมือขึ้น

มาลองดูบิสซิเนสโมเดลใหม่ๆของสายการบินน้องใหม่ในอังกฤษกันบ้างครับ เผลอๆเราๆท่านๆอาจจะได้เป็นเจ้าของแอร์ไลนส์กันนะ

สายการบินโอดิสซี แอร์ไลนส์ (Odyssey Airlines)วางแผนซื้อเครื่องบินแบบ Bombardier CSeries จำนวนสิบลำเพื่อทำการบินรับส่งผู้โดยสารเฉพาะชั้นธุรกิจเท่านั้นในเส้นทางลอนดอน-นิวยอร์ค โดยผู้โดยสารไม่ต้องฝ่าการจราจรคับคั่งไปแย่งใช้บริการที่สนามบินลอนดอนฮีทโธรว์ เพียงแค่นั่งรถไฟสบายๆไปลงที่สนามบินลอนดอนซิตี้ ซึ่งอยู่ในย่านกรุงลอนดอน แล้วก็เดินสบายๆไปขึ้นเครื่องเพื่อนั่งเครื่องบินนอนสต๊อปไปนิวยอร์ค

สายการบินนี้จะเปิดให้บริการในปี2016

“ เรากำลังมองหาตลาดผู้โดยสารชั้นธุรกิจครับ และเราจะใช้เครื่องบินที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพด้านเชื้อเพลิงที่สุดด้วย นอกจากนี้ผู้โดยสารของเรายังไม่ต้องเสียเวลาในการมาขึ้นเครื่องอีกด้วย” นาย อดัม สก็อต(ชื่อเหมือนนักกอล์ฟ) ซีอีโอของสายการบินน้องใหม่กล่าว

สายการบินโอดิสซีวางแผนธุรกิจโดยจะเริ่มใช้งานเครื่องบิน40ที่นั่งอย่าง Bombadier CSeries ทำการบินนอนสต๊อปจากสนามบินลอนดอนซิตี้ไปยังกรุงนิวยอร์คและที่อื่นๆด้วย

ที่น่าสนใจคือ ทางสายการบินพยายามสร้างความแปลกใหม่ในการลงทุนโดยการเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาลงขันผ่านทางเว็บไซด์ CROWDCUBE ซึ่งมีชื่อเสียงมาก่อนอยู่แล้วในการเปิดระดมทุนผ่านรายการทีวี ทางโอดิสซีต้องการเงินทุนจาก CROWDCUBE ประมาณ 1ล้านปอนด์ บวกกับการระดมทุนในลักษณะนี้อีก4ล้านปอนด์ และในขณะนี้ได้เงินทุนจากนักลงทุนทั่วไปและการกู้ยืมมาแล้ว 5ล้านปอนด์ แต่โดยรวมแล้ว ต้องการเงินทุนเกือบ 60ล้านปอนด์ในการจัดตั้งและดำเนินการธุรกิจการบิน

สายการบินโอดิสซีคาดหวังในการสร้างลูกค้าและความนิยมชมชอบโดยใช้วิธีการระดมเงินจาก CROWDCUBE

“เราพยายามที่จะสร้างชื่อให้ติดหูและสร้างภาพลักษณ์ไปในตัวครับ มันเป็นหนทางที่จะเข้าสู่ลูกค้าในอนาคตของเราด้วย “ ท่านซีอีโอแห่งสายการบินน้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์กล่าว

สายการบินที่เคยเปิดให้บริการชั้นธุรกิจอย่างเดียวแต่ก็พับฐานไปหมดแล้ว ได้แก่ EOS ,Maxjet และ Silverjet ซึ่งพยายามที่จะใช้บิสซิเนสโมเดลเช่นนี้ในช่วงปี2007-08 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่รูปแบบของสายการบินเหล่านี้ไม่เหมือนกับของโอดิสซีซะทีเดียว คือใช้เครื่องบินรุ่นเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพ และใช้สนามบินที่ห่างจากตัวเมืองหลวงของอังกฤษเป็นฐานบิน

นอกจากจะใช้สนามบินลอนดอนซิตี้เป็นฐานการบินแล้ว โอดิสซีแอร์ไลนส์จะใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ที่ประหยัดน้ำมันกว่า 20% และมีค่าใช้จ่ายในการบินโดยรวมเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าเครื่องบินคู่แข่งเกือบ 15%

หากลองเปรียบเทียบแล้ว คู่แข่งของใกล้เคียงที่สุดของโอดิสซี ก็น่าจะมีแต่ บริติชแอร์เวยส์ แต่เครื่องบินแบบ A318ของบริติชแอร์เวยส์ไม่สามารถจะบินนอนสต๊อปจากสนามบินลอนดอนซิตี้ไปยังนิวยอร์คได้ เนื่องจากรันเวย์ที่นี่สั้นเกินไปที่ A318จะวิ่งขึ้น คือยาวเพียง 4000ฟุตเท่านั้น เลยต้องไปลงจอดกลางทางที่ไอร์แลนด์เพื่อเติมน้ำมันก่อนจะสามารถบินต่อไปนิวยอร์คได้ เหตุผลนี้ทำให้โอดิสซีดูจะได้เปรียบกว่ามาก

ทางสายการบินเองยังไม่ได้ประกาศราคาตั๋วว่าจะขายแบบไหน แต่ซีอีโอก็แย้มๆมาว่า “ เราจะไม่ใช่สายการบินโลว์คอสต์ แต่เราจะพยายามไม่ให้ราคาสูงกว่าคู่แข่งขันครับ ดังนั้นราคาตั๋วของเราสามารถแข่งขันในตลาดการบินได้แน่นอน อิอิ” ซีอีโอของโอดิสซี สรุปไว้อย่างมีเลศนัย

แหล่งข่าว : www.cnn.com

ภาพประกอบ : www.crowdcube.com

—————————————————————

ติดตามข่าวสารการบินและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

2 มิถุนายน 2557

ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

แต่ถ้านักดนตรีแบกเครื่องดนตรีของตัวเองขึ้นเครื่องบิน อาจจะรมณ์เสียได้เพราะไม่ทราบกฏ

เรื่องมันเกิดขึ้นกับนายซาชารี่ เดอปุย และนายนิโคลัส เคนดัล นักดนตรีชายสองท่านแห่งวง Time for Three จากเมืองฟิลาเดลเฟีย ขณะที่กำลังเดินขึ้นเครื่องบินของสายการบิน US Airways ของอเมริกา จากสนามบินชาร์ล๊อต เพื่อไปร่วมงานแสดงที่เมืองอาร์คันซอ ลูกเรือของเที่ยวบินนั้นก็ขอตรวจสอบไวโอลินของพวกเขา

“อเมซิ่งมากฮะ กัปตันของเครื่องบินและลูกเรือไม่อนุญาตให้พวกผมขึ้นเครื่อง เค้าไม่ยอมให้ผมเอาเครื่องดนตรีไปกับผมด้วยอ่ะ” นายเคนดัลบ่นอุบ

“เราบอกกัปตันกับลูกเรือของเค้าว่า เราเป็นนักแสดงเดินทางออกทัวร์ และก็บินกับสายการบินนี้มาไม่รู้กี่รอบแล้ว โดยที่ไม่มีปัญหา แล้วรอบนี้ทำไมมีหล่ะ “

นายเคนดัลกล่าวต่ออีกว่า กัปตันไล่พวกเขาลงจากเครื่อง ก็เลยต้องยืนรอบนลานจอดจนเจ้าหน้าที่ของบริษัทมาดูแลและไกล่เกลี่ย

นายเดอปุย อยากคิดแก้เผ็ดแบบเท่ๆ ก็เลยควักเอาไวโอลินออกมาสีเล่นอย่างไพเราะบนลานจอดนั่นแหละ แข่งกับเสียงเครื่องยนต์ที่ดังสนั่นหวั่นไหวในสนามบินชาร์ลอต จนทำให้นายเคนดัลอดใจไม่ไหว ควักมือถือออกมาถ่ายวิดิโอแล้วก็อัพโหลดขึ้นยูทูบมันซะเลย

“จะมีนักดนตรีสักกี่คนต้องเจอกับเรื่อง@#$%$#@ อย่างนี้วะ แม่งเอ๊ยยยย” นายเคนดัลสบถเอาไว้ในยูทูบ
“ ท่านบาคต้องผิดหวังมากๆเลยกับเรื่องนี้ เราไม่ยอมด้วยแหละตัวเอง ต้องสู้ ต้องสู้จึงจะชนะ” นายเดอปุยสำทับเข้าไปอีก แถมยังยกปรมาจารย์ดนตรีคลาสสิคมาสนับสนุนความโกรธซะอีก

แต่นักบินก็ไม่สนอะ รอไปสิ

คุณเคนดัลและคุณเดอปุยกล่าวว่า ตามกฏหมายของ FAA ในปี2012 เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฏหมายและระเบียบเก่าสำหรับการบินให้มีความทันสมัย จะยอมให้ผู้โดยสารนำเอาไวโอลิน กีตาร์ หรือเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆขึ้นเครื่องบินได้ถ้าสามารถเก็บในที่เก็บสัมภาระบนเครื่องหรือใต้ที่นั่งผู้โดยสารเองอย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายหรือกีดขวางทางเดิน เช่นเดียวกับสัมภาระทั่วไปในห้องโดยสาร ตราบใดที่ยังมีพื้นที่เก็บบนเครื่องบินอยู่

ตามข่าว ไม่ได้บอกว่า เที่ยวบินดังกล่าวที่ใช้เครื่องบินลำเล็กขนาด 70ที่นั่งนี้ มีพื้นที่เก็บสัมภาระพอให้เครื่องดนตรีของศิลปินทั้งสองท่านหรือไม่ อย่างไรก็แล้วแต่ โฆษกของสายการบิน US Airways คุณบิล แมคแกลเช่น ได้ออกมาให้ข่าวว่า

“ เราต้องขออภัยท่านทั้งสองสำหรับความล่าช้าในการเดินทางไปออกคอนเสิร์ตของท่านครับ หลังจากต้องตรวจสอบกันที่ข้างเครื่องบินแล้ว พบว่าเครื่องดนตรีของท่านอาจจะพังถ้าบินไปเที่ยวบินนี้ โดยเราต้องยึดถือตามการตัดสินใจของกัปตัน ซึ่งถือตามความปลอดภัยครับผม “ ท่านแมคแกลเซ่น ได้กล่าวเอาไว้อย่างนี้

คุณเดอปุยและคุณเคนดัลได้ถูกบังคับให้ตัดสินใจว่าจะโหลดเครื่องดนตรีใต้ท้องเครื่องหรือจะเปลี่ยนเที่ยวบิน ด้วยความที่กลัวเครื่องดนตรีจะพังถ้าจะโหลดใต้ท้องเครื่อง พวกเขาเลยตัดสินใจเปลี่ยนไฟลท์บินแทน คราวนี้ ไม่มีปัญหา เอาขึ้นเครื่องได้สบายแฮ

“ สายการบินของเราเข้าใจถึงความหงุดหงิดของท่านครับ อย่างไรก็ดี ขออวยพรให้ท่านโชคดีและประสบความสำเร็จในการแสดงของท่านต่อไปครับ “ คุณแมคแกลเซ่น กล่าวปิดสุนทรพจน์แบบเหน็บนิดๆ


แหล่งข่าว : www.cnbc.com
ภาพประกอบ : youtube.com
—————————————————————
ติดตามอ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

ดีเลย์เรื้อรังที่สนามบินในประเทศจีน

ดีเลย์เรื้อรังที่สนามบินในประเทศจีน

เค้าว่ากันว่า ถ้าจะบินในประเทศจีน เผื่อเวลาดีเลย์ไว้เยอะๆเลย

สนามบินหลายแห่งในจีน โดยเฉพาะที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง มีปัญหาการดีเลย์เป็นสถิติสูงมากติดอันดับต้นๆของโลกเลยก็ว่าได้ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มีเพียงแค่18%ของเที่ยวบินขาออกจากปักกิ่งที่ออกได้ตามเวลา โดยที่เซี่ยงไฮ้มีสถิติที่ดีขึ้น สามารถทำสถิติได้ถึง 29%ของเที่ยวบินขาออกที่ไม่ดีเลย์ โดยที่34%ของเที่ยวบินที่ออกจากเซี่ยงไฮ้ ต้องดีเลย์มากกว่า45นาที และมีถึง3%ของเที่ยวบินทั้งหมด ที่ถูกยกเลิกไปเลย ว่ากันว่าในเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนที่ดีเลย์หนักหนาที่สุด คนจีนเลยต้องรับมือโดยการเผื่อเวลาของตนเองให้เยอะขึ้น 

สาเหตุของการดีเลย์จนเป็นปกติอย่างนี้ เนื่องมาจากการควบคุมจราจรทางอากาศที่ระมัดระมังเสียจนเกินเหตุ รวมไปถึงข้อจำกัดการบินสำหรับเครื่องบินพลเรือนมีค่อนข้างมาก 

แต่ยังมีสัญญาณที่ดีขึ้นอยู่บ้าง ในเดือนสุดท้ายของปี 2013 มีถึง43%ของเที่ยวบินที่ออกจากเซี่ยงไฮ้สามารถออกตามเวลาได้ ในขณะที่ปักกิ่งเองก็โชว์ตัวเลขอย่างเป็นทางการแบบไม่น่าเชื่อว่า สามารถทำให้เที่ยวบินออกตามเวลาได้ถึง56%

แหล่งข่าว : www.money.cnn.com

—————————————————————
ติดตามอ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

สถานะการเงินของแจแปนแอร์ไลนส์เริ่มกระเตื้องขึ้น

ตัวแทนของแจแปนแอร์ไลนส์กล่าวว่าการเพิ่มเที่ยวบินของบริษัทที่สนามบินฮาเนดะโตเกียว ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินอย่างน้อยก็เกือบสิบแปดเดือนจากนี้ 

“ เนื่องจากอุปทานที่มากขึ้น แต่อุปสงค์คือความต้องการบินของผู้โดยสารไม่ได้ขยับตาม ณ ปัจจุบันนี้” ประธานสายการบินแจแปนแอร์ไลนส์ คุณมาซารุ โอนิขิ ให้สัมภาษณ์ไว้ที่การประชุมของสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า(IATA) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ 

“เรื่องแบบเดียวกันก็เกิดขึ้นกับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของเราในปีนี้อาจจะยุ่งยากเล็กน้อยครับ” ท่านประธานกล่าว

เที่ยวบินที่มีเกินความต้องการที่สนามบินฮาเนดะ เพื่อสนองความต้องการบินภายในประเทศและเที่ยวบินระยะสั้น เกิดจากการที่ JAL พยายามปรับปรุงฐานะการเงินหลังจากค่อยๆฟื้นจากกระบวนการฟื้นฟูเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลายเมื่อปี 2011 ในขณะนี้สถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้น แต่จะยังคงโฟกัสที่การปรับปรุงกระแสเงินสดและเครดิตเรตติ้งของบริษัท ก่อนจะเริ่มปันผลคืนแก่ผู้ถือหุ้น 

“ เมื่อสถานะการเงินเราเข้มแข็ง เราอาจจะเริ่มปันผลคืนแก่ผู้ถือหุ้น” ท่านประธานใหญ่ของJAL กล่าว

JAL กำลังประเมินการขยายเครือข่าย เมื่อเริ่มรับเครื่องบินแบบ B787 ซึ่งเหมือนกับเปลี่ยนการเดินเกมของบริษัทเลยก็ว่าได้ และบริษัทจะเริ่มพิจารณาความต้องการเครื่องบินไอพ่นและใบพัด ที่มีขนาดเล็กกว่าสำหรับการบินในภูมิภาค และในขณะนี้ JAL มีเครื่องบินเทอร์โบพรอพแบบ Saab AB 340B อยู่แล้วจำนวน 10ลำ


แหล่งข่าว : www.bloomberg.com
ภาพประกอบ : wikipedia.org
—————————————————————
ติดตามอ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com

1 มิถุนายน 2557

เอทิฮัดสยายปีกร่วมทุนกับอาลิตาเลียของอิตาลี




สายการบินเอทิฮัดแอร์เวยส์(Ethihad Airways) กล่าวว่าได้พูดคุยเจรจาเงื่อนไขการลงทุนในสายการบินอาลิตาเลีย(Alitalia) ซึ่งจะเป็นการนำเอาสายการบินสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าไปปูทางลงทุนในเศรษฐกิจหลักของยุโรป
เอทิฮัดจะส่งจดหมายแจ้งเงื่อนไขให้บอร์ดบริหารของอาลิตาเลียทำการอนุมัติก่อนที่จะเปิดการเจรจา โดยที่เอทิฮัดไม่ได้เปิดเผยเงื่อนไขดังกล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

นายเจมส์ โฮแกน(James Hogan) ซีอีโอแห่งเอทิฮัดให้ข้อมูลว่าเอทิฮัดกำลังง่วนอยู่กับการเข้าซื้อหุ้นในสายการบินระดับรองๆในยุโรป โดยการร่วมกลุ่มกับผู้ที่สนใจไปลงทุนในเยอรมัน เซอร์เบีย ซีเชลส์และออสเตรเลีย กลยุทธ์นี้จะช่วยให้มีผุ้โดยสารเดินทางผ่านอาบูดาบีมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเอทิฮัดในการต่อสู้กับสายการบินเพื่อนบ้านอย่างกาตาร์แอร์เวยส์(Qatar Airways)และสายการบินเอมิเรตส์ซึงเป็นผู้นำตลาดอยู่ในปัจจุบันนี้

“เรามั่นใจว่าจะได้ผลตอบรับที่เป็นบวกจากข้อเสนอที่ยื่นให้แก่อาลิตาเลียในครั้งนี้” นายโฮแกนกล่าวไว้ และเสริมอีกว่าหากบรรลุข้อตกลงนี้ มันจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าให้ทั้งเอทิฮัดและอาลิตาเลีย

เอทิฮัดอาจจะลงทุนประมาณ 600ล้านยูโร กับอาลิตาเลียภายใต้แผนการที่จะฟื้นฟูกิจการของอาลิตาเลียซึ่งปัจจุบันนี้ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลีอยู่ ทำให้เอทิฮัดเป็นผุ้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ที่ไม่สามารถทำกำไรได้

เอทิฮัดและอาลิตาเลียให้ข่าวว่าพวกเขาจะจัดเตรียมเอกสารชุดสุดท้ายสำหรับข้อตกลงหลังจากบอร์ดบริหารของอาลิตาเลียตกลงตามที่เอทิฮัดเสนอมา ซีอีโอของอาลิตาเลีย คุณเกเบรียล เดล ตอร์ชิโอ กล่าวว่า การเข้ามาของเอทิฮัดจะช่วยให้อาลิตาเลียมีความมั่นคงมากขึ้น

อาลิตาเลียได้มองหานักลงทุนรายใหม่มาแทนกลุ่ม Air France-KLM ผู้ถือหุ้นของอาลิตาเลียรายใหญ๋สุด ซึงถอนทุนออกไป ที่ผ่านมารัฐบาลอิตาลีได้เข้ามาช่วยเหลือทางการเงินแก่อาลิตาเลียไม่ให้ล้มครืน รวมถึงการบริการส่งไปรษณีย์และพัสดุของอิตาลี

ตลาดการบินในอิตาลีเป็นที่น่าสนใจเพราะฐานประชากรและสภาพที่ตั้งที่เหมาะสม ทางเอมิเรตส์และสายการบินต้นทุนต่ำอย่างอิซี่เจ็ท(Easy Jet)ได้พยายามที่จะเข้ามาร่วมทุนกับอาลิตาเลียเช่นกันในช่วงที่ผ่านมา

สายการบินเอทิฮัด น้องเล็กสุดในบรรดาสายการบินยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง ได้ยืนยันข่าวที่ว่าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้เริ่มต้นพูดคุยกับอาลิตาเลีย และการถือหุ้นครั้งนี้ในอาลิตาเลีย เพิ่มเติมต่อเนื่องจากนโยบายเข้าไปถือหุ้นในสายการบินแอร์เบอร์ลิน(Air Berlin) สายการบินแอร์ซีเชลส์(Air Seychelles) สายการบินแอร์เซอร์เบีย( Air Serbia) รวมไปถึงสายการบินในอินเดีย สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรเลีย

กลยุทธ์ในครั้งนี้แตกต่างจากการปฏิบัติที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งที่ผ่านมาจะพึ่งพิงการร่วมเป็นพันธมิตรอย่างเช่น Oneworld หรือ Star Alliance ในการแชร์เส้นทางบินและผู้โดยสาร 

แหล่งข่าว : www.bloomberg.com
ภาพประกอบ : www.lifeinitaly.com
—————————————————————
ติดตามอ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบินได้ที่ www.nuckbin.blogspot.com